'ขยายตลาดต่างประเทศ' ความท้าทายของ 'ยาคูลท์'

'ขยายตลาดต่างประเทศ' ความท้าทายของ 'ยาคูลท์'

"ขยายตลาดต่างประเทศ" ถือเป็นความท้าทายของ "ยาคูลท์" หลังจาก "ดานอน" บริษัทผลิตอาหารชั้นนำสัญชาติฝรั่งเศส ยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ดำเนินมานาน 20 ปีกับบริษัท

เมื่อ “ยาคูลท์ ฮอนชา” บริษัทผลิตเครื่องดื่มโปรไบโอติก เครื่องดื่มที่มีจุลินทรีย์เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น นมเปรี้ยว และโยเกิร์ต และ "ดานอน" บริษัทผลิตอาหารชั้นนำสัญชาติฝรั่งเศส ยุติความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ดำเนินมานาน 20 ปี ทำให้ยาคูลท์ที่ครั้งหนึ่งเคยกลัวว่าจะถูกดานอนเทคโอเวอร์ ต้องเผชิญปัญหาท้าทายใหม่ ในฐานะเป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการอย่างเป็นอิสระเต็มที่นั่นคือการขยายธุรกิจในต่างประเทศ

ยาคูลท์ ประกาศเมื่อวันพุธ (7 ต.ค.) ว่าดานอนได้ประกาศขายหุ้น 6.61% ที่ถืออยู่ในบริษัท แต่ถึงแม้ดานอนจะขายหุ้นทั้งหมดในยาคูลท์ ทั้งสองบริษัทยังคงร่วมมือกันในการทำตลาดผลิตภัณฑ์โปรไบโอติกในระยะยาวต่อไป รวมทั้งยังร่วมทุนในตลาดเวียดนามและในอินเดีย ทั้งยังส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ในตลาดสหรัฐและในอินเดีย และร่วมทุนจัดสัมนาตลอดจนร่วมกันสนับสนุนงานวิจัยของบรรดานักวิจัยในสหรัฐ

การลงทุนระหว่างดานอนและยาคูลท์เริ่มเปิดฉากขึ้นเมื่อดานอนเข้าถือหุ้น5% ในบริษัทยาคูลท์เมื่อปี 2543 หลังจากบริษัทพบว่าจุลินทรีย์ชิโรต้า( Lactobacillus Casei Shirota Strain) น่าดึงดูดใจและหวังว่าการเป็นพันธมิตรกับยาคูลท์จะช่วยเพิ่มรายได้ให้บริษัท และต่อมาบริษัทสัญชาติฝรั่งเศสเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นจนทำให้เป็นผู้ถือหุ้นชั้นนำของยาคูลท์ด้วยสัดส่วนเกือบ 21%

จุลินทรีย์ชิโรต้า เป็นสายพันธุ์เฉพาะของทางยาคูลท์ ที่ต่างจากแบคทีเรียที่ใช้ในโยเกิร์ต และยาคูลท์ถูกผลิตขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ที่จะให้จุลินทรีย์ชิโรต้า ช่วยรักษาสมดุลของจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งจะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ​

ยาคูลท์ลงทุนในต่างประเทศครั้งแรกในช่วงปี2503 ส่วนใหญ่เป็นตลาดเกิดใหม่ และหลังจากดานอนเข้าถือหุ้นใหญ่ในบริษัท ยาคูลท์ก็ยังคงเดินหน้าขยายธุรกิจในต่างประเทศ และยอดขายในต่างประเทศของยาคูลท์เพิ่มขึ้น40% ในปีงบการเงินซึ่งสิ้นสุดในเดือนมี.ค.ปี 2563 เพิ่มขึ้นจากประมาณ10% ในปีงบการเงินซึ่งสิ้นสุดในเดือนมี.ค.ปี 2544 ส่วนปัจจุบัน ผลกำไรจากการดำเนินงานของยาคูลท์ในต่างประเทศอยู่ที่ 70%

แต่ผู้บริหารคนหนึ่งของยาคูลท์ กล่าวว่า ความร่วมมือกับดานอนแทบไม่ส่งผลใดๆเมื่อดานอนขายหุ้นทั้งหมด เพราะที่ผ่านมา ยาคูลท์ สามารถทำยอดขายในภูมิภาคต่างๆได้อย่างแข็งแกร่งได้ด้วยตัวเอง เช่นเมื่อปีที่แล้ว บริษัททำยอดขายผลิตภัณฑ์โปรไบโอติกในตลาดอินโดนีเซียเฉลี่ยวันละ 6.36 ล้านขวด ส่วนในจีนทำยอดขายได้วันละ 8.12 ล้านขวด

ต่างจากหน่วยงานร่วมทุนกับดานอนในอินเดียที่ทำยอดขายได้เพียงวันละ 238,000 ขวดเมื่อปีที่แล้ว สะท้อนว่าความร่วมมือของยาคูลท์และดานอนในอินเดียไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับในตลาดอื่นๆ

“เราคิดว่าดานอนยังไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญของเราอย่างดีพอ โดยเฉพาะการทำตลาดโดยสาวยาคูลท์ หรือเครือข่ายการจัดจำหน่ายถึงบ้านผู้บริโภคโดยตรงของบริษัท”แหล่งข่าววงใน ซึ่งปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อ ให้ความเห็น

นอกจากนี้ ยังมีกระแสวิตกกังวลว่าหลังจากดานอนขายหุ้นในยาคูลท์แล้ว จะเกิดการแข่งขันกันรุนแรงขึ้นระหว่างดานอนและยาคูลท์เพื่อทำตลาดในกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพ และสำหรับยาคูลท์การเป็นพันธมิตรกันมา20ปีกับดานอนไม่ได้ช่วยให้บริษัทได้ประโยชน์อย่างที่คาดหวังเอาไว้

“เราต้องการทำตลาดผลิตภัณฑ์โปรไบโอติกยี่ห้อยาคูลท์ในจีน ยุโรปและในสหรัฐ ซึ่งบริษัทอาจจะจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทอื่นหลังจากดานอนถอนตัวไปแล้ว”ทากาชิเกะ เนกิชิ ประธานบริษัทยาคูลท์ กล่าว

หลังจากดานอนประกาศขายหุ้นทั้งหมดที่ถือในยาคูลท์ ราคาหุ้นของยาคูลท์ที่ตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ปิดตลาดเมื่อวันพุธ(7ต.ค.)ปรับตัวลง 420 เยน หรือ 7.12% จากราคาปิดเมื่อวันอังคาร(6ต.ค.) โดยปิดที่ราคา 5,480 เยน

แต่ผู้สังเกตุการณ์ในตลาดหุ้นบางส่วนไม่ได้ให้ความสำคัญกับข่าวนี้นัก โดยบอกว่า “ความร่วมมือระหว่างยาคูลท์และดานอน รวมทั้งการขายหุ้นของดานอนแทบไม่ส่งผลใดๆต่อการบริหารจัดการของยาคูลท์ เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ การที่ยาคูลท์จะขยายธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในจีนและในประเทศอื่นๆของเอเชียมากกว่า”ฮิสะยูกิ ชิโมกาวะ นักวิเคราะห์จากทาชิบานา ซิเคียวริตีส์ ในกรุงโตเกียว ให้ความเห็น