ประชาชนส่วนใหญ่ เห็นด้วย 'คลายล็อกดาวน์' แต่คิดหนักกังวล 'โควิด' ระบาดรอบ 2
"นิด้าโพล" เผย ประชาชนส่วนใหญ่ เห็นด้วย "คลายล็อกดาวน์" แต่คิดหนักกังวล "โควิด-19" ระบาดรอบ 2
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การผ่อนคลายมาตรการ Lock Down” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4 – 7 พฤษภาคม 2563 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,259 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการผ่อนคลายมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่าง ด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการผ่อนคลายมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า ร้อยละ 34.39 ระบุว่า เห็นด้วยมาก เพราะ จำนวนผู้ติดเชื้อน้อยลงมาก ช่วงเวลาที่ผ่านมาประชาชนให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามคำเเนะนำของสาธารณสุขได้เป็นอย่างดี และกลับมาประกอบอาชีพได้หลังจากบางอาชีพสั่งปิดทำการชั่วคราว
ร้อยละ 49.56 ระบุว่า ค่อนข้างเห็นด้วย เพราะ ผู้ติดเชื้อน้อยลง ประชาชนได้ผ่อนคลายบ้าง มีการรับมือทางการแพทย์ที่ดี ประชาชนให้ความร่วมมือค่อนข้างดี ประชาชนดำรงชีวิตสะดวกมากขึ้น และประกอบอาชีพหารายได้ได้เหมือนเดิม
ร้อยละ 9.93 ระบุว่า ไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่พ้นวิกฤต หากมีการกลับมารวมตัวกันของประชาชนมากขึ้น เกรงว่าจะกลับมาเเพร่ระบาดรอบ 2
ร้อยละ 6.04 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย เพราะ อยากให้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หมดไป 100% ก่อน หรือเลื่อนระยะเวลาออกไปอีก 1 เดือน และเกรงว่าจะกลับมาเเพร่ระบาดรอบ 2 และร้อยละ 0.08 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
ด้านความเชื่อของประชาชนต่อผู้ใช้บริการและร้านค้าว่าจะสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำด้านสาธารณสุข เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากมีการผ่อนปรนให้เปิดกิจการร้านค้าได้ พบว่า ร้อยละ 18.19 ระบุว่า เชื่อมาก เพราะ ประชาชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการทำตามคำเเนะนำด้านสาธารณสุขเป็นอย่างดี และผู้ประกอบการก็พยายามทำตามมาตรการเพื่อป้องกันการสั่งปิดทำการชั่วคราวอีก
ร้อยละ 48.77 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อ เพราะ ผู้ประกอบการทำตามคำสั่งด้านสาธารณสุขเป็นอย่างดี และประชาชนส่วนใหญ่มีการดูแลและรับผิดชอบตัวเองมากขึ้น
ร้อยละ 26.13 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อ เพราะ ประชาชนบางกลุ่มยังไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ค่อยมีระเบียบวินัย ไม่ทำตามกฎกติกา และกิจการขนาดเล็กอาจจะปฏิบัติตามได้ไม่เต็มที่เนื่องจากข้อจำกัดทางงบประมาณ
ร้อยละ 6.43 ระบุว่า ไม่เชื่อเลย เพราะ ประชาชนและผู้ประกอบการมีความตระหนักในการป้องกันไม่เท่ากัน อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบ 2 ขึ้น และร้อยละ 0.48 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความกังวลของประชาชนว่าจะเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบที่ 2 หลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 พบว่า ร้อยละ 15.33 ระบุว่า กังวลมาก เพราะ การกลับมาเดินทางและการรวมตัวของประชาชนเพิ่มมากขึ้นทำให้ละเลยในการเว้นระยะห่างทางสังคม อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบที่ 2
ร้อยละ 47.58 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล เพราะ คนที่เดินทางข้ามจังหวัดอาจจะไปในพื้นที่เสี่ยงแล้วกลับมาในพื้นที่ที่ไม่มีการแพร่ระบาด ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในรอบที่ 2 ได้
ร้อยละ 25.73 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล เพราะ ประชาชนส่วนใหญ่ป้องกันตัวเองมากขึ้น จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่ลดลงมาก และมั่นใจในการทำงานของรัฐบาลเเละบุคลากรทางการเเพทย์ ไม่น่าจะเกิดการเเพร่ระบาดรอบ 2
ร้อยละ 11.12 ระบุว่า ไม่กังวลเลย เพราะ ภาครัฐมีมาตรการควบคุมป้องกันที่ดี ประชาชนและผู้ประกอบการให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะหมดไปแน่นอน และร้อยละ 0.24 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่ทราบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.82 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.73 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.27 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.52 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.66 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 48.61 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.39 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่างร้อยละ 8.90 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 16.60 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 20.65 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 31.45 มีอายุ 46 – 59 ปี และร้อยละ 22.40 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 95.31 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.26 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 1.03 นับถือศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ และร้อยละ 0.40 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 24.23 สถานภาพโสด ร้อยละ 71.64 สมรสแล้ว ร้อยละ 3.65 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 0.48 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
ตัวอย่างร้อยละ 29.39 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 32.00 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.47 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 25.02 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.48 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 0.64 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 10.25 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 14.22 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 22.72 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 12.39 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 18.43 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 17.63 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 3.57 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 0.79 ไม่ระบุอาชีพ
ตัวอย่างร้อยละ 17.95 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 27.72 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 24.31 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 10.33 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 3.97 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 5.24 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 10.48 ไม่ระบุรายได้