ปัญหา 'น้ำท่วม' เอเชีย ฉุดเศรษฐกิจชะลอตัวยาว

ปัญหา 'น้ำท่วม' เอเชีย ฉุดเศรษฐกิจชะลอตัวยาว

ปัญหาน้ำท่วมเอเชียฉุดเศรษฐกิจชะลอตัวยาว ขณะผลศึกษาทางวิทยาศาสตร์บอกว่าพื้นที่ที่เคยมีน้ำท่วม จะเจอน้ำท่วมหนักขึ้น ส่วนพื้นที่เจอภัยแล้งก็จะเจอภัยแล้งรุนแรงขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยด้านน้ำจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับน้ำท่วมในภูมิภาคเอเชีย พร้อมตอบคำถามว่าเพราะเหตุใดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศจึงเล่นงานภูมิภาคนี้หนักหนาสาหัสที่สุดเพราะไล่ตั้งแต่จีน อินเดียไปจนถึงเวียดนามล้วนได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอนว่า ปัญหาเหล่านี้ฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย

“มีรูปแบบที่สอดคล้องกันที่บ่งชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในเอเชียจะทำให้เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งขึ้น และฤดูฝนจะมีฝนตกในปริมาณมากขึ้น” โฮเมอโร พัลตัน โลเปซ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยด้านน้ำจากมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าวพร้อมคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ขนาดใหญ่ที่มีช่วงมรสุมตามฤดูกาล ทำให้เกิดฝนตกหนักในช่วงฤดูฝนส่วนช่วงฤดูแล้งจะแล้งยาวนานขึ้น ซึ่งจะทำลายชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนจำนวนมาก

เช่นในกรณีของบังกลาเทศ ที่เมื่อถึงฤดูมรสุมจะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกปีและปีนี้หนักสุด เพราะพื้นที่หนึ่งในสามของประเทศจมอยู่ใต้บาดาล

“ช่วง 2-3 ปีมานี้ บังกลาเทศเกิดน้ำท่วมหนักผิดปกติทำให้เกิดความเสียหายอย่างมากทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สิน และน้ำท่วมครั้งล่าสุดก็บ่งชี้ว่าบังกลาเทศเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมถี่ขึ้น รุนแรงขึ้น ทั้งยังมีการกัดเซาะบริเวณริมฝั่งแม่น้ำในประเทศนี้มากขึ้นในช่วง2-3ปีข้างหน้า”ไกเซอร์ เรฟ ผู้อำนวยการองค์การแคร์ บังกลาเทศ ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม กล่าว

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาค เพราะนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.ก็มีฝนตกอย่างรุนแรงจนทำให้เกิดน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ของเอเชียตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียใต้ ในญี่ปุ่น จีน อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ เนปาล ปากีสถาน มองโกเลีย และอินเดีย ผู้คนหลายล้านคนกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัยและอีกหลายร้อยคนต้องเสียชีวิต

ขณะที่รายงานของแมคคินซีย์ โกลบอล อินสติติวท์ เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา ได้นำเสนอความเสี่ยงในเรื่องนี้ พร้อมทั้งระบุว่า ปัญหาน้ำท่วมจะทำให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจแก่เอเชียมากว่าภูมิภาคอื่น

“ภายในปี 2593 ประมาณ 75% ของหุ้นทั่วโลกจะตกอยู่ในความเสี่ยงจากปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในเอเชีย โดยอินเดียและประเทศที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะได้รับผลกระทบหนักที่สุด” รัสลัน ฟาครุตดินอฟ จากสถาบันแมคคินซีย์ กล่าว

ขณะที่ข้อมูลอีกชิ้นให้ภาพในลักษณะคล้ายกัน โดยผลศึกษาตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์เนเจอร์ คอมมิวนิเคชันส์ เมื่อปีที่แล้ว ประเมินว่าประชาชน 300 ล้านคนที่อาศัยอยู่ในที่ต่างๆที่เกิดน้ำท่วมเพราะปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนมีแนวโน้มสูงที่จะเผชิญน้ำท่วมหนักภายในปี 2593 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในเอเชียที่อยู่ในภาวะเปราะบาง อาทิ จีน อินเดีย บังกลาเทศและเวียดนาม

