"อดีตกรธ." ชี้ รธน.60 บอกทำประชามติครั้งเดียว หลัง "รัฐสภา" แก้เนื้อหาเสร็จ

"อดีตกรธ." ชี้ รธน.60 บอกทำประชามติครั้งเดียว หลัง "รัฐสภา" แก้เนื้อหาเสร็จ

ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ยังรอการรับหลักการจากรัฐสภา มีประเด็นเสนอทำประชามติก่อนแก้ไข ล่าสุด อดีตกรธ. ให้ความเห็นในหลักการบอกทำครั้งเดียวหลักรัฐสภาทำร่างแก้ไขเสร็จ

             นายอุดม รัฐอมฤต อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฐานะอดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ต่อประเด็นการพิจารณาในบทของกฎหมาย ว่าด้วยการทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งคณะอนุกรรมการ(กมธ.)พิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย ในกมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนรับหลักการ รัฐสภาเตรียมพิจารณาว่า ความเห็นส่วนตัวมองว่าควรทำประชามติควรทำหลังจากที่รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะตามตัวบทของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 256 กำหนดไว้ว่า หากแก้ไขในเรื่องใดที่กำหนดไว้ให้นำไปทำประชามติสอบถามประชาชนก่อน ทั้งนี้หากกมธ.ฯ​จะพิจารณาว่าควรทำประชามติก่อนแก้ไข และหลังจากแก้ไขแล้วให้นำไปทำประชามติอีก เท่ากับทำประชามติ ถึง 2 ครั้งส่วนตัวมองว่าดูประดักประเดิดเกินไป
             นายอุดม กล่าวด้วยว่าส่วนที่หลายฝ่ายระบุคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติควรให้ทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าควรแก้ไขหรือไม่นั้น ในรายละเอียดเป็นการวินิจฉัยภายใต้กติกาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งไม่มีเนื้อหาและข้อกำหนดบังคับให้ทำประชามติ แต่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขในตัวบท แม้เนื้อหาจะไม่ถึงขั้นตีความอย่างชัดเจนว่าให้ทำประชามติก่อน หรือ หลังแก้ไข แต่ในหลักวิชาการกำหนดไว้ว่าหากแก้ไขเรื่องใหญ่ที่เป็นหัวใจซึ่งกำหนดไว้ในบทบัญญัติให้นำไปทำประชามติสอบถามประชาชนก่อน

             “การแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีข้อถกเถียงว่าเท่ากับรื้อใหญ่รัฐธรรมนูญหรือฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือไม่ ต้องทำประชามติ มองได้มสองมุม แต่มีคำถามสำคัญด้วยว่า หากทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อผลออกมาแล้วรัฐสภาจะยอมรับผลประชามตินั้นหรือไม่ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายฉบับใดกำหนดให้ผลการออกเสียงประชามติผูกผัน หรือมีบทบังคับให้ดำเนินการอย่างใดตามผลการออกเสียงประชามติดังนั้น ความเห็นผมหากให้ประชาชนเป็นผู้มีอำนาจเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้ ควรเป็นเรื่องใหญ่ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในประเด็นสำคัญๆ” นายอุดม กล่าว
              ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าสำหรับประเด็นการพิจารณาข้อกฎหมาย อาทิ การทำประชามติก่อนแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่อนุกมธ.พิจารณาเสนอความเห็นในประเด็นข้อกฎหมาย ซึ่งมีนายวิเชียร ชวลิต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานอนุกมธ.ฯ นั้น ได้นัดประชุม อนุกมธ.ฯ​เป็นครั้งแรก วันที่ 6 ตุลาคม เวลา 09.30 น.  เบื้องต้นคาดว่าที่ประชุมจะหารือในประเด็นสำคัญก่อนที่จะพิจารณาข้อกฎหมายก่อนทำบทสรุปให้กมธ. พิจารณา
               และ ในช่วงบ่าย เวลา 13.30 น. กมธ.พิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก่อนรับหลักการ ที่มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกมธ.ฯ ได้นัดประชุม โดยมีวาระพิจารณารับฟังความเห็นของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ ฐานะอดีตประธานกมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ สภาฯ เข้าประชุม.