'อภิรัชต์' ล้างบางธุรกิจฟุตบอล ปิดตำนาน 103 ปี 'อาร์มี่ ยูไนเต็ด'
ผู้บัญชาการทหารบก ล้างบางธุรกิจฟุตบอล ยุบสโมสร "อาร์มี่ ยูไนเต็ด" เหตุไม่ตอบโจทย์ เตรียมดัน ทบ.เอฟซี ผงาดแทน
วันนี้ (29 พ.ย.) พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ เสนาธิการทหาร ในฐานะรองประธานและผู้อำนวยการ สโมสรอาร์มี่ ยูไนเต็ด ชี้แจงกระแสข่าว พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะประธานสโมสรอาร์มี่ยูไนเต็ด มีคำสั่งยุบสโมสรอาร์มี่ฯ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะยุบหรือไม่ยุบ เนื่องจาก พล.อ.อภิรัชต์ ได้พิจารณาว่าเงินที่สปอนเซอร์ให้มา ได้ใช้อย่างคุ้มค่าและตอบโจทย์หรือไม่ เพราะแนวคิดเดิมของการตั้งสโมสร คือนำเงินมาพัฒนาทหาร เยาวชน บริเวณรอบค่าย ไม่ใช่นำเงินไปทุ่มเทกับฟุตบอลหรือกีฬาชนิดอื่น
ทั้งนี้ อาร์มี่ ยูไนเต็ด อยู่ในวงจรธุรกิจฟุตบอล คนที่ได้รับประโยชน์ปีละ 90 ล้านบาท ก็คือโค้ชและนักเตะ โดยไม่ใช่การพัฒนานักเตะเพียงอย่างเดียว แต่ต้องไปซื้อตัวนักเตะ ประกอบกับโค้ชก็ไม่ใช่โค้ชของกองทัพเอง ซึ่งเสียเงินไปไม่คุ้มค่า โดยสโมสรฯ ได้มีการลงนามเซ็นสัญญาจ้างกับโค้ชและนักเตะไปบ้างแล้ว ซึ่งเรื่องนี้ได้ให้ข้อมูลกับ พล.ต.ราชิต อรุณรังษี เจ้ากรมสวัสดิการทหารบก ไปหารือแล้วพูดคุยกัน ก่อนที่จะนำข้อมูลเสนอต่อผู้บัญการทหารบก ถึงแนวทางที่ควรจะเป็น
"จริง ๆ แล้วกองทัพบก มีอยู่ 2 ทีมฟุตบอลคือ อาร์มี่ ยูไนเต็ด ซึ่งอยู่ในชั้นไทยลีก 2 อีกทีมคือกองทัพบก เอฟซี หรือ ทบ.เอฟซี ซึ่งอยู่ในการดูแลของกรมสวัสดิการทหารบก ซึ่งอยู่ในไทยลีก 4 มีความเป็นไปได้ว่าในการหาทางออกที่ดีที่สุดก็คือ จะเอาทีม ทบ.เอฟซี มาใช้ชื่อใหม่เป็น Army United แทน ซึ่งก็จะทำให้ตำนานทีมฟุตบอลกองทัพบก 103 ปี ตั้งแต่ปี 2459 ไม่สูญหาย และไม่เสียหายมาก เราก็จะใช้ทหารเป็นนักเตะ และเป็นโค้ชคนไทย"
อย่างไรก็ตาม พล.อ.เฉลิมพลเสริมว่า ถึงวันนี้เจ้ากรมสวัสดิการได้คุยแล้วว่าผู้บัญชาการทหารบกน่าจะเห็นด้วยกับแนวทางนี้ก็ต้องทำใจ เพราะการตั้งทีมขึ้นมาใหม่อาจจะแพ้บ้าง เหมือนทีมกองทัพอากาศที่สร้างขึ้นมาใหม่ต้องค่อยๆเป็นค่อย ๆ ไป ดังนั้นแนวโน้มชัดเจนแล้วว่าการบริหารงานของทีมอาร์มี่ยูไนเต็ด แบบเดิมคงไม่เอาอีกแล้ว อาจจะมีการปรับปรุงทีมกันใหม่
"ส่วนปัญหาเรื่องสนามฟุตบอล ได้ไปหารือพูดคุยกับสนามท่าเรือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนจะใช้สนามของท่าเรือหรือไม่ ในอนาคตอยู่ที่การตัดสินใจของประธานสโมสร"
ปิดฉากสโมสรเก่าแก่ของไทย
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของอาร์มี่ ยูไนเต็ด หมายความว่า “สุภาพบุรุษวงจักร” จะยุติทำทีมส่งเข้าร่วมการแข่งขันในลีกลูกหนังไทยต่อไป ในฤดูกาล 2020 หรือปี 2563
ล่าสุด อาร์มี่ฯ มีสถานะอยู่ในไทยลีก 2 หรือลีกรอง โดยฤดูกาล 2019 พวกเขาจบด้วยอันดับ 5 และมีรายงานว่า บอร์ดบริหารระดับสูงของทีมได้มีคำสั่งแจ้งไปยังนักเตะในทีมรวมถึงทีมงานสตาฟ์โค้ชแล้วว่า ทีมจะไม่ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันอีกต่อไป เรียกว่า ยุติการทำทีมแบบถาวร
คาดว่า อาร์มี่ฯ จะมีการทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งให้ทาง สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทย รวมถึง พีแอลที ผู้รับผิดชอบจัดการแข่งขันได้ทราบอย่างเป็นทางการอีกครั้ง เท่ากับเป็นการปิดฉากทีมที่เป็นตำนานอีกทีมของประวัติศาสตร์วงการลูกหนังเหลือไว้เพียงแค่ชื่อให้จดจำเล่าขานเท่านั้น
สำหรับทีมอาร์มี่ ยูไนเต็ด หรือ ทหารบก เดิม ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ ปี 2459 นับจากวันก่อตั้งจนถึง ปี 2562 เท่ากับทีมมีอายุที่โลดแล่นในวงการลูกหนังไทยถึง 103 ปี และเคยมีนักเตะจากสโมสรนี้รับใช้ทีมชาติมากมาย
ประวัติสโมสรอาร์มี่ ยูไนเต็ด
สโมสรฟุตบอลอาร์มี่ ยูไนเต็ด ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2459 ในนาม สโมสรกีฬากองทัพบก โดยมีวัตถุประสงค์ในการที่จะให้กำลังพลในกองทัพ ได้ออกกำลังกาย โดยในระยะแรก นักฟุตบอลส่วนใหญ่ มาจากกำลังพลในกองทัพทั้งสิ้น โดยได้ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันของ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
เกียรติประวัติของสโมสรอาร์มี่ฯนับตั้งแต่ก่อตั้ง ได้แก่ แชมป์ ถ้วย ก. 1 สมัย พ.ศ. 2526, แชมป์ถ้วย ข. 1 สมัย พ.ศ. 2523, แชมป์ถ้วย ค. 4 สมัย พ.ศ. 2525, 2531, 2534, 2535, แชมป์ถ้วย ง. 5 สมัย พ.ศ. 2507, 2530, 2532, 2534, 2536 รวมถึงเคยได้ตำแหน่งรองชนะเลิศ ฟุตบอลควีนส์คัพ ในปี 2540 และรองชนะเลิศ ไทยคม เอฟเอคัพ 2555