'สตรี' กับ 'การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน'

'สตรี' กับ 'การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน'

กระทรวงการต่างประเทศได้จัดกิจกรรมเสวนาหัวข้อ “สตรีกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ต่อบทบาทและความสำคัญของผู้หญิงในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมอันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ

ท่านผู้อ่านคงคุ้นเคยกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals หลักที่ 5 (บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคน) ซึ่งในระหว่างที่ประเทศไทยมีความพยายามและผลักดันการบรรลุเป้าหมายนี้ ได้มีการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความรับรู้ภายในประเทศอยู่เป็นประจำ

เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 กระทรวงการต่างประเทศได้จัดกิจกรรมเสวนาหัวข้อ “สตรีกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ต่อบทบาทและความสำคัญของผู้หญิงในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมอันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ และเป็นเวทีถกแถลงถึงอุปสรรคและแนวทางในการปลดล็อกเงื่อนไขที่กีดกันไม่ให้ผู้หญิงสามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่

ผู้เสวนาในกิจกรรมนี้ ประกอบด้วยสตรีจากหลากหลายวงการ ได้แก่ นางสิรินยา เบอร์บริดจ์ บิชอพ นางแบบชื่อดังและนักรณรงค์ด้านสิทธิสตรีและการต่อต้านความรุนแรงต่อสตรี นางสาว ธณิกานต์ พรพงษาโรจน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประธานคณะกรรมการนโยบายสตรี นาวาโทหญิง ญาดา เทียมทิพย์ เจ้าหน้าที่ทหารหญิงที่เคยร่วมปฏิบัติภารกิจรักษาสันติภาพขององค์การสหประชาชาติ นางสาวอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานกรรมการบริหาร บริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด และนางวิศัลย์สิริ ตันตระกูล ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพฯ

พร้อมกันนี้ มีนางสาวธันยชนก มูลนิลตา Miss Thailand World ปี2558 ซึ่งได้รับคัดเลือกให้เป็น Friend of UNDP คนแรกของประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ ผู้เข้าร่วมงานประกอบด้วยประชาชนทั่วไป ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานสหประชาชาติที่เกี่ยวข้อง และมีผู้รับฟังการเสวนาผ่านช่องทางออนไลน์ Facebook live ของวิทยุสราญรมย์อีกกว่า 6,000 คน

ทั้งนี้ กิจกรรมเสวนาดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมความตระหนักรู้ต่อบทบาทและความสำคัญของผู้หญิงในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมอันนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติ รวมถึงเป็นการเปิดเวทีเพื่อถกแถลงถึงอุปสรรคและแนวทางในการปลดล็อกเงื่อนไขที่กีดกันไม่ให้ผู้หญิงสามารถแสดงศักยภาพของผู้หญิงออกมา ได้อย่างเต็มที่

ในช่วงการเสวนา ผู้เสวนาเห็นร่วมกันว่า ผู้หญิงเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญในการสร้าง ความเปลี่ยนแปลงและส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เนื่องจากประชากรโลกประมาณ 50% เป็นประชากรเพศหญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบรรลุเป้าหมายหลักที่ 5 ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในภาพรวม การส่งเสริมศักยภาพของสตรีเป็นเรื่องของเจตคติ และการสร้างความตระหนักรู้ของสังคมในภาพรวม ทั้งหญิงและชาย ตลอดจนในบริบทของครอบครัวและที่ทำงาน

นี่เป็นการสะท้อนว่า ภาครัฐก็มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนวาระเรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศและการเสริมสร้างพลังสตรีให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมและให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมความก้าวหน้าของสตรีและความเท่าเทียมระหว่างเพศ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง