BAY เปิดแผนระยะกลางปี 64-66 บุกอาเซียน ดันรายได้ตปท.พุ่งเกิน3%

BAY เปิดแผนระยะกลางปี 64-66 บุกอาเซียน ดันรายได้ตปท.พุ่งเกิน3%

กรุงศรีฯเปิดแผนระยะกลางฉบับใหม่ ที่จะออกใช้ 64-66 เน้นเติบโตอย่างยั่งยืน รับมือกับเมกะเทรนด์ และนิวนอร์มอลใหม่ พร้อมลุยตลาดอาเซียน หนุนรายได้ต่างประเทศเกิน 3%

      นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านกลยุทธ์และวางแผนธุรกิจองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างการทำแผนธุรกิจระยะกลางใหม่ ที่จะออกมาใช้ในช่วงปี 2564-2566 สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

    ภายใต้หลักการดำเนินธุรกิจโดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง สร้างประสบการณ์เหนือระดับและความผูกพันผ่านแผนธุรกิจที่ตอบรับเมกะเทรนด์และวิถีชีวิตผู้บริโภคในยุคนิวนอร์มอล
     ซึ่งแผนระยะกลางฉบับใหม่ที่ออกมา ถือว่าเป็นการต่อยอดจากแผนระยะกลาง 3 ปี ที่จะสิ้นสุดในปีนี้ โดยปัจจุบันการทำแผนธุรกิจระยะ3ปี น่าจะมีความชัดเจนได้ราวต้นปี 2564 จากปัจจุบันที่อยู่ระหว่างการทำแผนไปแล้วราว40%
    โดยแผนการดำเนินงานธุรกิจในระยะข้างหน้า ตามแผนระยะกลางฉบับใหม่ กรุงศรีฯจะเน้นการต่อยอดจากความสำเร็จที่ผ่านมา โดยจะใช้ประโยชน์ด้านข้อมูลที่กรุงศรีมีในฐานะผู้นำตลาดการเงินเพื่อรายย่อย (Consumer Finance) และผู้นำตลาดลูกค้าบริษัทญี่ปุ่นในไทย (Japanese Corporate Market)

      ซึ่งจะใช้ประโยชน์ด้านผลิตภัณฑ์และเครือข่ายระดับโลกของ MUFG ที่ปัจจุบัน มีสาขาครอบคลุมถึง 1,600 แห่ง ใน 8 ประเทศ เพื่อการผสานศักยภาพและความแข็งแกร่งอันเป็นเอกลักษณ์ของกรุงศรี

     โดยคำนึงถึงแนวโน้มแรงขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงระดับโลกหรือเมกะเทรนด์ (Megatrend) และสอดรับกับวิถีการใช้ชีวิตรูปแบบใหม่หรือนิวนอร์มอล (New Normal) ทำให้กรุงศรีมีตำแหน่งทางการตลาดและความสามารถในการแข่งขันที่โดดเด่นทั้งในเวทีระดับประเทศและในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะหนุนให้ ธนาคารเป็นสถาบันการเงินที่ทรงพลังในภูมิภาคอาเซียน หรือ ASEAN Financial Powerhouseในอนาคต
    ปัจจุบัน ธนาคารมีสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศราว 3% ของรายได้รวม โดยคาดว่าจากการปักธงลุยธุรกิจอย่างธนาคารอย่างต่อเนื่อง น่าจะหนุนให้รายได้ในส่วนต่างประเทศปรับตัวเพิ่มกว่า 3% ได้ในระยะข้างหน้า
    สำหรับภาพรวมสาขา และการร่วมทุนกับธุรกิจต่างอาเซียนที่ผ่านมา มีทั้งสาขาที่สปป.ลาว สาขาเวียงจันทน์ และบริษัทเช่าซื้อ สาขากัมพูชา ของ Hattha Kaksekar Ltd. บริษัทไมโครไฟแนนซ์เครือกรุงศรีในกัมพูชาในการยกระดับเป็นธนาคารพาณิชย์ Hattha Bank Plc.

     และสำนักผู้แทนที่ประเทศเมียนมา ส่วนเวียดนามและอินโดนีเซียจะมีพันธมิตรแบงก์ และฟิลิปปินส์จะเป็นลักษณะการร่วมทุน 50% ภายหลังจากธนาคารกรุงศรีอยุธยาได้เข้าซื้อหุ้น 50% ของบริษัท เอสบี ไฟแนนซ์ คอมปานี อิงค์ (SB Finance Company, Inc. หรือ SBF) ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทไฟแนนซ์ในประเทศฟิลิปปินส์ที่มีการเติบโตสูงจากซีเคียวริตี้ แบงก์ คอร์ปอเรชั่น (Security Bank Corporation) หรือ SBC โดยธนาคารจะขยายไปเรื่องของธุรกิจรายย่อย หรือขยาย QR Payment

      ทั้งนี้ ภายใต้ แผนธุรกิจระยะกลางของธนาคารฉบับเก่า (2561-2563)ได้หนุนกรุงศรีฯให้ก้าวสู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงธุรกิจการเงินในยุคดิจิทัลด้วยการผลักดันแผนเชิงยุทธศาสตร์ 4 ด้าน

     คือ การเสริมสร้างประสบการณ์ลูกค้าผ่านกระบวนการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Customer Experience Enhancement) การขับเคลื่อนธุรกิจด้วยศักยภาพด้านข้อมูล (Data-Driven Capabilities) กลยุทธ์ความร่วมมือกับพันธมิตร (Partnership Strategy) และการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ (Overseas Business Expansion)

.   ซึ่งกรุงศรีสามารถดำเนินตามแผนเชิงยุทธศาสตร์สู่เป้าหมายที่วางไว้ได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้ จากการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา สายพันธ์ใหม่หรือ โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งปีแรกและส่งผลต่อเนื่องถึงปัจจุบันต่อเศรษฐกิจมหภาคและภาคอุตสาหกรรมตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคในทุกเซ็กเมนท์

    กรุงศรีจึงได้ดำเนินการเชิงรุกฝ่าวิกฤตโดยปรับกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจในช่วงครึ่งปีหลังที่เน้นย้ำ 3 หลักการคือ
    1. การช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่มอย่างต่อเนื่องทั้งลูกค้าบุคคล ผู้ประกอบการรายย่อยและลูกค้าธุรกิจ ให้สามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปได้ 2. การรักษาคุณภาพสินทรัพย์ให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

     และ 3.การควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ การปรับกลยุทธ์ให้สามารถรับมือกับความท้าทายอย่างทันท่วงทีท่ามกลางวิกฤตแห่งความไม่แน่นอนนี้ ส่งผลให้กรุงศรีสามารถลดผลกระทบด้านการดำเนินงานปฎิบัติการ และสามารถให้ความช่วยเหลือลูกค้าอย่างทั่วถึง