ส่วนผลศึกษาในเดือนก.ค. ของไซอึนทิฟิก รีพอร์ทส์ พบว่า ขณะที่มีความเสี่ยงมากขึ้นว่าจะเกิดน้ำท่วมรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น และชุมชนริมฝั่งแม่น้ำของทวีปเอเชีย

“ผลศึกษาทางวิทยาศาสตร์ที่มีความแม่นยำมากขึ้นบอกเราว่าพื้นที่ที่เคยมีน้ำท่วม จะเจอน้ำท่วมหนักขึ้น ส่วนพื้นที่เจอภัยแล้งก็จะเจอกับปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงขึ้น” อับฮาส เค.จาห์ จากโครงการบริหารความเสี่ยงด้านหายนะภัยและพื้นที่เขตเมืองในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลก กล่าว

เฉพาะในจีนประเทศเดียว มีการอพยพประชาชน 2.7 ล้านคนและน้ำท่วมส่งผลกระทบต่อประชาชนประมาณ 63 ล้านคนในปี 2563 มีแม่น้ำ 53 สายที่มีระดับสูงขึ้นเกือบเท่าระดับในประวัติศาสตร์และเขื่อนต่างๆในแม่น้ำแยงซีก็เพิ่มสูงขึ้นมากส่งผลให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนักในภาคใต้ของจีนมาตั้งแต่ปี 2504

ส่วนในเอเชียใต้ ประชาชน 17 ล้านคนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมในปีนี้ และคาดการณ์ว่าจะเกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของเอเชียในฤดูกาลนี้ แม้แต่ญี่ปุ่น ซึ่งคุ้นเคยอย่างดีกับหายนะภัยทางธรรมชาติ ก็เผชิญกับสภาพอากาศที่ทั้งรุนแรงและอันตรายเพิ่มขึ้น เมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เกิดฝนตกหนักที่สุดเป็นประวัติการณ์ในเขตคุมาโมโตะ บนเกาะคิวชู ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 65 ราย

ขณะที่ส่วนต่างๆของชิบะ ทางตะวันออกของกรุงโตเกียว เจอพายุไต้ฝุ่นลูกใหญ่เมื่อเดือนก.ย. ปีที่แล้ว ส่งผลให้บ้านเรือนจำนวนกว่า 70,000 หลังได้รับความเสียหายและทำให้ไฟฟ้าถูกตัดขาดนานหลายวัน ทำให้บ้านเรือนหลายหมื่นหลังไม่มีไฟฟ้าใช้

แต่ก็มีตัวแปรที่ไม่เกี่ยวกับสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง เช่น การอพยพย้ายถิ่นและการพัฒนาของพื้นที่เขตเมือง ซึ่งส่งผลกระทบทำให้เกิดน้ำท่วมได้เช่นกัน โดยมีการประเมินว่า ในทุกสัปดาห์จะมีประชาชนประมาณหนึ่งล้านคนอพยพเข้ามาในเขตเมือง ถือเป็นปัญหาใหญ่ และที่เลวร้ายที่สุดคือเป็นการอพยพเข้าไปยังเมืองขนาดเล็กและขนาดกลางที่ความสามารถในการรองรับคนค่อนข้างจำกัด

อีกทั้งการที่เศรษฐกิจในเอเชียเติบโตมานานหลายทศวรรษกระตุ้นให้เกิดการอพยพย้ายถิ่น โดยในรอบ10ปีนับตั้งแต่ปี 2543 เมืองต่างๆในเอเชียมีคนอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 200 ล้านคน โดยประเทศที่มีการเคลื่อนย้ายของประชากรมากที่สุดคือจีน ปากีสถาน อินโดนีเซีย และอินเดียที่ชุมชนเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับคนมากขึ้นตามไปด้วย และโครงการพัฒนาบางแห่งก็รุกล้ำพื้นที่ริมน้ำ ทำให้เกิดการกัดเซาะพื้นที่ริมตลิ่ง เมื่อเมืองขยายตัวมากขึ้น ชาวเอเชียที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำหรือชายฝั่งทะเลก็พลอยมีมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหมายความว่าประชาชนที่อาศัยในเขตน้ำท่วมถึงมีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องนั่นเอง