'อุตฯ อัญมณี' ร้องขอเยียวยา ผวาเลิกจ้าง 3 แสน เซ่นโควิด

'อุตฯ อัญมณี' ร้องขอเยียวยา ผวาเลิกจ้าง 3 แสน เซ่นโควิด

เสียงสะท้อนของแรงงานในปีนี้คงแผ่วเบาอันเป็นผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ภาคธุรกิจหลายส่วนไม่ต้องการปลดคนงานในขณะนี้แม้ว่าจะต้องจ่ายค่าแรงอย่างต่อเนื่องทั้งที่กระแสเงินสดไหลเข้าเท่ากับศูนย์

เสียงสะท้อนของแรงงานในปีนี้คงแผ่วเบาอันเป็นผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ภาคธุรกิจหลายส่วนไม่ต้องการปลดคนงานในขณะนี้แม้ว่าจะต้องจ่ายค่าแรงอย่างต่อเนื่องทั้งที่กระแสเงินสดไหลเข้าเท่ากับศูนย์ ทางออกเรื่องนี้ควรเป็นอย่างไร “อุตสหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ” เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ 

158842325099

สุริยน ศรีอรทัยกุล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ“กรุงเทพธุรกิจ” ว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไม่รวมการค้าทองคำ มีมูลค่าการค้าทั้งตลาดส่งออกและค้าในประเทศประมาณ 1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น การส่งออกประมาณปีละ 4.5 แสนล้านบาท และค้าในประเทศประมาณปีละ 5 แสนล้านบาท มีแรงงานเกี่ยวข้องประมาณ 1 ล้านคน และหากคำนวนแรงงานหนึ่งคนจะมีผู้เกี่ยวข้องต่อเนื่อง เช่น คนในครอบครัว หรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆอีกประมาณ 5 คน ก็เท่ากับว่ามีคนที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ประมาณ 6 ล้านคน 

โดยคนจำนวนนี้กำลังจะประสบปัญหาเนื่องจากอุตสาหกรรมอัญมณีฯ ขาดสภาพคล่องเพราะไม่มีรายได้ เกิดปัญหาขาดกระแสเงินสด  ทางแก้ปัญหาเบื้องต้นคือจ่ายค่าแรงในอัตรา 50-70% แล้วแต่กรณี เพื่อดึงสถานการณ์ให้เข้าสู่ภาวะเลวร้ายที่สุดให้ช้าที่สุด เพราะการที่คงรายจ่ายท่ามกลางภาวะขาดรายได้แน่นอนว่าธุรกิจนั้นๆกำลังเดินเข้าสู่ภาวะไร้ทางออกและอาจต้องปิดตัวในที่สุด

ทั้งนี้ บางส่วนที่ได้รับผลกระทบมายาวนานแล้วตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ในจีนเริ่มต้นซึ่งเป็นเหตุให้นักท่องเที่ยวบางส่วนหายไป และท้ายที่สุดไม่มีการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศเกิดขึ้น ทำให้กลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องปิดกิจการไปบ้างแล้ว

 นอกจากนี้  ยังได้รับผลกระทบถือเป็นระลอกที่ 2 จากตลาดส่งออกก็ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อทั่วโลกชะลอตัว และประเมินว่าแม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลาย แต่ความเชื่อมั่นในการซื้นสินค้ากลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับจะลากยาวไปถึงสิ้นปี

ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการค้าทั้งตลาดส่งออกและค้าในประเทศปี 2563 จะติดลบมากถึง 30% หรือมูลค่าหายไปประมาณ 3 แสนล้านบาท จากมูลค่าตลาดรวม 1 ล้านล้านบาท และคาดว่าหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ และไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลอาจต้องมีการปลดแรงงานในระบบมากถึง 3 แสนคน จาก 1 ล้านคน

158842328713

“แรงงานหนึ่งคนกว่าเราจะสร้างให้เป็นคนอัญมณีได้ ใช้เวลาหลายปีบางส่วนเป็นสิบปี ยิ่งเป็นกลุ่มช่างฝีมือ ยิ่งใช้เวลานาน แต่ตอนนี้ เราต้องปิดโรงงานเพราะไม่มีคำสั่งซื้อคนเหล่านี้ไม่มีงานทำแต่เราจะพยายามจ่ายค่าแรงแต่ไม่รู้ว่าจะทำได้นานแค่ไหนหากไม่ได้รับการช่วยเหลือทั้งกิจการและแรงงานก็คงต้องแยกย้ายและออกจากอุตสาหกรรมนี้ไป”

สิ่งที่กลุ่มอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือเร่งด่วน คือการให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอร์ฟโลน) เป็นกรณีพิเศษในวงเงินประมาณ 1 แสนล้านบาท หรือสัดส่วน 10% ของวงเงินตลาดรวม 1 ล้านล้านบาท 

ดยจะตั้งเป็นกองทุนเข้ามาค้ำประกันในการกู้ เนื่องจากผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับกำลังประสบปัญหาเข้าถึงสินเชื่อได้ยาก เพราะสถาบันการเงินมองว่าธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมมีความเสี่ยงสูง จึงไม่ปล่อยกู้ให้ ทำให้ขาดสภาพคล่องในการประคองธุรกิจช่วงที่หยุดกิจการชั่วคราว ขณะที่ต้องจ่ายค่าจ้างแรงงาน ซึ่งกลุ่มธุรกิจไม่ต้องการปลดแรงงาน เพราะมองว่าอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับต้องใช้แรงงานทักษะสูง ดังนั้นหากปลดคนงานอาจทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมยิ่งลดน้อยลงซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้อุตสาหกรรมอ่อนแอหากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ไทยอาจไม่มีขีดความสามารถการแข่งขันในอนาคต 

158842330814

    “เราอาจกำหนดเงื่อนไข การขอยื่นกู้เช่น ใช้งบดุลบริษัทเป็นตัวค้ำประกัน หรือ สต็อกสินค้าที่มีอยู่ หรือกำหนดเงื่อนไขการคืนเงินที่ยืดหยุ่น เช่น ภายใน 5 ปี เพื่อให้อุตสาหกรรมนี้อยู่รอดได้เมื่อสภานการณ์ดีขึ้น อัญมณีก็จะเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย  เพราะเป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีความถนัดและนำรายได้เข้าประเทศมาอย่างต่อเนื่อง”

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดกำลังรอการประสานจากทางสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือจีไอที ที่ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ และธนาคารพาณิชย์ เพื่อขอให้ออกมาตรการซอร์ฟโลนเร่งด่วน ซึ่งจะเป็นทางออกเดียวในการพยุงธุรกิจ เพื่อลดการปลดแรงงานในภาคอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมอัญมณี ฯ จะสามารถเติบโตได้ โดยจะมีการจ้างงานเพิ่ม 1.5 ล้านคนภายใน 5 ปีจากนี้ อย่างไรก็ตามคาดการณ์ดังกล่าวอาจต้องทบทวนใหม่ตามสถานการณ์เพราะหาได้รับความช่วยเหลือก็เชื่อว่าการเติบโตจะกลับมาได้ แต่หากไม่ได้รับการเยียวยาโดยเร่งด่วนนอกจากจะไม่เติบโตก็อาจมีขนาดของอุตสาหกรรมที่ลดลง