'หนุ่มสาวทัวร์' เฟ้นกลยุทธ์ ประคองรายได้ ฝ่าโควิด

'หนุ่มสาวทัวร์' เฟ้นกลยุทธ์  ประคองรายได้ ฝ่าโควิด

“หนุ่มสาวทัวร์” หนึ่งในบริษัทท่องเที่ยวชื่อดังของไทย ฝ่าวิกฤติมากมายมาตลอด 4 ทศวรรษ แต่วิกฤติโควิด-19 นั้นหนักหนาสาหัส

ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในเครือทั้งบริษัททัวร์ โรงแรม รถบัสนำเที่ยว และแคมปิงต้องปิดให้บริการชั่วคราว 3 เดือนตั้งแต่เดือน เม.ย.-มิ.ย.ที่ผ่านมา ล่าสุดกลับมาให้บริการได้อีกครั้ง ยกเว้นธุรกิจศึกษาต่อต่างประเทศที่ยังปิดแบบไม่มีกำหนด

โชติช่วง ศูรางกูร รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท หนุ่มสาวทัวร์ จำกัด ฉายภาพว่า บริษัทฯต้องปรับตัวครั้งใหญ่ทั้งในแง่การลดต้นทุนและการเฟ้นกลยุทธ์ขายเพื่อดึงรายได้กลับคืน เมื่อดูเฉพาะธุรกิจบริษัททัวร์ พบว่าพิษโควิดเล่นงานเศรษฐกิจไทยอย่างหนัก รายได้ของหลายๆ องค์กรลดลง บ้างต้องเลิกจ้างคน ส่งผลให้ลูกค้าองค์กรใหญ่ต้อง “ตัดงบฯ” ลดจำนวนคนและจำนวนทริปท่องเที่ยวเพื่อประหยัดต้นทุน แม้จะยังพอมีการจัดทริปท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (อินเซนทีฟทัวร์) อยู่บ้าง แต่ก็หายไปกว่า 90%

“ภาพรวมธุรกิจทัวร์ของบริษัทฯ ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมาถึงปัจจุบันหายไปถึง 95%เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เพราะบริการทัวร์ไม่ใช่ Must Have แต่เป็นแค่ Nice to Have อย่างไรก็ตามลูกค้าองค์กรเริ่มกลับมาเดินทางในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ ถือว่าเร็วขึ้นจากเดิมจะเริ่มเดินทางกันในปี 2564 และคาดว่าตั้งแต่กลางเดือน ส.ค.นี้จะเห็นสัญญาณการจองทัวร์ที่ดีขึ้น”

เมื่อวิกฤติโควิดเข้ามาดิสรัปภาคท่องเที่ยว ส่งผลให้รูปแบบการเดินทางเปลี่ยนไป บริษัทฯจึงได้เร่งทำแพลตฟอร์มNS Connect” เร็วกว่ากำหนดตามแผนเดิม ประกอบด้วยฟังก์ชันให้ข้อมูลโปรแกรมเดินทาง ข้อความนัดหมาย พยากรณ์อากาศ แชร์รูปภาพระหว่างทริป และแบบสอบถาม ตอบโจทย์เรื่องการให้ไกด์ไลน์ป้องกันโควิด และรักษาระยะห่างระหว่างผู้ใช้บริการในคราวเดียว

“มองอีกมุม โควิดก็เป็นวิกฤติที่ให้บทเรียนมากมายและทำให้เราได้ย้อนดูตัวเอง เป็นตัวเร่งให้ปรับปรุงระบบงานหลังบ้านเร็วขึ้น ลบข้ออ้างต่างๆ และนำเทคโนโลยีมาใช้งานเพื่อรองรับพฤติกรรมการเดินทางที่เปลี่ยนไป”

นอกจากนี้ยัง“ปรับตัว” ด้วยการรุกขายแพ็คเกจทัวร์ในประเทศมากขึ้น ผ่านบริษัท อีซี่ เวเคชั่น ซึ่งเป็นโฮลเซลล์หรือค้าส่งทัวร์ในเครือ จากช่วงต้นปีมีเอเย่นต์ทัวร์รายอื่นร่วมขายเกือบ 200 ราย แต่พอเจอวิกฤติโควิด กระโดดเป็น 470 กว่ารายมาช่วยขายแพ็คเกจทัวร์ เนื่องจากเอเย่นต์ทัวร์เหล่านี้เคยทำตลาดพานักท่องเที่ยวไปต่างประเทศหรือทัวร์เอาต์บาวด์กันหมด พอไปต่างประเทศไม่ได้ ก็ต้องหันมาขายแพ็คเกจทัวร์ในประเทศแทน

“อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าถ้าได้แค่ตลาดทัวร์ในประเทศไม่พอกิน ไม่พอกับต้นทุนที่สูงมาก เพราะเหลือแค่ลูกค้าที่เดินทางเป็นกลุ่มเล็ก สิ่งที่ทำได้คือต้องประคองธุรกิจไปเรื่อยๆ และถ้าสมมติว่าวิกฤติโควิดลากยาวจริงๆ แล้วภายในไตรมาส 4 ปีนี้ยังไม่เห็นยอดจองกรุ๊ปทัวร์เข้ามา สถานการณ์ธุรกิจทัวร์ก็ค่อนข้างน่าเป็นห่วง”

โดยในช่วงที่ผ่านมาเห็นภาพการปรับตัวของบริษัททัวร์หลายๆ ราย เมื่อไม่สามารถขายสินค้าท่องเที่ยวได้ เพราะดีมานด์หดตัวอย่างรุนแรง จึงหันมาขายทุกอย่าง ทั้งอาหาร น้ำพริก รวมถึงขายแอลกอฮอล์เจล และหน้ากากอนามัย นี่คือ “ธรรมชาติ” ของบริษัททัวร์ที่ไม่มีสินค้าเป็นของตัวเอง ต้องสรรหาของมาขายต่อ

อีกส่วนที่น่าหนักใจคือกำลังซื้อด้านท่องเที่ยวของคนทั่วโลกนับจากนี้ เพราะคาดว่าน่าจะต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 2 ปีกว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นจากโควิด ส่งผลให้บริษัทฯต้องปรับตัวด้วยการหาสินค้าท่องเที่ยวที่เป็นลักชัวรี ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวกลุ่มไฮเอนด์ที่ไม่ได้รับผลกระทบด้านกำลังซื้อ

โชติช่วง เล่าเพิ่มเติมว่า ด้านธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตในเครือ “เซเรนาต้า”ของบริษัทฯ ปัจจุบันมีทั้งหมด 20 แห่งพบว่าลูกค้าหายไปไม่ค่อยมากเมื่อเทียบกับธุรกิจทัวร์ จุดหมายที่ได้รับความนิยมหลังคลายล็อคดาวน์คือกาญจนบุรี ซึ่งมีอยู่ 5 แห่ง เพราะคนกล้าขับรถไปเที่ยวมากขึ้น อัตราเข้าพักเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมาจึงร้อนแรงสูงถึง 95%ราคาที่พัก เช่น โฟลต เฮาส์ ริเวอร์ แคว ขายได้ราคาสูงถึง 5,500-7,500 บาทต่อคืน ขณะที่หัวหินซึ่งมีอยู่ 2 แห่ง อัตราเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 40-50%เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ยังนิยมเข้าพักช่วงสุดสัปดาห์มากกว่า

ส่วนโรงแรมในภาคอื่นๆ เช่น ภาคเหนือ ที่เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และ อ.ปาย แม่ฮ่องสอน ยังปิดให้บริการชั่วคราว ยกเว้นในสุโขทัยที่เปิดให้บริการแล้ว ฟากโรงแรมในภาคตะวันออก บนเกาะช้างค่อนข้างเงียบเหงา ส่วนสมุยเริ่มดีขึ้น

ด้านโรงแรมในภาคใต้ ปีที่แล้วเพิ่งเปิดรีสอร์ตใหม่ 2 แห่งบนเกาะยาวน้อย คือพาราไดซ์ และทรีเฮาส์ ปกติมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 95%ของลูกค้าทั้งหมด แต่พอเจอโควิด ทำให้ต้องออกโปรโมชั่นราคาพิเศษเพื่อดึงนักท่องเที่ยวคนไทยและ “เรียกกระแสเงินสด” ขายเป็นแพ็คเกจ 3 วัน 2 คืน ราคาห้องพักของพาราไดซ์เริ่มต้นที่ 8,900 บาท ลดลงเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับราคาเดิม 23,500 บาท ส่วนราคาห้องพักของทรีเฮาส์ แพ็คเกจ 3 วัน 2 คืน ราคาเริ่มต้น 18,000 บาท ลดลง 2 เท่าจากปกติขายราคาดังกล่าวแบบต่อคืน เหมือน 1 แถม 1 พบว่าได้รับผลตอบรับค่อนข้างดี ดึงคนไทยซื้อบัตรกำนัลห้องพักได้จำนวนมาก เพราะกำหนดเงื่อนไขว่าสามารถเข้าพักได้ยาวถึงเดือน ต.ค.2564

“ความท้าทายของธุรกิจโรงแรมคือต้องปรับตัวรุกขายตลาดนักท่องเที่ยวไทยมากขึ้น เพราะจากเดิมลูกค้าส่วนใหญ่ของโรงแรมในเครือเซเรนาต้าจะเป็นชาวยุโรปและสหรัฐ ด้วยการดึงเอเย่นต์เข้ามาช่วยขายแบบราคาเดียวและมีบริการแถม เช่น สปาอบสมุนไพร และอื่นๆ เป็นการจูงใจ”