ประชามติรธน. 'หมื่นล้าน' เพื่อใคร?

ประชามติรธน. 'หมื่นล้าน' เพื่อใคร?

วุฒิสภากำลังยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการเล่นกับกระแสสังคมที่ต้องการแก้ปัญหาปากท้องก่อนการแก้ปัญหาการเมือง

ถึงจะเพิ่งประชุมคณะกรรมาธิการรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 6 ฉบับก่อนรับหลักการ เป็นนัดแรกแต่ก็เป็นนัดแรกที่เต็มไปด้วยความดุเดือดไม่น้อย โดยเฉพาะท่าทีของส.ว.ที่่ต้องการให้มีการทำประชามติสอบถามความคิดเห็นของประชาชนก่อนสภาจะพิจารณาในวาระที่ 1 ด้วยการอ้างคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22/2555 โดยคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญมีสาระสำคัญพอสังเขป ดังนี้ 

"สำหรับประเทศไทยเป็นประเทศปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นประเทศที่ใช้ระบบประมวลกฎหมายยึดหลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญจะต้องกำหนดวิธีการหรือกระบวนการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญไว้เป็นพิเศษแตกต่างจากกฎหมายทั่วไป การตรารัฐธรรมนูญ 2550 เป็นกระบวนการที่ได้ผ่านการลงประชามติของผู้ใช้อำนาจอธิปไตย คือ ประชาชนโดยตรง ประชาชนจึงเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้"

"ดังนั้นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามมาตรา 291 แม้จะเป็นอำนาจของรัฐสภาก็ตาม แต่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันนี้ได้มาโดยการลงประชามติของประชาชน ก็ควรที่จะให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าสมควรจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือรัฐสภาจะใช้อำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ก็เป็นความเหมาะสมและเป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะดำเนินการดังกล่าวนี้ได้ ซึ่งจะเป็นการสอดคล้องกับเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญมาตรา 291"

การอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญของส.ว. เป็นการอ้างที่ไม่ถูกและไม่ผิดเสียทีเดียว แน่นอนว่าในเชิงหลักการควรจะต้องมีการทำประชามติเพื่อฟังเสียงประชาชน ซึ่งปัจจุบันรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 ก็ได้รับรองหลักการที่ว่านี้ไว้แล้วด้วยการให้ทำประชามติภายหลังร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านรัฐสภา ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้จุดบอดของรัฐธรรมนูญ2550 ดังนั้น การชักแม่น้ำทั้ง 5 ของส.ว.จึงมีแอบแฝงด้วยนัยทางการเมืองมากกว่าจะให้น้ำหนักในทางวิชาการ

ทั้งนี้ หากใช้แนวทางของส.ว.เท่ากับว่าจะเกิดการทำประชามติอย่างน้อยสองครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 การทำประชามติก่อนสภารับหลักการและครั้งที่ 2 ภายหลังรัฐสภาให้ความเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เพียงเท่านี้ อาจมีครั้งที่ 3 หากมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากสภาร่างรัฐธรรมนูญและรัฐสภา

การทำประชามติครั้งหนึ่งนั้นต้องใช้งบประมาณราว 4000-5000 ล้านบาท ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เคยบอกต่อสาธารณะ พูดง่ายๆหากทำประชามติสองครั้งรัฐบาลต้องเตรียมงบประมณ 1 หมื่นล้านบาท หรืออาจจะแตะ 15,000 ล้านบาทหากมีการทำประชามติถึงสามครั้ง

ตัวเลขงบประมาณกว่าหมื่นล้านบาทที่ออกมานั้นแน่นอนว่ากระแสส่วนใหญ่ย่อมไม่เห็นด้วย เพราะควรเอาเงินจำนวนนี้ไปแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจมากกว่าปัญหาการเมือง ส.ว.มองเกมออกมาว่าถ้าเล่นกับกระแสทำนองนี้ โอกาสที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะถูกลากออกไปย่อมมีความเป็นไปได้มากขึ้น ยิ่งทำให้ส.ว.มีสถานะทางการเมืองที่มั่นคงมากขึ้น

ทั้งนี้ ต้องบอกว่าท่าทีของส.ว.ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนและหลังวันที่ 19 ก.ย. เปลี่ยนเป็นหน้ามือเป็นหลังมือ โดยก่อนจะเกิดการชุมนุม 19 ก.ย. บรรดาส.ว.หลายคนต่างมีท่าทีอ่อนลงและยอมให้มีการแก้ไข แต่ทันทีที่ภาพของการชุมนุมเป็นไปในทางลบและไม่ได้สร้างพลังกดดันทางการเมืองมากนัก ทำให้ส.ว.เริ่มกลับมาแข็งกร้าวในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากขึ้น จนเป็นที่มาของการกล้าเสนอให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญก่อนเข้าสภา

ดังนั้น การเดินเกมของส.ว.จึงไม่ต่างอะไรกับการเขียนภาพเพื่อให้ประชาชนเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่มีความจำเป็นในเวลานี้ โดยมีเป้าประสงค์แอบแฝงเพื่ออยู่ในอำนาจต่อไป