อุตสาหกรรมพ้นจุดต่ำสุด สศอ.มั่นใจปี 64 ฟื้นตัว

อุตสาหกรรมพ้นจุดต่ำสุด  สศอ.มั่นใจปี 64 ฟื้นตัว

สศอ.ประเมินภาคอุตสาหกรรมพ้นจุดต่ำสุดแล้ว มั่นใจปี 2564 ฟื้นตัว หลังดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมดีขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.ค.2563 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ 3.12% โดยขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 รวมถึงอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ก.ค.ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนอยู่ที่ระดับ 56.01% จากเดิมที่ 55.07%

ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือน ก.ค.2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.69% โดยยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกต้องชะลอตัว แต่เป็นการหดตัวที่ลดลงจากเดือนก่อน 

ส่วนการใช้กำลังการผลิตในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 56.01% เป็นการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3 เดือน แต่ถ้าเทียบกับอัตราการใช้กำลังการผลิตรายเดือนในปีนี้ยังต่ำกว่าระดับสูงสุดในเดือน มี.ค.2563 ที่การใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 67.78% ซึ่งเป็นช่วงที่การระบาดของโคโควิด-19 ในประเทศไทยเริ่มขยายวงกว้าง ทำให้หลังจากนั้นการใช้อัตราการกำลังการผลิตลดลงมาอยู่จุดต่ำสุดในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ระดับ 51.27%

สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้ว และกำลังทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติในช่วงก่อนโควิด-19 ภายใต้เงื่อนไขว่าประเทศไทยจะไม่มีการระบาดของโควิด-19 รอบที่ 2

สอดคล้องกันกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ทยอยฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับปกติ ส่งผลให้เกิดการขยายตัวเพิ่มขึ้นในบางอุตสาหกรรมที่สามารถตอบสนองต่อผู้บริโภคได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาล) หลายตัวยังคงขยายตัวดี เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรมยารักษาโรคที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน

ขณะที่สถานการณ์ต่างประเทศที่มีทั้งการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศจีนได้ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกต้องชะงักลง อุตสาหกรรมบางประเภทต้องขาดชิ้นส่วนการผลิต เกิดปัญหาทางด้านการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบจากฐานการผลิตในต่างประเทศ เช่น จีน ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องย้ายฐานการผลิตออกเพื่อกระจายความเสี่ยง 

ทั้งนี้ นับเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะได้รับผลอานิสงส์ โดยที่ประเทศไทยมีจุดแข็งทางด้านของแรงงานฝีมือและการควบคุมโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ดี สอดรับกับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่มุ่งพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายให้สามารถรองรับอุตสาหกรรมที่จะย้ายเข้ามาใหม่ได้ รวมถึงการผลักดันเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) การเตรียมความพร้อมในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่สามารถรองรับการย้ายฐานการผลิตของนักลงทุนต่างชาติได้ทันที

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมไทยค่อยๆ ฟื้นตัวหลังจากที่ภาครัฐมีการคลายล็อกกิจกรรมและกิจการบางประเภทให้สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเปิดดำเนินการแล้วเกือบทั้งหมด โดยเมื่อพิจารณาดัชนีการส่งสินค้าและดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมพบว่ามีทิศทางเป็นไปตามสถานการณ์การผลิตที่ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า และมีแนวโน้มติดลบน้อยลงเรื่อยๆ 

อย่างไรก็ตามในบางอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะการหยุดผลิตในประเทศที่มีการแพร่ระบาดโควิด-19 จึงเปลี่ยนคำสั่งซื้อมายังไทย ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มปรับแผนการผลิตโดยให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยง จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้รับผลประโยชน์หลังจากที่ประเทศไทยมีการควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ได้ดี

“จากการที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องในรอบ 3 เดือน และการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวแล้ว และคาดว่าในช่สงต้นปีถึงกลางปีหน้าภาคอุตสาหกรรมจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ”

ทั้งนี้ เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมกำลังฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมหลักมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการ อาทิ อุตสาหกรรมอาหาร (หักน้ำตาล) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.70% อุตสาหกรรม เคมีภัณฑ์ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.70% 

ในขณะที่อุตสาหกรรมหลักอื่น ๆ ได้เริ่มกลับมาเพิ่มกำลังการผลิตอีกครั้ง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายนที่ 24.50% โดยตลาดในประเทศขยายตัว 2.30% หลังผู้ประกอบการเริ่มกลับมาเปิดสายการผลิตครบทุกค่ายรถแล้ว รวมทั้งมีการทำกิจกรรมกระตุ้นตลาดในประเทศ ประกอบรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์

ส่วนอุตสาหกรรมหลักที่ยังคงขยายตัวดีในเดือน ก.ค.นี้ ได้แก่ 

เบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 24.96% เนื่องจากผู้ประกอบการได้เร่งผลิตเพื่อชดเชยในช่วงล็อกดาวน์ที่ไม่สามารถผลิตได้อย่างเต็มที่ รวมถึงได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นหลังกิจการร้านค้า ร้านอาหารและสถานบันเทิงกลับมาเปิดกิจการได้อีกครั้ง 

ปุ๋ยเคมี ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 48.23% โดยในปีก่อนได้เกิดภัยแล้ง ส่งผลให้มีความต้องการใช้น้อย ในขณะที่ปีนี้ฝนตกต่อเนื่องในหลายพื้นที่ เกษตรกรสามารถเพาะปลูกข้าวได้ตามปกติจึงมีความต้องการใช้เพิ่มขึ้น

อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.68% จากผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงและอาหารปลาเป็นหลัก เนื่องจากความต้องการมีการเติบโตขึ้นต่อเนื่อง

เครื่องใช้ในครัวเรือน ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19% จากผลิตภัณฑ์ตู้เย็น เตาอบไมโครเวฟ และกระติกน้ำร้อน เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้นและให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้มากขึ้น รวมถึงการส่งออกที่เพิ่มขึ้นหลังจากคลายล็อกดาวน์ในประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศในภูมิภาคเอเชียอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐ 

น้ำมันปาล์ม ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 14.53% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและบริสุทธิ์ เนื่องจากสภาพอากาศฝนตกต่อเนื่องส่งผลให้ปาล์มน้ำมันมีเปอร์เซ็นต์ดีและสกัดน้ำมันได้ปริมาณเพิ่มขึ้น รวมถึงความต้องการใช้น้ำมัน (ไบโอดีเซล) และการใช้น้ำมันปาล์มสำหรับการบริโภคมีเพิ่มขึ้น