"พลังงาน"ยังไร้แผนดึงถ่านหินพ้นพีดีพี

"พลังงาน"ยังไร้แผนดึงถ่านหินพ้นพีดีพี

“สุพัฒนพงษ์” ยัน รัฐส่งเสริมผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ดันบรรลุเป้าหมายลดโลกร้อน หนุนกฟผ.เปิดตลาดธุรกิจซื้อขายใบรับรองเครดิตพลังงานหมุนเวียน(REC) โตโยต้า ประเดิมซื้อรายแรก

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังเป็นประธานในพิธิเปิดงาน “Thailand Clean Energy Network 2020ว่า การที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ได้พัฒนากลไกธุรกิจซื้อขายใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน(REC) จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศมากยิ่งขึ้น และช่วยกระตุ้นให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะสนับสนุนให้ไทยบรรลุเป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20-25% ภายในปี 2573 ตามข้อตกลงปารีส (COP21) ผ่านการส่งเสริมการพลังงานหมุนเวียนของ กระทรวงพลังงาน ให้มีสัดส่วน 30% ของพลังงานไฟฟ้าทั้งประเทศ

การให้บริการรับรอง REC ที่กฟผ.ได้รับสิทธ์จาก The Internation REC Standard (I-REC)จากเนเธอร์แลนด์ ให้เป็นผู้รับรอง REC แต่เพียงผู้เดียวในไทย และมีบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เข้ามาเป็นผู้ซื้อ REC เป็นรายแรก เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและควรส่งเสริมให้เอกชนรายอื่นๆเข้ามาร่วมเพราะนอกจากจะมีรายได้จากการขายไฟแล้ว ยังสามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกก็สามารถขายได้ด้วย

 

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย น่าจะเข้ามาร่วมมือส่งเสริมการซื้อขายเครดิตพลังงานหมุนเวียนให้กว้างขวางขึ้น อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงาน จะเดินหน้าส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ก็เป็นนโยบายสำคัญที่จะนำไปสู่การปลูกพืชหมุนเวียนเข้าสู่ระบบผลิตไฟฟ้า จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่กำหนดให้ผู้เข้าร่วมโครงการจะต้องมีพื้นที่ปลูกพืชใหม่

ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหิน ในอนาคตจะถูกต้องออกไปจาก แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ(พีดีพี) หรือไม่นั้น เรื่องนี้ ยังต้องมองในหลายมิติ เพราะหากต้องการให้ค่าไฟฟ้ามีราคาถูกเพื่อดึงดูดการลงทุนของต่างชาติ เชื้อเพลิงถ่านหินก็ถือว่ามีความสำคัญ เพราะมีต้นทุนต่ำ แต่หากต้องการส่งเสริมเรื่องพลังงานสะอาดและลดภาวะโลกร้อน ก็ต้องส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน แต่ก็จะต้องยอมรับว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าจะสูงขึ้น ก็ต้องไปดูว่าในอนาคตจะวางสมดุลเชื้อเพลิงอย่างไรเพื่อให้ค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า ปัจจุบัน กฟผ.ได้รับสิทธิ์จาก I-REC เพียงผู้เดียวในประเทศไทย คาดว่าจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศมากขึ้น โดยหน่วยการซื้อขาย คือ REC คำนวณ จาก หน่วยไฟฟ้า 1 พันหน่วยเท่ากับ 1 REC เบื้องต้นราคาอยู่ที่ 50 บาทต่อ 1 REC

อย่างไรก็ตาม กฟผ. ได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายผู้ผลิตไฟฟ้า ดำเนินมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคผลิตไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี2562 ที่ผ่านมา กฟผ. และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) สามารถลดก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึง 10.03 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และ การที่ กฟผ. ร่วมกับเอกชนทั้งต่าง เช่น ไอพีพี ,เอสพีพี ผนึกกำลังเป็นเครือข่าย Thailand Clean Energy Network จะส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกในประเทศจะนำไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำต่อไป

นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัท ตกลง ซื้อไฟฟ้า Grid ระบบส่งไฟฟ้า กฟผ. เป็นไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานน้ำ ซื้อทั้งหมด 10,000 REC มูลค่าราว 5 แสนบาทต่อปี คิดเป็น 3.8% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าของบริษัทในไทย ที่มีประมาณ 187,000 หน่วยต่อปี ซึ่ง โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ตั้งเป้าหมาย ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สัดส่วน 80%ของก๊าซเรือนกระจก ให้เป็น 0 ในปี 2593