ตามรอย ‘เกลือศักดิ์สิทธิ์’ ยอดวัตถุดิบแห่งแอฟริกาใต้

ตามรอย ‘เกลือศักดิ์สิทธิ์’ ยอดวัตถุดิบแห่งแอฟริกาใต้

หากพูดถึง “เกลือ” หลายคนคงมองว่าเป็นเพียงเครื่องปรุงรสธรรมดา ๆ ที่ช่วยเพิ่มความเค็มในอาหาร แต่สำหรับชาวแอฟริกาใต้นั้น เกลือถือเป็น “วัตถุดิบศักดิ์สิทธิ์” เลยทีเดียว

เจอร์เมน อีเซา หัวหน้าเชฟประจำร้านอาหารเมียวกาในเมืองเคปทาวน์ ตวัดปลายมีดแล่เนื้อปลาทูน่าสด ๆ พร้อมโรยหน้าด้วยสาหร่ายและวัตถุดิบชั้นยอดของเขาที่เรียกว่า "ละอองเกลือบาเลนีศักดิ์สิทธิ์"

“มันไม่เหมือนกับอาหารที่คุณเคยลิ้มลองมา เกลือนี้ทำให้อาหารมีทุกรสชาติและอร่อยจนตัวลอยไปเลย” อีเซาบรรยายถึงสรรพคุณของเกลือบาเลนีกับเอเอฟพี

ด้วยการสกัดจากสองมือของชาวบ้านที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำในชนบททางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของแอฟริกาใต้ เกลือบาเลนีกลายเป็นวัตถุดิบอาหารที่มีผู้ติดตามมากขึ้น เนื่องจากมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เช่นเดียวกับประวัติความเป็นมา

157465789998
- เจอร์เมน อีเซา หัวหน้าเชฟประจำร้านอาหารเมียวกาในเคปทาวน์ -

ชาวท้องถิ่นบอกว่า วิญญาณของบรรพชนของพวกเขาช่วยดลบันดาลให้เกลือนี้บริสุทธิ์ เพราะมาจากน้ำของบ่อน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อกันว่ามีพลังในการเยียวยารักษาโรค

บรรดาเชฟชั้นนำต่างยกย่องเกลือบาเลนีเสมือนคริสตัลที่เล็กได้ขนาด เนื้อแน่น และมีรสชาติที่ไม่เหมือนวัตถุดิบใด ๆ

“เกลือนี้ให้รสชาติแบบแร่กับอาหารทุกอย่างที่คุณปรุงและมีรสเค็มมาก โรยเพียงนิดเดียวก็เพิ่มรสชาติได้มากแล้ว” อีเซาเผย

เกลือบาเลนีถูกใช้ในร้านอาหารหรูหลายแห่งทั่วเมืองเคปทาวน์และโยฮันเนสเบิร์กซึ่งตั้งราคาขายปลีกไว้ที่ 125 แรนด์ (ประมาณ 255 บาท) ต่อกิโลกรัม

157465792343

ที่ร้านอาหารเมียวกา เกลือบาเลนีกลายเป็นตัวเลือกมาตรฐาน หลังจากร้านแห่งนี้ตัดสินใจยกเลิกนำเข้าผลิตภัณฑ์จากต่างแดนและหันมาอุดหนุนวัตถุดิบในท้องถิ่น เกลือดังกล่าวเข้ามาแทนที่เกลือมัลดอนจากอังกฤษและถูกเสิร์ฟในถ้วยเซรามิกลวดลายสวยงามกับทุกโต๊ะอาหารภายในอาคารสไตล์อังกฤษที่สร้างขึ้นเมื่อปี 1800 (พ.ศ. 2343)

“ทุกคนชอบฟังความเป็นมาและเกลือบาเลนีมีเรื่องราวอันยิ่งใหญ่อยู่เบื้องหลัง” อีเซากล่าว

เกลือศักดิ์สิทธิ์

เรื่องเล่าขานมีจุดเริ่มต้นในเมืองกิยานี ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่ง 2,000 กิโลเมตร ณ สถานที่แห่งหนึ่งริมชายฝั่งแม่น้ำไคลน์ เลตาบา ในจังหวัดลิมโปโป ทางเหนือสุดของแอฟริกาใต้

ผู้มาเยือนจากต่างถิ่นต้องเดินฝ่าป่าหนาทึบกว่าจะมาถึงแหล่งน้ำแห่งหนึ่งที่มีแม่น้ำคอยหล่อเลี้ยง ท่ามกลางทุ่งหญ้าเขตร้อนที่แม้แต่ช่วงกลางฤดูหนาวยังมีอุณหภูมิแตะ 30 องศาเซลเซียส

ในทุก ๆ เช้าของฤดูหนาว เหล่าหญิงสูงอายุจากชุมชนซองกาในท้องถิ่นจะออกจากบ้านมาร่อนตะแกรงดินที่ถูกกลบด้วยวัตถุคล้ายคริสตัลเม็ดเรียวเล็กสีขาวเป็นประกาย

“นี่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เราได้รับตกทอดมาจากบรรพชน” อีเมลิน มาเธบูลา คนหาเกลือ วัย 73 ปี กล่าวขณะกำลังสกัดเกลือออกจากดินเค็มบนถาดโลหะด้วยแท่งเหล็ก

157465806226
- การเก็บเกลือที่นี่ ทำได้เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น -

