'อุดม' ลั่น ไม่ขอร่วมยกร่าง รธน.ฉบับใหม่

'อุดม' ลั่น ไม่ขอร่วมยกร่าง รธน.ฉบับใหม่

"อุดม" ประกาศไม่ขอร่วมยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ แจงที่ให้มีเสียง ส.ว. ร่วมโหวตแก้ รธน. มาจากปัญหาในอดีต ที่มีความพยายามใช้เสียงข้างมากแก้ รธน. รับ ยกร่างเองก็ไม่ได้ดั่งใจทั้งหมด เพราะต้องรับฟังความเห็นทุกภาคส่วน แนะ "ส.ส.ร." ควรมีผู้เชี่ยวชาญมายกร่างด้วย

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 63 นายอุดม รัฐอมฤต อดีตโฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่จะมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ง่ายขึ้น ว่า เป็นเรื่องปกติที่ต้องกำหนดให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกติกาหลักของประเทศทำได้ยาก และเป็นเหมือนกันทั่วโลก และที่ยกร่างกำหนดให้ต้องมีเสียง ส.ว.ในการลงมติ ก็มาจากปัญหาในอดีต ที่มีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยใช้เสียงข้างมากในสภาฯ เพียงอย่างเดียว จนทำให้เกิดความปั่นป่วน ประท้วงกัน จึงเห็นว่าเพื่อความสมานฉันท์ จึงควรมีเสียงของ ส.ว.เข้าไปมีส่วนร่วมในการลงมติ

นายอุดม กล่าวว่า เท่าที่ฟังเหตุผลที่เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และมีให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็เพราะต้องการให้ได้รัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชน ส่วนตัวเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรต้องแก้ไขให้สอดคล้องกัน เพราะมีหลายมาตราเกี่ยวโยงกัน อย่างไรก็ตาม การที่มี ส.ส.ร.จากประชาชนมายกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่ารัฐธรรมนูญจะมีความมั่นคง เห็นได้จากรัฐธรรมนูญ ปี 40 และ 50 เพราะในความเป็นจริง คนที่มายกร่าง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้ดังใจที่ตัวเองอยากได้ทั้งหมด ท้ายที่สุดก็ต้องรับฟังคนอื่น

“ผมเป็นคนหนึ่งที่ขอประกาศเลย ว่าจะไม่ขอกลับเข้ามาร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ยิ่งในสภาพที่การเมืองเป็นแบบนี้ มีความเห็นแตกต่างหลากหลาย การยกร่างรัฐธรรมนูญลำบากมาก ผมไม่เอาแน่นอน เพราะที่เราร่างมา เราก็มีความรู้สึกว่าเรามีส่วนได้ส่วนเสีย ดังนั้น เวลาจะร่างใหม่บนพื้นฐานของคนที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายเดิม แล้วจะมาบอกว่าให้คนที่เคยร่างเดิมมายกร่าง มันจะเป็นไปได้อย่างไร” นายอุดม กล่าว

นอกจากนี้ นายอุดม ยังเห็นว่า หากจะมี ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ก็จะเป็นความยุ่งยากของสังคมอีกครั้งหนึ่ง เพราะจะมีความคิดที่หลากหลาย หาข้อสรุปได้ยาก และเห็นว่าใน ส.ส.ร.ชุดใหม่ ควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และรู้เทคนิคการเขียน กฎหมายเข้ามามีส่วนร่วม