‘ทัวร์-รถบัส-โรงแรม’ลดคน ประคองธุรกิจวูบหนักพิษโควิด19

‘ทัวร์-รถบัส-โรงแรม’ลดคน ประคองธุรกิจวูบหนักพิษโควิด19

ตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากกันถ้วนหน้าสำหรับภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการของไทย เมื่อยอดขายหดตัวรุนแรงตามดีมานด์นักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปหลังโควิด-19 พ่นพิษลามทั่วโลกหนักขึ้น

ส่งผลให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีหลายรายตัดสินใจสู่ทางเลือกสุดท้าย นั่นคือการ “ลดคน” ชั่วคราว ขอให้พนักงานผลัดกันลาหยุดแบบไม่ได้รับค่าจ้างหรือ Leave without Pay” เพื่อลดต้นทุนแรงงาน หวังพยุงภาพรวมขององค์กรให้อยู่รอด!

วิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ซึ่งมีสมาชิกทำทัวร์ตลาดนักท่องเที่ยวขาเข้า (อินบาวด์)​ ยอมรับว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19เป็นวิกฤติที่ทั้ง “หนัก” และ “เจ็บ” เหตุผลที่บอกว่าเจ็บเพราะเกิดในฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่นต้นปีพอดี บริษัททัวร์ต่างลงทุนตุนสินค้าท่องเที่ยวในมือแบบเต็มๆ ทั้งการจองตั๋วเครื่องบิน โรงแรม และอื่นๆ โดยไม่ใช่แค่ตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่ได้รับผลกระทบเท่านั้น แต่ได้กระจายไปยังทุกตลาดทุกชาติแล้วในตอนนี้

จากสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางกับบริษัททัวร์สมาชิกแอตต้าที่สนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา มีจำนวน409,324คน ลดลงจาก492,967คนของเดือนเดียวกันปี2562 ขณะที่เดือน ก.พ.ซึ่งเป็นเดือนที่ได้รับผลกระทบหนักขึ้น ตั้งแต่วันที่1-20ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่ามีจำนวนแค่90,908คน ลดลงจาก489,938คนของเดือนเดียวกันปีที่แล้ว

“แอตต้าจึงต้องการให้รัฐบาลเร่งออกมาตรการช่วยเหลืออย่างชัดเจน เพื่อต่อลมหายใจผู้ประกอบการท่องเที่ยวในช่วง3-6เดือนนี้”

โดยเฉพาะมาตรการด้านการเงินเพื่อลดผลกระทบ ล่าสุดบางธนาคารได้ช่วยเรื่องการพักชำระเงินต้นและลดดอกเบี้ยแล้ว อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังต้องการเงินทุนหมุนเวียนรอบใหม่มาเสริมสภาพคล่อง จึงอยากให้ผ่อนปรนเงื่อนไขการขอสินเชื่อให้สามารถเข้าถึงได้ง่าย เพราะตอนนี้ธุรกิจทัวร์รายได้แทบจะเป็นศูนย์ โดยเฉพาะในช่วง5เดือนนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรค แต่ทุกบริษัทตั้งแต่ขนาดเล็กไปถึงใหญ่มีรายจ่ายหลักแสนบาทถึงล้านบาทต่อเดือน

หลายบริษัทจึงตัดสินใจลดต้นทุนคงที่ ด้วยการขอให้พนักงานผลัดกันลาหยุดแบบไม่ได้รับค่าจ้าง โดยในช่วง1-2เดือนนี้บริษัททัวร์ก็พยายามเลี้ยงพนักงานเอาไว้ แต่ถ้าสถานการณ์ลากยาวถึง3เดือน ยอมรับว่าผู้ประกอบการทัวร์มีเหนื่อยกว่านี้แน่นอน

ธนพล ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ)ซึ่งมีสมาชิกทำทัวร์ตลาดนักท่องเที่ยวขาออก (เอาท์บาวด์) หรือคนไทยเที่ยวต่างประเทศ เล่าเสริมว่า ธุรกิจทัวร์เอาท์บาวด์ได้รับผลกระทบหนักเช่นกัน เมื่อยอดขายหดตัว บริษัททัวร์ตั้งแต่ขนาดเล็กกับกลางที่มีพนักงาน10-50คนจนถึงบริษัททัวร์ขนาดใหญ่ที่มีพนักงานมากกว่า100คนจำเป็นต้องทำความเข้าใจกับพนักงานว่าต้องช่วยกันในภาวะวิกฤตินี้ โดยได้ขอให้พนักงานลาหยุดแบบไม่รับค่าจ้าง และขอลดเงินเดือนพนักงานชั่วคราว ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท

“เศรษฐกิจไทยแย่และอ่อนแอมาหลายปี พอเจอวิกฤติโควิด-19ซ้ำเติม ยิ่งทำให้แย่ไปกว่าเดิม โดยคาดว่าครั้งนี้อาจกระทบลากยาวถึง1ปี”

จิระเดช ห้วยหงษ์ทอง กรรมการผู้จัดการ หงษ์ทองกรุ๊ป หนึ่งในผู้ให้บริการเช่ารถบัสนำเที่ยวรายใหญ่ของไทย กล่าวในฐานะอุปนายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทยว่า ธุรกิจรถบัสที่เกี่ยวข้องกับตลาดกรุ๊ปทัวร์ได้รับผลกระทบโดยตรง ล่าสุดกระทบแล้วกว่า95%จากมูลค่าตลาดรถบัสนำเที่ยวกว่า2,000-3,000 ล้านบาท

ด้านภาพรวมตลาดแรงงานในธุรกิจรถบัสนำเที่ยวขณะนี้มีการให้พนักงานขับรถฯจำนวน1,000-2,000 คนผลัดกันลาหยุดแบบไม่ได้รับค่าจ้าง จากที่มีพนักงานขับรถฯรวมกว่า1หมื่นคน และคาดว่าสถานการณ์จะหนักขึ้นในเดือน มี.ค.นี้

“สถานการณ์รถบัสนำเที่ยวขณะนี้ได้รับผลกระทบถึงขั้นปิดกิจการแล้วกว่า10ราย หลังมีปัญหาสะสมต่อเนื่องตั้งแต่เหตุเรือล่มที่ภูเก็ตปี2561ทำให้นักท่องเที่ยวจีนลดลง ก่อนจะถูกโควิด-19ซ้ำเติม โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่รับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน100% และเดือน มี.ค.นี้อาจจะเห็นอีกหลาย10รายหยุดดำเนินกิจการ จากสมาชิกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทยกว่า1,000รายซึ่งมีจำนวนรถหลากประเภทรวมกว่า9,000-12,000คัน รับตลาดนักท่องเที่ยวจีนและเอเชียมากกว่า50%

ด้านศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) บอกว่า ภาพรวมธุรกิจโรงแรมขณะนี้จำเป็นต้องลดต้นทุนส่วนไม่จำเป็นเพื่อให้องค์กรอยู่รอด บางโรงแรมที่แบกต้นทุนไม่ไหวได้ทำความเข้าใจกับพนักงานเกี่ยวกับความจำเป็นในสถานการณ์นี้ และขอให้พนักงานลาหยุดแบบไม่ได้รับค่าจ้าง นอกจากนี้ยังชะลอการลงทุนด้านอื่นๆ เช่น การซื้อสินค้ามาปรับปรุงโรงแรม เพื่อรักษาสภาพคล่องในช่วงที่ดีมานด์นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป.

อ่านข่าว-'โควิด-19' พ่นพิษตลาดหุ้นทรุด 'เศรษฐีระดับโลก' สูญ