ก่อนจะเริ่มงาน หญิงเหล่านี้จะวางเครื่องเซ่นไหว้ที่ประกอบด้วย บุหรี่ เหรียญ และเบียร์ข้าวฟ่างโบราณ บนพื้นดินใกล้กับต้นไม้หลัก (Leadwood) เพื่อขอความช่วยเหลือจากดวงวิญญาณบรรพชน

“ถ้าคุณไม่เริ่มจากการร้องขอ คุณจะไม่มีโอกาสได้เจอเกลือแม้แต่นิดเดียว” นดาเฮนี มาเชเล คนหาเกลืออีกคนหนึ่ง วัย 66 ปี กล่าวเตือน

“เมื่อน้ำที่มีสารซัลเฟตจากบ่อน้ำพุร้อนหลั่งไหลมา ความร้อนจากพระอาทิตย์จะทำให้ซัลเฟตระเหย จากนั้น เราจึงได้แหล่งเกลือที่นั่น” ทินาชากา ทชิวาเซ ไกด์ท้องถิ่นเผยกับเอเอฟพี

สำหรับที่นี่ การเก็บเกลือทำได้เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งพวกเธอมักนอนค้างแรมในร่องแม่น้ำที่แห้งเหือดนานหลายสัปดาห์ เพื่อเก็บเกลือในฤดูแล้งให้มากที่สุดก่อนที่ฝนฤดูใบไม้ผลิจะมาเยือน

“พลังเยียวยา”

บ่อน้ำพุแห่งนี้ได้รับฉายาว่า “คัมคูลู” ซึ่งหมายถึง “สถานที่ของผู้ยิ่งใหญ่” ตำนานท้องถิ่นกล่าวไว้ว่า เหล่าวิญญาณของบรรพชนที่มาลงหลักปักฐานที่นั่น เป็นผู้มอบพลังวิเศษแก่บ่อน้ำพุนี้

ชาวบ้านบอกว่า เนื่องจากบ่อน้ำพุดังกล่าวมีสารแมกนีเซียม คลอไรด์ และแร่ธาตุอื่น ๆ ในปริมาณสูง จึงสามารถรักษาความดันโลหิตสูงและอาการปวดกล้ามเนื้อได้

คนที่เจ็บป่วยพากันมาอาบน้ำในบ่อน้ำพุร้อนแห่งนี้เพื่อเยียวยา ขณะที่คนที่แข็งแรงดีมาดื่มน้ำพุเพื่อความโชคดีและความเจริญรุ่งเรือง

157465794233

อย่างไรก็ดี การอาบน้ำในบ่อน้ำพุศักดิ์สิทธิ์ย่อมอยู่ภายใต้กฎอันเข้มงวด หนึ่งในนั้นคือ “การห้ามมีเพศสัมพันธ์” อย่างน้อย 3 วันก่อนมาอาบน้ำในบ่อน้ำพุแห่งนี้

ทชิวาเซ บอกว่า เคยมีผู้มาเยือนคนหนึ่งมาอาบน้ำที่บ่อน้ำพุศักดิ์สิทธิ์และโกหกเรื่องกิจกรรมทางเพศของเขา หลังจากนั้นไม่นาน ชายคนนี้ก็รู้สึกเหมือนขาถูกไฟคลอกและกระดูกร้าว เพราะเนื้อตัวของเขาไม่สะอาดตอนมาที่นี่

อีเลนอร์ มุลเลอร์ผู้อำนวยการองค์กรไม่แสวงผลกำไร “ทรานส์ฟรอนเทียร์ พาร์คส เดสติเนชันส์” ซึ่งคอยช่วยเหลือคนเก็บเกลือท้องถิ่น เผยว่า บรรดานักโบราณคดียืนยันว่าสถานที่ดังกล่าวถูกใช้ในการเก็บเกลือด้วยกรรมวิธีเดียวกันมาอย่างน้อย 2,000 ปีแล้ว

“เกลือศักดิ์สิทธิ์นี้เป็นหัวใจสำคัญสำหรับบรรดาหมอชาวบ้านแผนโบราณในแอฟริกาใต้มาหลายร้อยปี และยังคงเป็นอยู่ในทุกวันนี้” มุลเลอร์ระบุ

ตลอดฤดูกาลเก็บเกลือ บรรดาหญิงสูงวัยสามารถเก็บและผลิตเกลือได้มากถึง 2 ตัน ในส่วนนี้ 80 กิโลกรัมสามารถเก็บได้ใน 3 วันเท่านั้น

หญิงกลุ่มนี้ขายเกลือคราวละปริมาณมากให้กับองค์กรของมุลเลอร์ซึ่งจะขายต่อให้กับบริษัทชื่อ “โอริกซ์” (Oryx) ที่นำไปผ่านกระบวนการผลิตและขายปลีกให้กับบรรดาร้านอาหารระดับไฮเอนด์

“เราทำตามวิธีการเก็บเกลือที่เรียนรู้มาจากรุ่นปู่ย่าตายายของเรา” มาเธบูลา คุณยายที่มีลูก 8 คนเผย

อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่า การถ่ายทอดองค์ความรู้นี้สู่คนรุ่นหลังเป็นเรื่องยาก เนื่องจากวัยรุ่นหลายคนในพื้นที่ชนบทเลือกย้ายเข้าเมืองใหญ่เพื่อไปหางานทำ

...

เครดิตเรื่องและรูป: เอเอฟพี