"..รัฐต้องเสียเงินซื้อในราคามากเกินความเป็นจริง 2-4 บาทต่อก.ก. จำนวนที่ซื้อประมาณ 3 หมื่นตัน เท่ากับรัฐต้องเสียค่าโง่ 60 - 120 ล้านบาท เงินส่วนต่างเหล่านี้ตกหล่นไปยังกลุ่มบุคคลใด.."
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เตรียมเปิดประมูลน้ำมันปาล์มดิบ เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าบางปะกง ล็อตที่ 2 จำนวน 1.1 แสนตัน ในวันที่ 9 ต.ค.นี้ กำลังเป็นที่จับตามองว่า จะเป็นการเสียค่าโง่ซ้ำซากหรือไม่ หลังปรากฏว่าในล็อตแรกที่ประมูลไปเมื่อ 16 พ.ค.นั้น พบว่าทีโออาร์ส่อเค้าจะมีการล็อกสเปค ทำให้ผลประโยชน์ไม่ถึงมือเกษตรกร
การประมูลน้ำมันปาล์มดิบเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นมาตรการของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ที่ต้องการลดสต็อกน้ำมันปาล์ม และหวังยกระดับราคาปาล์มผลจาก 2 บาทกว่าๆ เป็น 3- 4 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งใช้งบประมาณ 2,880 ล้านบาท
เมื่อย้อนไปดูเงื่อนไขของ ทีโออาร์ ล็อตแรก ส่อว่าอาจมีการล็อกสเปค เอื้อประโยชน์ให้เอกชนบางกลุ่มหรือไม่ โดยเฉพาะคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการต้องมีสต็อกน้ำมันปาล์มดิบไม่น้อยกว่า 50% และต้องมีความสามารถในการขนส่ง เก็บรักษา และส่งมอบ
ที่ซ้ำร้ายยังกำหนดค่ามาตรฐานสิ่งเจือปน FFA อยู่ในระดับ 7-9 % ในตลาดซื้อขายน้ำมันปาล์มเรียกน้ำมันที่มีค่ากรดสูงเกิน 5% ว่า น้ำมันเน่า การซื้อขายน้ำมันเน่าในราคาที่สูงถือว่าผิดปรกติ เป็นการเอื้อผู้ประกอบการคลังน้ำมันรายใหญ่นำน้ำมันเน่าที่ค้างสต็อกไว้นานออกมาขาย
ในประเด็น ค่ากรด หากเกิน 5% ราคาขายตามท้องตลาดก็จะลดลงตามสัดส่วน เช่น ค่ากรดเกิน 5% ไป 1 % ราคาก็จะลดลง 1 บาทต่อ ก.ก. ถ้าค่ากรดเกิน 5% ไป 2% ราคาก็จะลดลง 2 บาทต่อ ก.ก.
การกำหนดสเปคค่ากรดอยู่ในระดับ 7-9 % ราคาก็จะลดลง 2–4 บาทต่อก.ก.ทำให้รายใหญ่ขนน้ำมันปาล์มเน่าที่ซื้อมาในราคาถูกๆออกมาขายอย่างสบายๆ ขณะที่เกษตรกรที่ไม่มีที่คลังเก็บ จะไม่มีน้ำมันที่มีค่ากรดเกินขนาดนี้แน่นอน
รัฐต้องเสียเงินซื้อในราคามากเกินความเป็นจริง 2-4 บาทต่อก.ก. จำนวนที่ซื้อประมาณ 3 หมื่นตัน เท่ากับรัฐต้องเสียค่าโง่ 60 - 120 ล้านบาท เงินส่วนต่างเหล่านี้ตกหล่นไปยังกลุ่มบุคคลใด
นอกจากนี้การให้ขนส่งทางเรือ บริษัทที่มีเรือ บริษัทที่ดูแลคลังสินค้า รับเก็บน้ำมันปาล์ม รับขนส่งสินค้า คือใคร งานนี้ต้องไปถามเฮียหลี เจ้าพ่ออันดับ 1 แห่งวงการน้ำมันปาล์ม ที่ไม่มีใครกล้าแตะต้อง เฮียแกเหมาหมดไม่ว่าจะเป็นท่าเรือ ถังเก็บน้ำมัน การบริการขนส่ง แว่วๆมาว่าค่าบริการส่วนนี้จะมีรายได้มากกว่าที่รัฐจ่ายเกษตรกรถึง 5 เท่า
โครงการนี้ผ่านมาแล้วกว่า 6 เดือนราคาปาล์มยังไม่ขยับไปไหนย่ำอยู่กับที่ แทนที่จะเป็นการยกระดับราคาปาล์มที่ตกต่ำกลับกลายเป็นการยกระดับกลุ่มเอกชนให้รวยอู้ฟู่
มาถึงการเปิดให้เอกชนยื่นซองเสนอราคาล็อตที่ 2 ในวันที่ 9 ต.ค.2562 นี้ ได้ตั้งราคากลางไว้ที่ 17.50 บาทต่อก.ก.จะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อโรงสกัดและเอกชนผู้ที่มีคลังน้ำมันและตุนน้ำมันไว้หรือไม่ เป็นที่ต้องจับตา
เพราะมีรายงานว่ากลุ่มบุคคลพวกนี้ ได้ซื้อน้ำมันเก็บเอาไว้ในสต็อกที่ราคา 14-15 บาท ต่อ ก.ก. หากนำมาขายต่อก็จะได้กำไร 2.5 – 3.5 บาทต่อ ก.ก.เป็นอย่างต่ำ เมื่อขายน้ำมันจำนวน 1.1 แสนตัน ก็จะฟันกำไรไปเหนาะๆประมาณ 275- 385 ล้านบาท โดยผลประโยชน์ไม่ตกถึงเกษตรกรตามเคย
มีข่าวแว่วๆมาว่าก่อนที่จะมีการเปิดให้เอกชนยื่นซองเสนอราคาล็อตใหม่ สัปดาห์ที่ผ่านมามีคนทำเงินหล่นแถวๆสุราษฎร์ธานีถึง 80 ล้านบาท ใครเป็นใคร ตรวจสอบไม่ยาก หากลงมือทำจริงจัง
ก็ฝากถึงท่านนายกรัฐมนตรี ท่านรัฐมนตรีพลังงาน , ป.ป.ช. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดูบทเรียนจากการประมูลล็อตแรก และทบทวนการประมูลล็อต 2 หรือไม่
หากยังมีการประมูลล็อตใหม่ ก็เกรงว่า รัฐเสียค่าโง่ ซ้ำเป็นรอบที่สอง อย่างนี้เค้าเรียกว่า โง่ซ้ำโง่ซ้อน