ท่าเรือเดินหน้าเจรจาจีพีซี ผลตอบแทนแหลมฉบัง 3

ท่าเรือเดินหน้าเจรจาจีพีซี ผลตอบแทนแหลมฉบัง 3

การท่าเรือ ลุ้น “จีพีซี” ชงบอร์ดไฟเขียว เริ่มนัดเจรจาแหลมฉบัง3 ชี้เป้าหมายปรับเพิ่มข้อเสนอผลตอบแทนรัฐ ตั้งเป้าลงนามร่วมทุน พ.ค.นี้ รับสภาพโควิดระบาดทำเอกชนประชุมบอร์ดล่าช้า กระทบแผนเปิดให้บริการเป็นปลายปี66

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โดยระบุว่า จากคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้ยกฟ้องกรณีเอกชนฟ้องเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ปัจจุบัน กทท.ได้ประสานไปยังเอกชนผู้ที่ผ่านการคัดเลือก คือ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (บริษัทในกลุ่มปตท.) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ (GULF) และ China Harbour Engineering Company Limited) หรือ จีพีซี  เพื่อเริ่มต้นขั้นตอนเจรจาผลตอบแทน

“ตอนนี้เราได้ติดต่อไปยังเอกชนเพื่อเตรียมมาเจรจาแล้ว แต่ก็เข้าใจว่าทางเอกชนต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัทด้วย จึงยังไม่ได้ตอบนัดวันเจรจากลับมา ซึ่งประเด็นที่เราจะเจรจา มีเรื่องของการเจรจาผลตอบแทนให้ได้เงินสูงสุด ซึ่งถือเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ที่ต้องดำเนินการอยู่แล้ว เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่รัฐ”

รายงานข่าวจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ระบุว่า กรอบดำเนินการที่ กทท.ได้ตั้งเป้าไว้ก่อนหน้านี้ จะเริ่มต้นเจรจาในวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมา และคาดว่าจะเจรจาให้เสร็จสิ้นภายในเดือน เม.ย.นี้ จากนั้นจะเสนอเข้าบอร์ด กทท. และเสนอให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) อนุมัติ ก่อนส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติ โดยตั้งเป้าว่าจะลงนามสัญญาได้ในเดือน พ.ค. 2563 และจะเปิดให้บริการปลายปี 2566 ซึ่งถือว่าล่าช้ากว่าแผนที่วางไว้เดิมเล็กน้อย

อย่างไรก็ดี เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์โรคโควิด -19 ที่ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง ทำให้การพิจารณาขั้นตอนเจรจาจากทางเอกชนมีการสะดุดไปบ้าง เพราะเอกชนจะต้องรอนำเรื่องเข้าที่ประชุมบอร์ด ก่อนที่จะมาดำเนินการเจรจากับคณะกรรมการคัดเลือกฯ ดังนั้นตอนนี้ก็ถือว่าขั้นตอนเจรจาอาจจะต้องล่าช้าออกไป แต่ระหว่างนี้ กทท.ทำงานควบคู่ โดยได้ส่งร่างสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบและเห็นชอบแล้ว

ทั้งนี้ การดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ได้เปิดขายซองประมูลเมื่อเดือน มี.ค. 2562 มีกลุ่มบริษัทที่สนใจเข้ายื่นซองข้อเสนอรวม 2 ราย ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP (ประกอบด้วย บริษัท นทลิน จำกัด บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด บมจ.พริมา มารีน (PRM) บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค จำกัด และ China Railway Construction Corporation Limited) และกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ปรากฏว่ากลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติเบื้องต้นและข้อเสนอทางเทคนิคตามที่กำหนด แต่กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP ไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอเนื่องจากเอกสารในส่วนสัญญากิจการร่วมค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลใหม่ของกลุ่มฯ ไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด

เรือโท กมลศักดิ์  กล่าวอีกว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ กทท.ได้ปรับลดอัตราค่าภาระยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าที่ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) และลดอัตราค่าธรรมเนียมท่าเรือระนอง (ทรน.) เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการหันมาใช้บริการที่ กทท. เพิ่มขึ้น เพิ่มความยืดหยุ่นด้านราคา และเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ใช้บริการในการขนส่งทางน้ำ

สำหรับการปรับลดอัตราค่าภาระยกขนและค่าธรรมเนียมเคลื่อนย้ายตู้สินค้าที่ท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ทลฉ. ในอัตรา20% ซึ่งอยู่ในกรอบอัตราขั้นต่ำ-ขั้นสูง ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2558 นั้น

ทั้งนี้ การดำเนินการปรับลดค่าภาระท่าเทียบเรือชายฝั่ง A ของ ทลฉ. และค่าธรรมเนียมของ ทรน. ดังกล่าว ถือเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการตลาดและจูงใจให้มีผู้มาใช้บริการมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายโดยรวม ในการขนส่งให้กับผู้ประกอบการ และเป็นปัจจัยที่ทำให้ กทท. มีความสามารถในการแข่งขันด้านการตลาดมากขึ้น อีกทั้งเป็นการสนับสนุนการขนส่งทางน้ำทั้งภายในและต่างประเทศ