'พาณิชย์' เผยล่าสุดจับเพิ่มวันเดียว 17 ราย ขายหน้ากากอนามัย แพงเกินจริง

'พาณิชย์' เผยล่าสุดจับเพิ่มวันเดียว 17 ราย ขายหน้ากากอนามัย แพงเกินจริง

“พาณิชย์” เผยล่าสุดจับเพิ่มวันเดียว 17 ราย ขายหน้ากากอนามัย เจลล้างมือและแอลกอฮอล์แพงเกินจริง ยอดรวมสูงถึง 336 ราย

นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองโฆษกกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยถึงผลการปฏิบัติการกรณีสินค้าอุปโภคบริโภคและเวชภัณฑ์ของกระทรวงพาณิชย์ว่า ณ วันที่ 15 เม.ย. 2563 ที่ผ่านมา

กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจับกุมผู้กระทำความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดกรณีหน้ากากอนามัย เจลล้างมือและแอลกอฮอล์ เพิ่มวันเดียวสูงถึง 17 ราย ดังนี้

กรุงเทพฯ 3 ราย เป็นร้านขายยา 1 ราย พบผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัยแบบธรรมดาสีฟ้า บรรจุซองใส 10 ชิ้น/แพค ในราคาชิ้นละ 25 บาท โดยไม่ปิดป้ายแสดงราคาขาย จึงแจ้งข้อหากระทำความผิด  ตามมาตรา 28  นอกจากนี้ยังพบร้านค้าจำหน่ายหน้ากากอนามัยผ่านทางเฟซบุ๊ก 1 ราย โดยทำการล่อซื้อและจับกุม พบขายหน้ากากอนามัยแบบธรรมดา บรรจุกล่องละ 50 ชิ้น ในราคา 650 บาท (เฉลี่ยชิ้นละ 13 บาท) รวม 8,850 ชิ้น และอีก 1 ราย เป็นร้านค้าทั่วไป บรรจุกล่อง 50 ชิ้น ในราคากล่องละ 850 บาท (เฉลี่ยชิ้นละ 17 บาท)  โดยทั้ง 2 ราย กระทำความผิดข้อหาจำหน่ายหน้ากากอนามัยในราคาสูงเกินสมควร ตามมาตรา 29
 
ต่างจังหวัด 14  ราย แยกเป็นการกระทำความผิด ดังนี้

  • กระทำความผิด ตามมาตรา 28 ข้อหาจำหน่ายหน้ากากอนามัยโดยไม่ปิดป้ายแสดงราคาขาย จำนวน  7 ราย ได้แก่ จังหวัดสตูล 1 ราย จังหวัดสมุทรสาคร 2 ราย จังหวัดมุกดาหาร 1 ราย (จำหน่าย ผ่านทางเฟซบุ๊ก) และจังหวัดอุดรธานี 3 ราย (จำหน่ายผ่านทางเฟซบุ๊ก)
  • กระทำความผิดตามมาตรา 25 (5) ข้อหาไม่แจ้งต้นทุน ราคาซื้อ ราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิต ต่อ กกร. เป็นโรงงานผลิตเจลล้างมือแอลกอฮอล์ ในจังหวัดปทุมธานี 1 ราย        
  • กระทำความผิดตามมาตรา 25  ข้อหาจำหน่ายหน้ากากอนามัยสูงเกินราคาที่กำหนด โดยการล่อซื้อและจับกุมผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัยผ่านทางเฟซบุ๊ก 1 ราย ในราคากล่องละ 750 บาท   (เฉลี่ยชิ้นละ 15 บาท) ผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัยผ่านทางแอปพลิเคชั่นไลน์ 1 ราย ในราคากล่องละ 890 บาท  (เฉลี่ยชิ้นละ 17.80 บาท) และร้านค้าทั่วไปอีก 1 ราย จำหน่ายหน้ากากอนามัย ในราคากล่องละ 700 บาท(เฉลี่ยชิ้นละ 14 บาท) ในจังหวัดอุดรธานี 3 ราย
  • กระทำความผิดตามมาตรา 29 ข้อหาจำหน่ายหน้ากากอนามัยสูงเกินสมควร โดยการล่อซื้อและจับกุมผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัยผ่านทางเฟซบุ๊ก  พบจำหน่ายหน้ากากอนามัย บรรจุกล่อง 50 ชิ้น ในราคากล่องละ 650 บาท (เฉลี่ยชิ้นละ 13 บาท) ในจังหวัดอุตรดิตถ์ 1 ราย
  • กระทำความผิดตามมาตรา 25 และมาตรา 29 ข้อหาจำหน่ายหน้ากากอนามัยเกินราคาควบคุมและจำหน่ายในราคาสูงเกินสมควร เป็นร้านค้าทั่วไปพบจำหน่ายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical mask) ในราคากล่องละ 660 – 780 บาท (เฉลี่ยชิ้นละ 13.20 – 15.60 บาท) ในจังหวัดขอนแก่น 2 ราย
ทำให้สถิติการจับกุมผู้กระทำความผิดกรณีหน้ากากอนามัย เจลล้างมือและแอลกอฮอล์ มีจำนวนสูงขึ้นถึง 336 ราย  แยกเป็น กรุงเทพฯ 159 ราย และต่างจังหวัด 177 ราย

สำหรับสถานการณ์การจำหน่ายไข่ไก่ในขณะนี้ คาดจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ จากสถิติการจับกุมผู้จำหน่ายไข่ไก่เกินราคาทั่วประเทศ ที่กระทำความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ไม่พบผู้กระทำความผิดเพิ่ม ยอดรวมยังคงอยู่ที่ 26 ราย โดยรวมความต้องการซื้อไข่ไก่ลดลงจนเข้าสู่ภาวะปกติประชาชนซื้อเท่าที่พอเพียงต่อการบริโภค อีกทั้งมีปริมาณผลผลิตไข่ไก่เข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น สามารถสั่งซื้อและส่งสินค้าได้ตามปกติ


ทั้งนี้ โทษที่ผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ข้อหาขายเกินราคาควบคุม มาตรา 25 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ข้อหาไม่แจ้งต้นทุนราคาซื้อ ราคาจำหน่าย ปริมาณการผลิต ปริมาณคงเหลือ ตามมาตรา 25 (5) มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือ  ปรับ ไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับไม่เกินวันละ 2,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน หรือจนกว่าจะแจ้ง  มาตรา26 ข้อหาเป็นผู้ผลิตไม่แจ้งชื่อ ราคาซื้อ ราคาจำหน่าย มาตรา 28 ข้อหาไม่ปิดป้ายแสดงราคาขาย มีอัตราโทษปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท และมาตรา 29 ข้อหาขายแพงเกินสมควรมีอัตราโทษ  จำคุกไม่เกิน 7 ปี ปรับไม่เกิน 1.4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

รองโฆษกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์ยังคงเดินหน้าติดตามตรวจสอบ และจับกุมผู้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการตรวจสอบการจำหน่ายหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ และแอลกอฮอล์ รวมถึงสินค้าที่ไม่ได้เป็นสินค้าควบคุมเช่น ไข่ไก่ หากพบขายเกินราคาควบคุม และแพงเกินจริงมีการกักตุนสินค้า หรือเอาเปรียบประชาชน จะดำเนินคดีตามกฏหมายขั้นเด็ดขาด เพราะถือว่าเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นในสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโควิด – 19 “หากพบมีการขายร้องเรียนได้ทันทีที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569และในต่างจังหวัดร้องเรียน ได้ที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัด หรือศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด” นางลลิดากล่าว