แก้ปัญหาความยากจน ด้วยการแจกเงินทุกเดือน?

แก้ปัญหาความยากจน ด้วยการแจกเงินทุกเดือน?

จากความเชื่อที่ว่า ความจนทำให้คนตัดสินใจผิด ไม่ใช่ตัดสินใจผิดเลยทำให้จน จึงทำให้หลายประเทศพยายามหามาตรการแก้ปัญหาความยากจน หนึ่งในคำตอบคือ การให้เงินครองชีพขั้นต่ำแบบถ้วนหน้า เพื่อหวังช่วยลดความเหลื่อมล้ำ หากไทยนำวิธีการนี้มาใช้จริง จะออกมาอย่างไร?

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นเทคโนโลยีเข้ามา disrupt ในหลายอุตสาหกรรมอย่างรวดเร็ว จนนำมาสู่การปรับตัวในหลายกลุ่ม เช่น การทำระบบ e-banking ของธนาคารที่ทำให้คนไม่ต้องเดินทางไปที่สาขา แน่นอนการปรับตัวต่อเทรนดังกล่าวคือการปิดสาขาธนาคาร และลดการจ้างงาน ในท้ายที่สุด ซึ่งในภาคการผลิตเองก็มีแนวโน้มที่ผู้ประกอบการจะปรับตัวไปเป็นโรงงาน 4.0 ที่จะใช้คนน้อยลงในการคุมโรงงาน จึงทำให้ในอนาคตอันใกล้มีความเสี่ยงที่ความต้องการจ้างงานจะลดลง หรืออย่างน้อยก็น่าจะการเปลี่ยนแปลงของลักษณะคนงานที่อุตสาหกรรมต้องการ ซึ่งคนที่ปรับตัวไม่ทันต่อกระแส disruption นี้อาจต้องตกงานยาว

ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ในระดับโลกเองก็มีความกังวลต่อแนวโน้มดังกล่าว และพยายามหาทางออกในระยะยาว หนึ่งในคำตอบที่ถูกหยิบยกขึ้นมามากขึ้น คือการให้เงินครองชีพขั้นต่ำแบบถ้วนหน้า (Universal basic income: UBI)

UBI คือการให้เงินครองชีพที่จำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีพ เช่น ค่าเช่าบ้าน อาหาร ยา และ ค่าเทอม เป็นต้น โดยการจ่ายครองชีพนี้จะให้แบบไม่มีเงื่อนไข ไม่แบ่งแยกรวยหรือจน มีงานทำหรือไม่มีงานทำ การที่ทุกคนได้เงินดำรงชีพขั้นต่ำ จะทำให้ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้บ้าง และช่วยให้ชนชั้นกลางถึงชนชั้นล่างไม่ต้องกังวลว่าพรุ่งนี้จะมีเงินซื้อข้าวหรือไม่ หรือจะมีเงินจ่ายค่าเทอมให้ลูกหรือเปล่า โดยแก่นของ UBI เชื่อว่าการที่คนไม่ต้องกังวลต่อการขาดปัจจัยพื้นฐาน จะทำให้มนุษย์สามารถพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเอง และสร้าง Productivity ให้กับประเทศในระยะยาว ซึ่งเป็นความเชื่อที่ว่า

“ความจนทำให้คนตัดสินใจผิด ไม่ใช่ตัดสินใจผิดเลยทำให้จน”

อย่างไรก็ดี การนำ UBI มาใช้ มีข้อจำกัดที่พึงพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ข้อแรกคือเรื่องงบประมาณของรัฐ แน่นอนว่าการแจกเงินให้คนทุกเดือน ต้องใช้งบประมาณมหาศาล และต้องตามมาด้วยการขึ้นภาษี หรือการตัดงบประมาณของกระทรวงอื่น ซึ่งอาจทำให้สวัสดิการโดยรวมแย่ลง ข้อสองคือความเชื่อว่าความจนไม่ได้มาจากการมีรายได้น้อยเพียงอย่างเดียว แต่มาจากปัจจัยอื่นด้วย เช่น การขาดการศึกษา ปัญหาครอบครัวแตกแยก หรือยาเสพติด ซึ่งไม่สามารถแก้ได้ในระยะสั้น การแจกเงินจึงไม่ได้แก้ปัญหาความยากจนในระยะยาวอยู่ดี และข้อสามคือความเสี่ยงที่จะทำให้คนยิ่งขี้เกียจและขาดแรงจูงใจที่จะทำงาน

ผลการศึกษาเบื้องต้นในประเทศฟินแลนด์ก็ดูเหมือนจะไม่สนับสนุนการให้ UBI นัก โดยฟินแลนด์ทดลองให้ UBI กับคนว่างงานจำนวนประมาณ 2,000 คนในช่วง 2560 ถึง 2561 และพบว่าส่วนใหญ่ยังคงว่างงานหลังได้ UBI แม้จะทำให้ผู้รับ UBI มีความสุขและมีสุขภาพดีขึ้นก็ตาม

แต่แม้จะมีหลักฐานเบื้องต้นเช่นนั้น แต่ UBI เองก็ยังถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง เช่น กรณีนายแอนดรูว์ หยางที่ลงสมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งสหรัฐ ปี 2563 ก็มีการเสนอให้ UBI กับชาวอเมริกันในช่วงอายุระหว่าง 18 ถึง 64 ปี ซึ่งแนวคิดดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก Iron man ในชีวิตจริงอย่างนายอีลอน มัสก์

จึงเป็นที่น่าสนใจว่า หากไทยเราจะลองคิดถึงการให้ UBI บ้างจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร โดยหากเราสมมติให้รัฐจ่าย UBI เฉพาะคนที่อยู่ในวัยทำงาน (ช่วงอายุ 18 ปีถึง 59 ปี) โดยประเทศไทยมีประชากรในช่วงดังกล่าวจำนวน 40,453,188 คน สำหรับค่าครองชีพขั้นต่ำสมมติให้เท่ากับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของประชากร โดย ณ ปี 2561 มีค่าเท่ากับ 21,569 บาทต่อครัวเรือน หากปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อจะได้ค่าครองชีพขั้นต่ำ ณ สิ้นปี 2562 ต่อเดือน เท่ากับ 21,500 บาทต่อครัวเรือน หรือคิดเป็นประมาณ 7,000 บาทต่อคน

ภายใต้ตัวเลขข้างต้นจะพบว่าต้องใช้งบประมาณรัฐในการสนับสนุนถึง 3.4 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งสูงกว่างบประมาณแผ่นดินของไทยประจำปี 2563 ที่ราว 3.2 ล้านล้านบาทเสียอีก ดังนั้น การให้ UBI สำหรับประเทศไทยอาจจะยังมีข้อจำกัด ซึ่งผลดังกล่าวสอดคล้องกับการศึกษาในต่างประเทศที่พบว่าการให้ UBI ติดข้อจำกัดด้านงบประมาณเช่นกัน