ทางออกระบบสินเชื่อเพื่อชุมชน

ทางออกระบบสินเชื่อเพื่อชุมชน

เทคโนโลยีคราวด์ฟันดิ้ง หรือการรวบรวมทุนจากคนจำนวนมาก ขณะนี้ถูกนำมาใช้กระตุ้นการเติบโตของธุรกิจสมัยใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี ปัจจุบันณี่ปุ่นเริ่มนำมาใช้แล้ว และกำลังขยายไปยังฟิลิปปินส์ กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของไทยด้วย

ความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ดูเหมือนจะมุ่งไปที่การสร้างอุปสงค์ในการจับจ่าย ใช้สอยของประชาชนผ่านโครงการอย่างชิม ช้อป ใช้ ซึ่งได้ผลตอบรับดีในระดับหนึ่ง ซึ่งในมุมมองภาคธุรกิจอยากให้รัฐบาลวางกลยุทธ์ที่ครอบคลุมทั้งระบบมากกว่านี้ นั่นคือยุทธศาสตร์ที่รองรับ ทั้งภาคอุปสงค์และอุปทานได้พร้อมๆ กัน

ตัวอย่างที่น่าสนใจเกิดขึ้นไม่ไกลจากบ้านเรานัก นั่นคือ ประเทศญี่ปุ่น ที่ผมมีโอกาสได้มาหารือและศึกษาการทำงานของสถาบันแห่งธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย หรือ Asian Development Bank Institute (ADBI) ซึ่งมีโครงการที่นำเอาเทคโนโลยี Crowd funding มาใช้เป็นตัวกลางระหว่างนักลงทุน และนักธุรกิจโดยตรง เพื่อกระตุ้นการเติบโตของธุรกิจใหม่สมัยใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี

ปัญหาทางโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจในญี่ปุ่นอยู่ที่ภาวะซบเซาทางเศรษฐกิจที่กินเวลายาวนานนับสิบปี จนทุกวันนี้ญี่ปุ่นต้องอาศัยนโยบายดอกเบี้ยติดลบเพื่อกระตุ้นในชาวญี่ปุ่นนำเงินไปใช้จ่ายหรือลงทุน แทนที่จะเก็บเงินไว้ในธนาคาร ซึ่งนอกจากไม่ได้ดอกเบี้ยเป็นผลตอบแทนแล้ว ยังต้องเสียค่ารักษาบัญชีด้วย

"นำเทคโนโลยี Crowd funding เป็นตัวกลางระหว่างนักลงทุน และนักธุรกิจ"

แต่คนญี่ปุ่นก็ยังไม่รู้ว่า จะเอาเงินดังกล่าวไปทำอะไร ขณะที่บริษัทเอสเอ็มอีทั่วทั้งโลกกลับมีปัญหาเหมือนกันในการหาสินเชื่อเพื่อทำธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจด้านการเกษตร ทาง ADBI โดย ดร.นาโอะยูกิ โยชิโนะ ซึ่งเป็นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเคโอ เล่าให้เราฟังถึงโครงการ ADB เอสเอ็มอี ฟันดิ้ง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของญี่ปุ่น

โครงการดังกล่าวจะเน้นไปที่ผู้ลงทุน ซึ่งก็คือประชาชนทั่วไปที่ไม่รู้ว่าจะนำเงินของตัวเองไปลงทุนผ่านช่องทางใด ได้เลือกสรรโครงการขนาดเล็กที่น่าสนใจ ซึ่งมีให้เลือกมากมาย ทั้งด้านเกษตรกรรม การประมง สวนผลไม้ ฯลฯ โดยเลือกลงทุนได้ แม้มีเงินไม่มากนัก

แนวทางเช่นนี้จึงเป็นการให้โอกาสกับเจ้าของเงิน ที่สามารถจัดสรรเงินออมของตัวเองได้ตามความสนใจของตัวเอง และในขณะเดียวกันยังเป็นการตอบแทนสังคมทางอ้อม เพราะโครงการทั้งหมดล้วนเป็นโครงการที่ทำเพื่อสังคมเป็นหลัก

โครงการเหล่านี้ใช่ว่าจะเสนอกันขึ้นมาได้ง่ายๆ เพราะกระทรวงการคลังจะคัดสรรบริษัทอินเทอร์เน็ต เพื่อดำเนินการตรวจสอบ ความน่าเชื่อถือและกลั่นกรองโครงการที่ดูมีความเป็นไปได้ และมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนจริงๆ จึงเป็นการช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้นยังมีการตรวจสอบการบริหารจัดการของแต่ละโครงการด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าไม่นำเงินลงทุนไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ และในขณะเดียวกันก็ยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี ที่มาขอสินเชื่อเหล่านั้นเพราะจะได้เรียนรู้กระบวนการจัดการ ธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ

ผลที่ได้รับจากโครงการนี้คือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำที่ธุรกิจเอสเอ็มอี โดยเฉพาะวิสาหกิจชุมชนได้เงินทุนหมุนเวียนไปใช้ด้วยการระดมทุนผ่านระบบคราวด์ฟันดิ้ง ในขณะที่ประชาชน ซึ่งก็คือนักลงทุนก็สามารถได้ดอกผลที่ดีกว่าการฝากธนาคาร

โครงการนี้จึงสร้างประโยชน์ให้กับทั้ง 2 ฝ่าย และกระบวนการทางเศรษฐกิจที่สร้างทั้งอุปสงค์และอุปทาน ก็ดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องพึ่งพา ธนาคารซึ่งมีกระบวนการทำงานที่ล่าช้าและซับซ้อนกว่า โครงการแบบนี้จึงเป็นตัวช่วยชั้นเลิศเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้ทันที

แนวคิดเช่นนี้กำลังถูกขยายผลมายังประเทศฟิลิปปินส์ กัมพูชา และเวียดนามที่กำลังเกิดโครงการคล้ายๆ กันขึ้นมา ซึ่งเมื่อผมมองเห็นโอกาสดีๆ ที่เกิดจากแนวคิดนี้ ก็อดนึกถึงบ้านเราไม่ได้ว่า หากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนโครงการแบบนี้บ้าง ก็น่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง ไม่มากก็น้อย