‘โรลส์รอยซ์’มั่นใจศักยภาพไทยในอุตฯการบินอาเซียน

‘โรลส์รอยซ์’มั่นใจศักยภาพไทยในอุตฯการบินอาเซียน

ไออาต้า คาดว่า ในปีนี้การเดินทางทางอากาศจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 7% สูงกว่าช่วง 20 ปีที่ผ่านมาถึง 1.5% และเอเชียแปซิฟิกจะเติบโตถึง 9.5%

เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จัดการประชุมสุดยอดอุตสาหกรรมอากาศยานและการซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศไทย ปี 2562 (Aerospace & MRO Summit Bangkok 2019) ซึ่งเป็นเวทีผู้แทนจากบริษัทชั้นนำทั้งในและจากต่างประเทศเกี่ยวกับธุรกิจการบิน อาทิ โบอิง แอร์บัสกรุ๊ป โรลส์รอยซ์ ไทรอัมพ์กรุ๊ป และซีเนียร์ แอโรสเปซ ร่วมแสดงวิสัยทัศน์ทางเทคโนโลยีการบินให้กับบริษัทที่มารับช่วงผลิตของไทยกว่า 200 ราย เพื่อยืนยันความพร้อมสู่ธุรกิจการบินที่ขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในทุก ๆ ปี 

ฮิวจ์ วนิชประภา กรรมการผู้จัดการบริษัทโรลส์รอยซ์ ประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจการบินและอุตสาหกรรมอากาศยานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีแนวโน้มการเติบโตสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกในระยะ 10 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในจีนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากเดิมที่ตลาดธุรกิจการบินอยู่ในยุโรป อเมริกา และละตินอเมริกา เนื่องจากการขยายตัวทางธุรกิจของสายการบินโลคอสสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) คาดว่า ในปีนี้การเดินทางทางอากาศจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 7% สูงกว่าช่วง 20 ปีที่ผ่านมาถึง 1.5% และภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะเติบโตถึง 9.5%

ขณะเดียวกัน ตลาดการบินยังมีความต้องการในด้านการซ่อมบำรุงอากาศยาน (เอ็มอาร์โอ) มากขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งในเรื่องบริการดูแลรักษา ซ่อมแซม และการผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ โดยจะเห็นว่า มูลค่าการดำเนินงานด้านซ่อมบำรุงเครื่องบินของโรลส์รอยซ์ในทุก ๆ 5 ปีได้เพิ่มขึ้น 2 เท่า เนื่องด้วยเครื่องยนต์ของโรลส์รอยซ์ทุกลำจะได้รับการดูแลรักษาจากสัญญาบริการของ TotalCare โดยในปี 2554 มีมูลค่า 7 ล้านดอลลาร์ จากนั้นในปี 2559 มีมูลค่าสูงขึ้นเป็น 16 ล้านดอลลาร์

"ทุกสายการบินต้องการให้บริษัทที่มีเทคโนโลยีการบินที่ดีที่สุด อย่างโรลส์รอยซ์เข้ามาช่วยดูแลรักษาเครื่องบิน แต่งานด้านการวิจัยและบริการ ส่วนใหญ่โรลส์รอยซ์จะส่งต่อให้กับบริษัทเอาท์ซอร์ส  โดยมองว่า ศูนย์เอ็มอาร์โอที่สนามบินอู่ตะเภาจะเป็นโอกาสให้กับบริษัทและนักลงทุนที่เข้ามาใหม่ได้ใช้โอกาสนี้เข้าไปมีส่วนแบ่งทางธุรกิจ" ฮิวจ์ระบุ

ปัจจุบัน โรลส์รอยซ์ได้ร่วมมือกับการบินไทย จัดตั้งศูนย์ซ่อมเครื่องยนต์ Rolls Royce TRENT 700 และ TRENT 1000 ที่สนามบินดอนเมือง นอกจากจะซ่อมบำรุงฝูงบินของการบินไทยแล้ว ยังสนับสนุนเทคโนโลยี และให้บริการกับสายการบินลูกค้า เพื่อสร้างรายได้ให้การบินไทยอีกด้วย

ฮิวจ์ มองว่า ข้อควรพิจารณาต่อโอกาสทางธุรกิจของอุตสาหกรรมอากาศยาน ทั้งการรับจ้างผลิตจากสายการบินต่าง ๆ แบบ OEMs และการซ่อมบำรุงอากาศยานในประเทศไทย เป็นในเรื่องทรัพยากรมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ช่างเครื่องยนต์ ช่างเทคนิค และเจ้าหน้าที่ผลิตชิ้นส่วนเครื่องบิน ที่จะเข้ามาสนับสนุนในสายงานการซ่อมบำรุงนี้ 

ขณะที่ศูนย์เอ็มอาร์โอที่สิงคโปร์เป็นฐานใหญ่ในกิจการดังกล่าว และมีศักยภาพระดับภูมิภาค ทั้งเทคโนโลยีชั้นสูง และวิศวกรการบิน แต่สิงคโปร์ก็ยังขาดบุคลากรแผนกช่าง โดยส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าเจ้าหน้าที่ช่างจากไทย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย 

ส่วนประเทศมีความพร้อมในทุกด้าน เพียงแต่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจัง ในเรื่องอุปกรณ์ฝึกหัดการซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ และชิ้นส่วนเครื่องบิน เพื่อให้สามารถผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดเอ็มอาร์โอในประเทศ และออกสู่ตลาดเอ็มอาร์โอในภูมิภาค ทั้งยังกระตุ้นให้ตลาดเอ็มอาร์โอเติบโตเพิ่มขึ้นอีกด้วย

"ถ้าถามว่า อุตสาหกรรมอากาศยานจะเกิดขึ้นในไทยได้จริงไหม ผมมองว่า ประเทศไทยมีการดำเนินการในเรื่องนี้มากว่า 60 ปีแล้ว ทั้งสุวรรณภูมิและดอนเมืองเป็นสนามบินที่มีเครื่องบินขึ้นลงมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และเมื่อเครื่องบินมาจอดพักก็ต้องการซ่อมบำรุง ผมเห็นโอกาสทางธุรกิจตรงจุดนี้ เพราะการซ่อมบำรุงเครื่องบินทั้งลำสนนราคาอยู่ที่ 10 ล้านดอลลาร์ต่อลำ ซึ่งโรลส์รอยซ์เคยซ่อมบำรุงเครื่องบินในไทยประมาณ 100 ลำต่อปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับศักยภาพและขนาดการลงทุนในศูนย์เอ็มอาร์โอของไทย เพื่อให้สามารถรองรับการซ่อมบำรุงอากาศยานจากประเทศใกล้เคียง และในภูมิภาคอาเซียนได้" กรรมการผู้จัดการโรลส์รอยซ์ ประเทศไทยกล่าว

ด้าน ไคร์รีล สวอบต์ หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของบริษัทแอร์บัส ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า แอร์บัสมีความใฝ่ฝันและมุ่งมั่นในการพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมอากาศยานขึ้นในประเทศไทยอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องประกอบด้วยต้นทุนด้านทรัพยากรมนุษย์ นวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงาน โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจการบินในยุคดิจิทัล

ขณะนี้ แอร์บัสได้ให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีการบิน ซึ่งล่าสุดได้ร่วมกับสถาบันการบินพลเรือน จัดตั้งศูนย์วิจัย Smart Hangar ภายในโครงการศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินและอวกาศอู่ตะเภา รวมไปถึงจะร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในงานซ่อมบำรุงอากาศยาน และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหวังช่วยอำนวยความสะดวกต่อการซ่อมบำรุงและดูแลรักษาอากาศยานในอนาคต 

"แอร์บัสยังร่วมมือกับการบินไทย จัดตั้งโรงซ่อมบำรุงอัจฉริยะ ที่ใช้เทคโนโลยี Smart Hangar แบบ 3D ที่มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งศูนย์ฝึกอบรมช่างซ่อมบำรุงที่ผลิตช่างฝีมือ และนายช่างอากาศยาน ตามมาตรฐานระดับสากล รองรับการขยายตัวของธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานในอนาคต ทั้งการบินไทยและแอร์บัส หวังให้อู่ตะเภาก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเอ็มอาร์โอ ระดับเวิลด์คลาสอันดับ 1 ของโลก นอกจากนี้ยังเป็นการมอบโอกาสที่ดีทางธุรกิจให้กับบริษัทพันธมิตรและซัพพลายเออร์ทางด้านการบินได้หลายบริษัท" สวอบต์กล่าว

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีชั้นสูงของแอร์บัสที่นำมาใช้ในศูนย์เอ็มอาร์โอที่อู่ตะเภา เป็นเทคโนโลยีสแกนตรวจสอบขั้นสูง สำหรับใช้ในการวิเคราะห์และพยากรณ์ เพื่อกำหนดแผนการบำรุงรักษาอากาศยานล่วงหน้า และยังช่วยให้ช่างเทคนิคแก้ไขได้ตรงจุดอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ เทคโนโลยีนี้ได้ช่วยลดต้นทุนและคิดคำนวนค่าซ่อมบำรุงที่เหมาะสม และความปลอดภัยในการให้บริการ ตั้งแต่การซ่อมบำรุงในลานจอด ไปถึงการซ่อมบำรุงใหญ่อีกด้วย