ชีวิต 16 ปี เด็กปลายด้ามขวาน สู่ฝันเข้าห้องเรียนครั้งแรกในชีวิต

ชีวิต 16 ปี เด็กปลายด้ามขวาน สู่ฝันเข้าห้องเรียนครั้งแรกในชีวิต

จังหวัดยะลา 1 ใน 20 จังหวัด ที่ได้เข้าร่วม กสศ. ในการค้นหา-ช่วยเหลือ-ฟื้นฟู เยาวชนนอกระบบการศึกษา ล่าสุด ได้ส่งน้อง ‘ซาเก๊ะ’ หรือ มะสากิ มีมะ วัย 16 ปี จาก อ. บันนังสตา จ.ยะลา ที่ประสบปัญหาบกพร่องทางร่างกายแต่กำเนิด จึงไม่เคยได้ไปโรงเรียนมาตลอดชีวิต

สุไวบ๊ะ มีมะ พี่สาวของซาเก๊ะ เล่าว่า ครอบครัวของเธอมีรายได้จากการที่พ่อและพี่ชายของซาเก๊ะมีอาชีพรับจ้างกรีดยางในชุมชน ได้รับค่าแรงรายวันเป็นค่าจ้างขั้นต่ำ ส่วนแม่และตนช่วยกันทำเพิงขายอาหารเล็ก ๆ หน้าบ้าน พอมีรายได้เพิ่มอีกเล็กน้อย นอกจากครอบครัวของเธอที่มีจำนวน 5 คนแล้ว ยังมีลูกพี่ลูกน้องและหลานอีก 2 คน รวมแล้วจึงมีสมาชิกในบ้าน ถึง 7 คน ซึ่งต้องใช้ชีวิตร่วมกันด้วยรายได้อันน้อยนิด พี่ ๆ ของซาเก๊ะทุกคนจึงจบการศึกษาชั้นสูงสุดที่ระดับชั้น ป.6 และไม่มีใครได้เรียนต่อเลย

 

157650010077

ซาเก๊ะเขาไม่เคยไปโรงเรียนเลยเพราะเดินไม่ได้ ถ้าจะให้เขาได้เรียนก็ต้องรักษาให้เขาเดินได้ก่อน แต่ครอบครัวก็ไม่มีรายได้มากพอจะดูแลเขาได้มากกว่าที่เป็นอยู่ ทั้งที่ตัวของซาเก๊ะเองอยากไปโรงเรียน เขาจะพยายามหัดเรียนด้วยตนเอง ฝึกเขียนตัวหนังสือโดยเลียนแบบจากสมุดหนังสือที่มีอยู่ในบ้าน ทั้งที่ไม่มีใครสอนเขามาก่อน” พี่สาวของซาเก๊ะ กล่าว

จากวัยเด็ก ซาเก๊ะต้องอาศัยฐานตั้งถังแก๊สติดล้อเป็นพาหนะช่วยสำหรับการเคลื่อนย้ายร่างกาย จนวันหนึ่ง เขาได้รับมอบวิลแชร์จากทหารที่เข้ามาในหมู่บ้าน นั่นทำให้เขาสามารถพาตัวเองไปในที่ต่าง ๆ ได้สะดวกขึ้น แต่ซาเก๊ะไม่หยุดความหวังของเขาไว้แค่นั้น เขาบอกกับคนในครอบครัวเสมอว่าอยากลุกขึ้นเดินด้วยขาของตัวเอง ไม่ต้องการเป็นภาระของใคร จากนั้นพ่อของเขาจึงหาไม้ค้ำมาให้ใช้ช่วยฝึกเดิน ซาเก๊ะใช้เวลาทุกวันทำกายภาพด้วยวิธีเหยียดขาตัวเองบนวิลแชร์ ทำซ้ำ ๆ ขยับบิดจนขายืดตรงได้ แล้วหัดยืนโดยใช้ไม้ค้ำช่วย จากนั้นลองเริ่มหัดเดิน จนวันหนึ่งในปี 2561 เขาก็สามารถออกเดินได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้ไม้ค้ำ

157650010059

ลุกมาน ซูมามะ ครูอาสาในพื้นที่ อ.บันนังสตา กล่าวว่าหลังได้รับเรื่องการสำรวจเด็กนอกระบบจาก กสศ. ผ่านทาง อบจ. ยะลา จึงได้ส่งชื่อของซาเก๊ะเข้าสู่กระบวนการสำรวจ เนื่องจากเป็นกรณีที่พิเศษ เขาไม่เคยเรียนหนังสือ เป็นผู้พิการเดินไม่ได้ ทางบ้านก็มีรายได้ไม่มาก จนในที่สุด เมื่อการสำรวจเด็กนอกระบบในพื้นที่ 3 อำเภอนำร่องของจังหวัดยะลา คือยะหา, รามัน และบันนังสตา ได้พบ มะสากิ มีมะ จากนั้นจึงดำเนินการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน แล้วเมื่อผ่านขั้นตอนประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ ซาเก๊ะ ก็ได้รับโอกาสให้ไปโรงเรียนเป็นครั้งแรก ในปลายเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่โรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตรมิตรภาพที่ 200 ที่ระลึก ส.ร.อ. อ.บันนังสตา จ.ยะลา

157650074527

มุขตาร์ มะทา นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา เผยว่า จากโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ที่ อบจ. ยะลา ร่วมกับ กสศ. ค้นหาเด็กนอกระบบและนำเข้าสู่ระบบการศึกษาเป็นรายกรณี ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งกศน. เขตพื้นที่ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะทำงานของภาคีเครือข่ายทุกระดับ จนพบกลุ่มเป้าหมาย9, 669 คน โดยสำรวจพบและบันทึกข้อมูลไว้แล้วจำนวน 6, 874 คน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเป้าหมายที่เข้าเกณฑ์ 3, 184 คน และมีจำนวนเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน2,405 คน ขณะที่งบประมาณเบื้องต้นที่มีอยู่สามารถช่วยเหลือเด็กได้เพียง 451 คน ในอัตราเงินช่วยเหลือที่รายละ 4, 000 บาท สำหรับปัญหานี้ มองว่าเป็นเรื่องที่สังคมส่วนรวมต้องยื่นมือเข้ามาช่วยกัน เพื่อช่วยให้เด็กและเยาวชนทุกคนมีโอกาสได้เข้าถึงการศึกษา

157650074557

เด็กที่เราเรียกว่าเป็น ‘เด็กนอกระบบการศึกษา’ ในพื้นที่ จ.ยะลา ส่วนใหญ่มีฐานะยากจน ขาดแคลนทุนทรัพย์ เขาจึงไม่สามารถอยู่ในระบบการศึกษาได้นาน หลายคนต้องออกมาทำงานกรีดยาง ขายของ หรือใช้แรงงาน เมื่อเราสำรวจพบเขาแล้ว ก็จะใช้กระบวนการดูแลเป็นรายคน โดยคณะทำงานทั้งในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับพื้นที่ และด้วยพื้นฐานของปัญหาที่มาจากครอบครัว บางรายเราจึงต้องวางแผนช่วยเหลือที่ครอบครัวร่วมด้วย เบื้องต้นเราเน้นที่การเก็บข้อมูลและสอบถามความต้องการในด้านต่าง ๆ ของเด็กและครอบครัว

ประไพ ปุยุ ผู้อำนวยการโรงเรียนบันนังสตาอินทรฉัตรมิตรภาพที่ 200 ที่ระลึก ส.ร.อ. ระบุว่า ทางโรงเรียนได้รับการติดต่อจาก อบจ. ยะลา ว่ามีเด็กนักเรียนที่ขาดโอกาสทางการศึกษาเนื่องจากมีปัญหาด้านร่างกาย จึงได้รับเด็กเข้ามาเพื่อช่วยดูแลปรับพื้นฐานการเรียนเบื้องต้น ฝึกการใช้ภาษา และได้จัดให้เข้าเรียนร่วมกับระดับชั้นอนุบาล 3 ก่อน เนื่องจากเด็กไม่เคยผ่านการศึกษามาก่อนเลย จึงอยากให้เขาได้ปรับตัวทั้งด้านการเรียนและด้านสังคม ก่อนจะประเมินผลการเรียนรู้ตามลำดับเพื่อเลื่อนชั้นเรียนต่อไป

157650010075

ช่วงแรกของการเรียนนี้ “ซาเก๊ะ” จะรับหน้าที่เป็นผู้นำน้องชั้น อ.3 ในชั้นเรียน ช่วยครูประจำชั้นดูแลและเรียนร่วมไปกับน้อง ๆ ในช่วงเช้า และในช่วงบ่ายหลังอาหารกลางวันที่นักเรียนชั้น อ.3 เข้านอน จึงเป็นเวลาของการสอนเสริมพิเศษจากครูประจำชั้น ในวิชาภาษาไทยและคณิตศาสตร์พื้นฐาน จนถึงเวลาเลิกเรียน

ขณะที่ ซาเก๊ะ เล่าความรู้สึกการเป็นนักเรียนครั้งแรกในวัย 16 ปี ว่า ได้ไปโรงเรียนมาแล้ว 4 วัน กำลังเรียนการอ่านการเขียน การสะกดภาษาไทย ได้อ่าน ก.ไก่ ข.ไข่ คิดว่ากว่าจะท่องได้คงต้องใช้เวลาหลายเดือน เนื่องจากเป็นภาษาที่ไม่คุ้นเคย แต่ที่ผ่านมาตอนอยู่บ้าน เขาเคยดูเคยหัดเขียนมาแล้ว จึงทำให้เรียนรู้ได้เร็วขึ้น

157650055087

“การได้มาโรงเรียนให้ความรู้สึกเหมือนกับที่ผมคิดเอาไว้ บรรยากาศในห้องเรียนไม่มีความเครียด สนุก ผมมีเพื่อนแล้วหลายคน หลายระดับชั้น ทั้งอนุบาล 3 ป.1 หรือที่เรียนอยู่ ป.3 ก็มี หลังจากเริ่มไปโรงเรียน เดี๋ยวนี้ทุกวันผมจะรีบกลับไปทำการบ้าน ไม่ไปเที่ยวไหน ผมชอบดูหนังสือเรียน อยากเรียนอ่านเขียนให้ได้เร็ว ๆ” ซาเก๊ะ เล่า

ซาเก๊ะ เขาเด็กมีความฝัน อยากเป็นช่างภาพ เพราะอยากเก็บความทรงจำและถ่ายทอดเรื่องราวดีๆ ผ่านภาพถ่ายให้ผู้อื่นได้ชม หลังจากนี้จะตั้งเรียนหนังสือ เพื่อทำอาชีพช่างภาพตามที่ตัวเองฝัน รอดูวันที่ฝันนั้นจะเป็นจริง..