อ่านเกมสงครามน้ำมันซาอุฯ-รัสเซีย

อ่านเกมสงครามน้ำมันซาอุฯ-รัสเซีย

อ่านเกมสงครามน้ำมัน "ซาอุฯ-รัสเซีย" การทะเลาะกันเรื่องการผลิตและราคา จะกระทบชิ่งไปถึงการมีบทบาทนำของพลังงานสหรัฐได้อย่างไร ?

ตามที่ตลาดน้ำมันผันผวนหนักเมื่อวันจันทร์ (9 มี.ค.) ราคาดิ่งลงกว่า 20% จากที่ดิ่งลงอยู่แล้วเพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า แต่รอบนี้ได้ปัจจัยใหม่ เมื่อโอเปคกับพันธมิตรเห็นต่างเรื่องลดเพดานการผลิต โดยรัสเซียไม่ยอมลด ซาอุดีอาระเบียจึงประกาศหั่นราคาขายน้ำมันอย่างเป็นทางการในเดือน เม.ย. รวมทั้งมีแผนเพิ่มการผลิต

โรเบิร์ต จอห์นสตัน ผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานโลก บริษัทที่ปรึกษายูเรเชียกรุ๊ป เผยกับเว็บไซต์ซีเอ็นบีซีว่า การเล่นกับรัสเซียและประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินนั้นเป็นงานยาก ทั้งซาอุดีอาระเบียและรัสเซียต่างรอว่าใครจะเป็นฝ่ายยอมก่อน การเผชิญหน้ากันจะดำรงอยู่ระยะหนึ่ง ที่นักวิเคราะห์รายนี้มองว่า 2-3 เดือนเป็นอย่างน้อย การทะเลาะกันเรื่องการผลิตและราคา จะกระทบชิ่งไปถึงการมีบทบาทนำของพลังงานสหรัฐด้วย

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมหินน้ำมันของสหรัฐได้เปลี่ยนภูมิทัศน์ภาคพลังงานโลก เมื่อสหรัฐเดินหน้าสู่การเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันสุทธิ

“รัสเซียจึงต้องสกัดอิทธิพลของสหรัฐที่ส่งไปทั่วโลก เรื่องนี้เกี่ยวข้องกัน ผมไม่คิดว่าจะคลี่คลายลงได้ใน 2 หรือ 3 สัปดาห์ข้างหน้า”  จอห์นสตันกล่าวและว่า ความเคลื่อนไหวของมอสโกเสี่ยงและต้นทุนสูง ยังต้องดูกันต่อไปว่าวิธีนี้จะสามารถฆ่าหินน้ำมันสหรัฐ หรือตัดกำลังให้สงบนิ่งได้หรือไม่แต่รัสเซียยังกระสุนดินปืนอีกมากให้เล่น

ด้าน ริชาร์ด กอร์รี กรรมการผู้จัดการเจบีซีเอเนอร์จีเอเชีย มองว่า ปีนี้น้ำมันดิบล้นตลาดวันละราว 3 ล้านบาร์เรลต่อวัน แม้ซัพพลายในสหรัฐหายไปเพราะผู้ผลิตถูกกดดันจากน้ำมันราคาถูก ก็คงไม่ช่วยหนุนราคาได้

“ถ้าทั้งสองฝ่ายเหนี่ยวไกปืน ทั้งคู่ก็จะเล่นเกมแรง ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ราคาน้ำมันก็จะลดลงอีก” กอร์รีกล่าว

บ่ายวานนี้ (10 มี.ค.) ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ซื้อขายล่วงหน้าในตลาดเอเชียอยู่ที่ราว 37 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบดับเบิลยูทีไอของสหรัฐ อยู่ที่ราว 33 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

กอร์รีกล่าวต่อว่า ราคาที่ดิ่งลงอาจพลิกกลับโดยง่ายด้วยการทำข้อตกลง เอาซัพพลายส่วนเกินออกจากตลาด

“ยังมีเวลาให้จัดการ แต่ก็อาจมีผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้อนาคตซับซ้อน”

เจพีมอร์แกนคาดการณ์ว่า ไตรมาส 2 ของปีนี้ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยที่ 37 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนไตรมาส 3 จะอยู่ที่ 42 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หากซาอุดีอาระเบียผลิตน้ำมัน 10.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน เฉลี่ยทั้งปีราคาน้ำมันดิบเบรนท์อยู่ที่ 44 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล