ออกม.44สางปมค่าโดยสาร 'บีทีเอส' สายสีเขียวส่วนต่อขยาย
คสช.งัด ม.44 เร่ง กทม.จ้างเอกชนเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการ สางปมค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว และส่วนต่อขยาย เจรจา “บีทีเอส” ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยอาศัยมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) ดำเนินการจ้างผู้ประกอบการเอกชนเพื่อติดตั้งระบบรถไฟฟ้าจัดการเดินรถไฟฟ้า และบริหารการเดินรถไฟฟ้าโครงการส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
เพื่อแก้ปัญหาการจราจรและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน โดยให้คำนึงถึงการให้ประชาชนได้ใช้บริการรถไฟฟ้าโดยเร็ว สะดวก และประหยัดค่าโดยสาร รวมทั้งเชื่อมต่อการเดินรถกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต -อ่อนนุช และช่วงสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ - สะพานตากสิน รวมไปถึงส่วนต่อขยายช่วงสถานีสะพานตากสิน – สถานีบางหว้า และช่วงสถานีอ่อนนุช – สถานีแบริ่ง ซึ่งการจ้างดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นการร่วมลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน
นอกจากนี้ เพื่อให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และส่วนต่อขยาย สามารถเดินรถแบบต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน มีการกำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นไปอย่างเหมาะสม ให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงานประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อัยการสูงสุด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงินและด้านระบบรถไฟฟ้า ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งด้านละหนึ่งคน เป็นกรรมการ และปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นกรรมการและเลขานุการ
โดยคณะกรรมการมีหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร รวมถึงหลักเกณฑ์อื่นเพื่อประโยชน์ในการรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โครงการส่วนต่อขยายช่วงสถานีสะพานตากสิน-สถานีบางหว้า และช่วงสถานีอ่อนนุช-สถานีแบริ่ง และโครงการส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และดำเนินการเจรจาร่วมกับผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว คือ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (บีทีเอส) ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการ
อย่างไรก็ดี เมื่อคณะกรรมการดำเนินการเจรจากับเอกชนแล้วเสร็จ ให้ดำเนินการแก้ไขสัญญาสัมปทานกับผู้รับสัมปทานดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน โดยการดำเนินการนี้ ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของรัฐ และประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนหรือผู้ใช้บริการ ความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้บริการ การประหยัดค่าโดยสาร และการแบ่งปันผลประโยชน์ต่อภาครัฐอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม
ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อสรุปทั้งหมดแล้ว ให้ กทม.เสนอร่างสัญญาร่วมลงทุนฉบับแก้ไขต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนส่งสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างสัญญาดังกล่าว และเมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทบ นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบต่อไป
ด้านนายอาณัติ อาภาภิรม กรรมการที่ปรึกษา บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาบีทีเอสเจรจาเรื่องการกำหนดอัตราค่าโดยสารร่วมกับ กทม.มาโดยตลอด แต่ยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ ขอให้รอดูรายละเอียดสัญญาจากทางภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะมีการชี้แจงเร็วๆ นี้