เกษตรของบ 414 ล้าน หนุนราคาผลไม้

เกษตรของบ 414 ล้าน หนุนราคาผลไม้

“มนัญญา”เล็งของบกลาง 414 ล้านหนุนสหกรณ์รับซื้อทุเรียน-มังคุด-ลำไยกระจายขายในประเทศ หลังไร้ออเดอร์จากจีน,ฮ่องกง,เวียดนามหวังเพิ่มรายได้เพิ่ม 11,512 บาท/ราย

     น.ส.มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมสหกรณ์ เตรียมเสนอของบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น พ.ศ 2563 วงเงิน 414.20 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อน โครงการสนับสนุนการกระจายผลไม้ของสถาบันเกษตรเพื่อรองรับผลกระทบจากไวรัสดควิด-19 ยกระดับราคาและปรับสมดุลราคาผลไม้ให้เป็นไปตามกลไกตลาดหลังมีการระบาดของโควิด-19 ในจีนและหลายประเทศ ส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ ทั้งทุเรียน มังคุดและลำไย ที่ขณะนี้ไม่มีออเดอร์จากประเทศคู่ค้า จีน ฮ่องกงและเวียดนาม ที่เป็นตลาดส่งออกของผลไม้ไทยที่มีสัดส่วนมากกว่า 80% ของผลผลิตผลไม้ไทยทั่วประเทศ

     ทั้งนี้โครงการดังกล่าว จะช่วยสนับสนุนการกระจายผลไม้ของสถาบันเกษตรกร เพื่อให้การระบายผลผลิตออกจากพื้นที่เป็นไปด้วยความรวดเร็ว ป้องกันปัญหาผลไม้กระจุกตัวและล้นตลาด ผ่านเครือข่ายสหกรณ์ทั่วประเทศถึงผู้บริโภคในราคาที่เป็นธรรม โดยจะสหกรณ์ที่เป็นแหล่งผลิตผลไม้รวบรวมและกระจายผลผลิตส่งขายให้กับสหกรณ์ที่มีศูนย์กระจายสินค้าและสหกรณ์ขนาดใหญ่ทุกอำเภอทั่วประเทศ ช่วงระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน ตั้งแต่เดือนเม.ย. – ก.ย. เบื้องต้นได้ตั้งเป้าหมายในการกระจายผลไม้ผ่านระบบสหกรณ์ 8 หมื่นตัน แบ่งเป็นทุเรียน 4 หมื่นตัน มังคุด 2 หมื่นตัน และลำไย 2 หมื่นตัน

     สำหรับเงินอุดหนุน วงเงิน 414.20ล้านบาทแบ่งเป็นค่าบริหารจัดการ 80 ล้านบาท ค่าขนส่ง 160 ล้านบาท ค่าบรรจุภัณฑ์ 85 ล้านบาท และจะมีการจัดกิจกรรมรณรงค์บริโภคผลไม้ ในจังหวัดใหญ่ อาทิ นครราชสีมา อุดรธานี ขอนแก่น อุบลราชธานี เชียงใหม่ สงขลา สุราษฎร์ธานี กรุงเทพฯ เป็นต้น รวม 16 จังหวัด วงเงิน จังหวัดละ 5 แสนบาทรวมเป็นเงิน 49.20 ล้านบาท และระดับอำเภอรวม 824 อำเภอ อำเภอละ 5 หมื่นบาท รวมเป็นเงิน 41.20 ล้านบาท

     “งบกลางที่จะมาช่วยเหลือจะช่วยเหลือสหกรณ์ต้นทางใช้เป็นค่าบริหารจัดการผลไม้ กิโลกรัมละ 1 บาท ค่าขนส่ง จากแหล่งรวบรวมไปสหกรณ์ปลายทาง กิโลกรัมละ 2 บาท ค่าจัดซื้อบรรจุภัณฑ์ เช่น ตะกร้า กล่อง จำนวน 3.5 ล้านใบ หรือประมาณค่าตะกร้าขนาด 10 กิโลกรัม (ก.ก.) ประมาณ 35 บาท/ใบ และค่าบริหารจัดการของสหกรณ์ปลายทางเพื่อกระจายผลไม้สู่ผู้บริโภคในพื้นที่ กิโลกรัมละ 0.50 บาท และหากให้ประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจให้สมาชิกสหกรณ์ 68,679 รายมีรายได้เพิ่ม 11,512 บาท/ราย มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ 7,644 ล้านบาท คิดเป็น 18.45 เท่าของเงินลงทุนรัฐบาล โดยโครงการนี้จะกระทรวงเกษตรฯจะหารือกันอีกครั้งในคณะกรรมการนโยบายเกษตรและสหกรณ์วันที่ 4 มี.ค.ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป”