กสอ. เดินหน้าหม่บ้านซีไอวีเพิ่มรายได้ชุมชน
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม นำร่อง ปั้น ปรุง เปลี่ยน บ้านนาต้นจั่น เป็นหมู่บ้านหมู่บ้าน CIV 5 ดาว พร้อมสั่งการศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 สนับสนุนเทคโนโลยีเครื่องจักรกลพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตั้งเป้าสร้างอาชีพกว่า 1,000 ราย และเพิ่มรายได้ให้ชุมชนกว่า 50 ล้านบาท
นายธีระยุทธ วานิชชัง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากนโยบายของนายกรัฐมนตรี ในการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก กระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้เร่งเข้าไปพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ประกอบกับปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่ทั่วโลกจับตามอง ถือเป็นโอกาสสำคัญในการยกระดับชุมชนเพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
โดยการเชื่อมโยงกับอาชีพในชุมชน ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมที่ต้องได้รับการพัฒนาต่อยอดให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น ทั้งในเชิงการแข่งขันและการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อยกระดับให้เป็นหมู่บ้าน CIV 5 ดาว ซึ่งจะสามารถสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศตามแนวนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับ เศรษฐกิจฐานราก นำร่องที่ บ้านนาต้นจั่น ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เพื่อเป็นต้นแบบในการขยายผลไปสู่ชุมชนอื่น ๆ
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้พัฒนาแนวทางการส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับบ้านนาต้นจั่น ขานรับนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อการขยายผลที่มีคุณภาพ เพื่อการนำไปปรับในกับวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ ให้มีความพร้อมเพื่อรองรับดีมานด์จากนักท่องเที่ยวชาวไทย ขานรับโครงการเราเที่ยวด้วยกันของรัฐบาล อีกทั้งยังถือเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ภายหลังการปลดล็อกมาตรการต่างๆ
สำหรับ การพัฒนาไปสู่หมู่บ้าน CIV 5 ดาว สามารถดำเนินการโดยใช้ 3 วิธีดีพร้อม ประกอบด้วย 1. สร้างคนที่ดีพร้อม โดยการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อการพัฒนาตนเอง การบริหารจัดการรายรับรายจ่ายทั้งส่วนบุคคลและครัวเรือนเพื่อเสริมสร้างวินัยและความเข้มแข็งทางการเงิน การฝึกฝนอาชีพตามทักษะที่แต่ละคนมีความเชี่ยวชาญ เพื่อสร้างการมีงานทำในภูมิลำเนา และ การเสริมทักษะการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเป็นเจ้าของกิจการ
2. สร้างการผลิตที่ดีพร้อม โดยการสร้างพื้นฐานความรู้ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยในการผลิต รวมทั้งเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องและทันสมัย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต อีกทั้งยังสามารถวยให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภากมากยิ่งขึ้น และ3. สร้างการท่องเที่ยวชุมชนที่ดีพร้อม โดยการสร้างเรื่องราวให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อการเพิ่มมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งการเสริมสร้างทักษะการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว และการชูอัตลักษณ์ของชุมชนเพื่อให้เป็นหลักในการสื่อสาร ทั้งในเชิงการสร้างการรับรู้ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ส่วน การสร้างคนที่ดีพร้อมและการสร้างการผลิตที่ดีพร้อม ได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ดำเนินการดูแลทั้งในเชิงการถ่ายทอดความรู้ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการสนับสนุนเครื่องจักรกลเพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิต ซึ่งบ้านนาต้นจั่น ได้รับการสนับสนุนอุปกรณ์การตัดเย็บจักรอุตสาหกรรมกี่ทอผ้าพื้นเมืองพร้อมอุปกรณ์ รวมถึงพัฒนาทักษะการผลิต การออกแบบลายผ้า การทำบ่อบำบัดน้ำเสียการย้อมผ้า
นอกจากนี้ ยังการสร้างความเข้มแข็งในการบริหารจัดการชุมชนโดยระบบมาตรฐานบริหารจัดการ เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตของชุมชนและในอนาคต ขณะเดียวกัน กสอ. ยังมีแนวทางในการดึงเอาศูนย์ ITC 4.0 ไปเชื่อมโยงกับชุมชนดังกล่าว ด้วยการให้ชุมชนนำผลผลิตทางการเกษตรในชุมชน หรือผลไม้ในท้องถิ่นมาทำการแปรรูป โดยการนำมาทดสอบ ทดลอง และใช้เครื่องจักรของศูนย์ ITC 4.0
ขณะที่ การสร้างการท่องเที่ยวชุมชนที่ดีพร้อม กสอ. ได้ร่วมมือกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เพื่อใช้เป็นพื้นที่ชุมชนเป็นห้องเรียน สำหรับการเรียนรู้อัตลักษณ์ชุมชน ซึ่งจะทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากสถานการณ์จริงและมีโอกาสใช้ความรู้ ความสามารถ แก้ไขปัญหาและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ชุมชน โดยการร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาธุรกิจตามความต้องการของชุมชนในด้านต่าง ๆ ซึ่งนักศึกษาจะได้ใช้องค์ความรู้ แนวความคิดใหม่ๆ ร่วมกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปรับยกระดับชุมชนให้เป็นชุมชนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชนได้ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างรายได้ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการชุมชนอย่างยั่งยืน
ปัจจุบันบ้านนาต้นจั่น มีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ชุมชนอยู่ที่ 500,000 บาทต่อเดือน ซึ่งหากพัฒนาให้เป็นหมู่บ้าน CIV 5 ดาว จะก่อให้เกิดการท่องเที่ยว และสร้างรายได้ให้กับชุมชนกว่า 8 ล้านบาท และสามารถสร้างการมีงานทำในชุมชนที่เพิ่มขึ้นกว่า 100 คน ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กสอ. ได้ส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจชุมชนไปแล้วกว่า 215 ชุมชน นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย