สศช.เคาะ 6 หลักเกณฑ์ ผ่อนปรนเปิดธุรกิจช่วงโควิด

สศช.เคาะ 6 หลักเกณฑ์ ผ่อนปรนเปิดธุรกิจช่วงโควิด

สศช.เคาะ 6 หลักเกณฑ์ ผ่อนปรนเปิดธุรกิจ “กลินท์” เสนอแบ่ง 3 โซน เขียว-เหลือง-แดง เปิดธุรกิจเฉพาะพื้นที่เสี่ยงการระบาดต่ำ-ปานกลาง ตั้งเงื่อนไขเปิดเฉพาะธุรกิจที่มีความเสี่ยงแพร่เชื้อน้อย

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นประธกานการประชุมคณะที่ปรึกษาด้านธุรกิจภาคเอกชน ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)

การประชุมครั้งนี้ นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานกลุ่มมาตรการเพื่อการกลับมาเปิดธุรกิจใหม่ ได้เสนอแนวทางการเปิดดำเนินการธุรกิจบางประเภทให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเสนอแบ่งเป็น 2 แนวคิด คือ 1.เชิงพื้นที่ (โซนนิ่ง) 2.เชิงธุรกิจ

สำหรับข้อเสนอเชิงพื้นที่แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.จังหวัดที่มีความเสี่ยงต่ำ (สีเขียว) จะเปิดบริการธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำได้ในกรณีปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน ส่วนธุรกิจที่มีความเสี่ยงปานกลางเปิดดำเนินการได้ด้วยความระมัดระวัง และธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงเปิดดำเนินการไม่ได้

2.จังหวัดที่มีความเสี่ยงปานกลาง (สีเหลือง) จะเปิดธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำเปิดได้ในกรณีปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน ส่วนธุรกิจที่มีความเสี่ยงปทานกลางเปิดได้ด้วยความระมัดระวัง และธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงเปิดไม่ได้

3.จังหวัดที่มีความเสี่ยงสูง (สีแดง) จะเปิดธุรกิจที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลาง เปิดได้ด้วยความระมัดระวัง และธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงเปิดไม่ได้

ทั้งนี้การเปิดสถานประกอบการในแต่ละจังหวัดให้ดูแยวปฏิบัติจากส่วนกลางเป็นหลัก และควรหารือร่วมกันระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัดและภาคธุรกิจในพื้นที่

รวมทั้งในกรณีที่ระดับความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น จากระดับเขียวเป็นเหลือง จะต้องมีการหาสาเหตุและทบทวนการเปิดสถานประกอบการ

ส่วนแนวทางการดำเนินงานประกอบด้วย 1.มาตรการในการปรับพฤติกรรมของประชาชน โดยมีการกำหนดแนวทางในการปฏิบัติของประชาชนและสถานที่ให้บริการ

2.แนวทางพิจารณาการเปิดดำเนินการธุรกิจตามความเสี่ยงของสถานประกอบการ และพื้นที่ที่มีความเสี่ยง อาทิ สถานประกอบการที่มีความเสี่ยงต่ำอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำ อาจพิจารณาเปิดให้บริการได้ตามมาตรการที่กำหนด ขณะที่สถานประกอบการที่มีความเสี่ยงสูง และอยู่ในจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงจะไม่พิจารณาเปิดให้บริการ

3.กระบวนการอนุญาตและติดตาม อาทิ การลงทะเบียนสำหรับสถานประกอบการ การติดตามตรวจสอบโดยภาครัฐระดับท้องถิ่นและจังหวัด การรายงานของภาคประชาชนผ่านแอพลิเคชันไลน์

4.การพิจารณาระยะเวลาดำเนินการ โดยเป็นการทดลองเปิดในจังหวัดที่มีความเสี่ยงต่ำและขยายผลไปสู่จังหวัดที่มีความเสี่ยงต่ำและปานกลางต่อไป

5.การสื่อสาร โดยภาครัฐจัดทำแผนการสื่อสารไปสู่ประชาชนและสถานประกอบการให้รับทราบถึงข้อปฏิบัติและแนวทางในการดำเนินการ

6.คณะทำงานร่วมในการดำเนินการ ประกอบด้วยภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคสังคมและวิชาการ ซึ่งเอกชนจะต้องไปหารือในรายละเอียดกับกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข