ปัจจัยเศรษฐกิจแรงกดดันแบงก์ กระตุกกำไรปี 2563

ปัจจัยเศรษฐกิจแรงกดดันแบงก์  กระตุกกำไรปี 2563

กลุ่มแบงก์ถือว่าเป็นกลุ่มที่ฟื้นตัวยากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเพราะเผชิญแรงกดดันทั้งจากภายในอุตสาหกรรมและปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะเศรษฐกิจเข้ามากระทบอยู่เป็นระยะๆ จนทำให้ได้รับผลลบด้านอัตราการเติบโตกำไร และราคาหุ้น ซึ่งสะท้อนออกมาปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

งวดปี 2562 ธนาคารพาณิชย์ทั้ 11 แห่ง มีกำไรสุทธิรวมไตรมาส 1 อยู่ที่ 55,95104 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.5 % แต่ดูรายละเอียดแล้วกำไรที่เกิดขึ้นมาจากรรายการพิเศษที่เข้ามา หากดูกำไรจากการดำเนินการก่อนหักภาษีเงินได้ กลับมีตัวเลขลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 6.7 %  

ช่วงไตรมาส 2 อยู่ที่ 53,382.39 ล้านบาท และไตรมาส 3 อยู่ที่ 56,240.11 ล้านบาท ซึ่งในงวดไตรมาส 3 มีรายการพิเศษจากบางธนาคารเข้ามา ทำให้กำไรเพิ่มขึ้น 1.9 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 5.3 % จากไตรมาสก่อน

ด้านราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ปรับตัวลดลงตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งดัชนีอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ ณ 25 ต.ค. อยู่ที่ 420.37 จุด ลดลง จากปลายปีก่อน 91.95 จุด หรือเปลี่ยนแปลงลดลง 17.94 % ส่งผลทำให้อัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (P/E) จาก 10.67 เท่า ปัจจุบันอยู่ที่ 8.8 เท่า ซึ่งทำสถิติถือว่าลงมาต่ำสุดในรอบ 10 ปีไปแล้ว

การที่ P/E ปรับตัวลดลงมาต่ำขนาดนี้แต่ยังไม่จูงใจให้นักลงทุนหันมาซื้อเก็งกำไรหุ้นแบงก์ในประเด็นราคาหุ้นที่ฟื้นตัวได้ยากเต็มที นั้นเพราะว่าแนวโน้มในปี 2563 แบงก์จะเผชิญแรงกดดันเพิ่มมากขึ้นซึ่งล้วนแต่มีผลกระทบกำไรบรรทัดสุดท้าย

ยิ่งผลประกอบการงวดไตรมาส 3 ออกมาสะท้อนให้เห็นความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะตัวเลขหนี้สูญ หรือหนี้สงสัยจะสูญปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน จนทำให้ในงวดดังกล่าวแบงก์ขนาดใหญ่หลายรายต้องตั้งสำรองฯ ป้องกันความเสี่ยงล่วงหน้าไว้ก่อนจนตัวเลขตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้น 15 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 43 % จากไตรมาสก่อน

จากที่ Stock Gossip รวบรวม ตัวเลข หนี้สูญฯ พบว่า 4 แบงก์ใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ (BBL) อยู่ที่ 5,387 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.7 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน ,ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) อยู่ที่ 10,060 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.51 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) อยู่ที่ 15,273 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 197.5 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน และ ธนาคารกรุงไทย (KTB) อยู่ที่ 6,098 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.2 % จากช่วงเดียวกันปีก่อน

สัญญาณชะลอตัวยังทำให้ ‘บัณฑูร ล่ำซ่ำ ‘ นายแบงก์ใหญ่ KBANK ระบุถึงเป้าหมายปี 2563 ของธนาคารมีอัตราเติบโตลดลงจากเป้าหมายปี 2562 ประกอบไปด้วย อัตราการเติบโตสินเชื่อ 4-6 % จากปีนี้เติบโต 5-7 %  ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) อยู่ที่ 3.1-3.3 % จากปีนี้อยู่ที่ 3.6-4.0 % 

โดยหนี้เสีย (NPL) อยู่ที่ 3.6-4 % จากปีนี้อยู่ที่ 3.3-3.7 % ซึ่งการประกาศเป้าหมายที่ลดลงทำนักลงทุนต่างมองไปในทิศทางเดียวกันแล้วว่าแบงก์อื่นมีแนวโน้มไม่แตกต่างกัน ที่สำคัญเป้าหมายการเติบโตในปี 2562 ก็อาจจะปรับตัวลดลงไม่เป็นไปตามเป้าหมายด้วยซ้ำ

นอกจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแล้ว ทิศทางอัตราดอกเบี้ยเป็นขาลงซึ่งหากประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รอบ 29-30 ต.ค. นี้ มีการปรับลดดอกเบี้ยอีกครั้งตามที่ตลาดคาดการณ์ 0.25 % เท่ากับจะกดดันนโยบายดอกเบี้ยของแบงก์ชาติของไทยอีกรอบ เพราะหากมีการลดดอกเบี้ยลงอีกย่อมกระทบ NIM ของกลุ่มแบงก์ตามมา

ทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่าทำให้กลุ่มลูกค้าคอร์ปอเรทส่งออกสินค้าไปต่างประเทศได้รับผลกระทบ ยิ่งล่าสุดสหรัฐฯ ยังตัดสิทธิ์ GSP ( Generalized system preference ) สิทธิทางภาษีที่ประเทศพัฒนาแล้วให้กับประเทศกำลังพัฒนา โดยไม่ต้องเสียภาษีสินค้านำเข้าบางรายการเมื่อส่งออกไปขายยังประเทศผู้ให้สิทธิ 573 รายการ มูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์ จะมีผลอีก 6 เดือนข้างหน้า

ปัจจัยดังกล่าวยิ่งทำให้ลูกค้าแบงก์สุ่มเสี่ยงที่จะเจอปัญหายอดขายที่ลดลงได้ เพราะแค่เรื่องค่าเงินบาทที่แข็งค่าทำให้สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งในต่างประเทศอยู่แล้วยิ่งมีการตัดสิทธิ์ GSP เข้ามาทำให้แบงก์ต้องโฟกัสลูกค้าของตนเองอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดเป็น NPL ในภายหลัง เพราะนั้นจะหมายถึงภาระที่ต้องตั้งสำรองฯเพิ่มขึ้นภายใต้แรงกดเศรษฐกิจที่มีมากอยู่แล้ว