วัดใจ “หุ้นแบงก์” สินเชื่ออืด-แต่ราคายั่วใจ

วัดใจ “หุ้นแบงก์” สินเชื่ออืด-แต่ราคายั่วใจ

สัปดาห์ที่ผ่านมามีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญหลายตัว ซึ่งล้วนแล้วแต่สะท้อนภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย

เริ่มตั้งแต่ สภาพัฒน์ฯ ได้ออกมาหั่นคาดการณ์จีดีพีปีนี้เหลือเพียง 2.6% จากเดิมที่ 2.9% ถือเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดในรอบ 5 ปี โดยผลกระทบหลักมาจากภาคการส่งออกที่หดตัวแรงคาดติดลบถึง 2%

สอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ที่ออกมายอมรับเป็นครั้งแรกว่าการส่งออกปีนี้จะติดลบ 1.5-2% หลังตัวเลข 10 เดือน ติดลบไปแล้ว 2.4% ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว สงครามการค้ายังยืดเยื้อ และดูแล้วไม่น่าจบง่ายๆ แถมอาจทวีความรุนแรงมากขึ้นด้วยซ้ำ

หลังล่าสุด รัฐสภาสหรัฐผ่านร่างกฎหมายสนับสนุนกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง ทำให้จีนถึงกับควันออกหูไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะมองว่าเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตยของจีน และขู่ว่าพร้อมที่จะตอบโต้ทันที หากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามอนุมัติร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว

วินาทีนี้จึงได้แต่รอดูว่า ทรัมป์ จะตัดสินใจอย่างไร? จะใช้อำนาจประธานาธิบดี “วีโต้” ตีตก หรือ “ไฟเขียว” ให้มีผลบังคัญใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งแน่นอนว่าหากเป็นอย่างหลัง จะยิ่งเติมเชื้อไฟสงครามการค้าให้ทวีความรุนแรงมากขึ้น ซ้ำเติมการส่งออกไทยสาหัสเข้าขั้นโคม่า

ตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ กดดันบรรยากาศการลงทุนตลาดหุ้นไทยตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า หุ้นกลุ่มธนาคารกลับทรงตัวได้ดีกว่าดัชนีตลาดโดยรวม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะลงไปเยอะ ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ลดลงไปแล้ว 14% สวนทาง SET index ที่ปรับตัวขึ้น 1.8% จึงทำให้มูลค่าราคาหุ้น (Valuation) อยู่ในระดับที่ไม่แพง

แต่ในแง่ผลประกอบการตามที่ทราบกันอยู่แล้วว่ายังไม่โดดเด่นมาก จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ส่งผลต่อการเติบโตของสินเชื่อและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยหดตัวลดลง อย่างล่าสุด สินเชื่อรวมของทั้งกลุ่มเดือนต.ค. ขยายตัวเพียงแค่ 1.2% เท่านั้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

บรรดาแบงก์ใหญ่แทบยังไม่ฟื้น มีธนาคารกสิกรไทย (KBANK) และ ธนาคารกรุงไทย (KTB) ที่เริ่มดูดีขึ้น สินเชื่อโต 3.4% และ 2.6% ตามลำดับ ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ (BBL) เป็นเพียงแบงก์เดียวที่พอร์ตสินเชื่อหดตัวถึง 3.6% ในทางกลับกันกลุ่มแบงก์ขนาดกลางและขนาดเล็กที่ทำสินเชื่อเช่าซื้อยังรักษาการเติบโตได้ดี นำโดยธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) สินเชื่อโต 6.7%, ธนชาต (TCAP) โต 3.7% และ ทิสโก้ (TISCO) โต 1.2%

ทั้งนี้ หากดูภาพรวมตลอด 10 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่าหลายแบงก์อาการยังน่าเป็นห่วง ดังนั้น ตอนนี้จึงได้แต่ฝากความหวังว่าอีก 2 เดือนที่เหลือ การเติบโตของสินเชื่อน่าจะเร่งตัวขึ้น เพราะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น เทศกาลเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ หลายๆ คนกำลังวางแผนซื้อบ้านซื้อรถใหม่ ส่วนภาคธุรกิจต้องการเงินทุนเพื่อนำไปใช้จ่ายในปีหน้า

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าในไตรมาสนี้จะรับรู้ผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเต็มไตรมาส ซึ่งจะกระทบต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) และ กำไรของกลุ่มแบงก์ ถือเป็นดาวน์ไซด์ต่อผลประกอบการทำให้อาจไม่ได้หวือหวามาก

ดังนั้น การลงทุนในกลุ่มแบงก์ตอนนี้ต้องชั่งน้ำหนักกันให้ดี ข่าวร้ายเรื่องผลประกอบการเชื่อว่าตลาดรับรู้ไปมากแล้ว ตอนนี้คงต้องไปรอลุ้นกันอีกทีปีหน้าว่าจะฟื้นตัวได้มากน้อยแค่ไหน ขณะที่ในแง่ราคาหุ้นเองก็ซึมซับปัจจัยลบไปมากแล้วเช่นกัน หลายตัวลงมาอยู่ในระดับที่น่าสนใจ เมื่อเทียบกับพื้นฐานที่ค่อนข้างมั่นคงกว่าหลายๆ ธุรกิจ

ด้านบล.หยวนต้า ระบุว่า แม้ผลประกอบการของกลุ่มยังไม่ฟื้นและมีความไม่แน่นอนจากมาตรฐานบัญชีใหม่ที่จะใช้ในปีหน้ากดดันอยู่ แต่ด้วยราคาที่ปรับตัวลงมามาก เชื่อว่าตลาดรับรู้ไปมากแล้ว โดยฝ่ายวิจัยคงน้ำหนักลงทุนกลุ่มธนาคาร “เท่ากับตลาด” เลือก KKP เป็นหุ้นเด่นของกลุ่มจากสินเชื่อที่ยังเติบโตและปันผลที่น่าดึงดูด ส่วนแบงก์ใหญ่เลือก SCB มองว่า NIM ยังแข็งแกร่งกว่าทั้งกลุ่มจากส่วนผสมของสินเชื่อที่หลากหลาย