แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

กรมศิลปากร นำชมแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

เมื่อวันที่ 16 มี.ค.62 กรมศิลปากร จัดโครงการสื่อมวลชนสัญจร นำสื่อมวลชน ศึกษาดูงานแหล่งโบราณคดี โบราณสถาน รวมทั้งการบรรยายประวัติความเป็นมา และความสำคัญของสระน้ำทั้งสี่แหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ 4 แห่งในสุพรรณบุรี ตามโบราณราชประเพณีที่ใช้เป็นน้ำสรงมุรธาภิเษก ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ตั้งแต่สมัยอยุธยา ในท่าเสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

นายอรุณศักดิ์ กิ่งมณี รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า สระศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติตั้งแต่พ.ศ. 2478 และมีการกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน เมื่อปีพ.ศ. 2548 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 122 ตอนพิเศษ 98 ง. วันที่ 22 เม.ย ปีพ.ศ.2548 มีพื้นที่โบราณสถานประมาณ 45 ไร่ 70 ตารางวา ซึ่งราวปีพ.ศ. 2513-2514 กรมศิลปากรดำเนินการขุดลอกสระศักดิ์สิทธิ์มาแล้วครั้งหนึ่งและปลูกต้นไม้เพิ่มเติมกว่า 800 ต้น แต่เมื่อเวลาผ่านมานาน สภาพของสระศักดิ์สิทธิ์ก็ทรุดโทรมลงไปอีก

กระทั่งปีพ.ศ. พ.ศ. 2549 จ.สุพรรณบุรี ร่วมกับสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี กรมศิลปากร ได้ดำเนินการอนุรักษ์ และพัฒนาโบราณสถานแห่งนี้อีกครั้ง โดยทำการขุดลอกสระทั้งหมด รวมถึงปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ให้มีความงดงาม อีกทั้งยังได้ถ่ายโอนภารกิจให้กับอบต.ท่าเสด็จเป็นผู้ดูแลรักษา ปัจจุบันแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ทั้งสี่สระมีความงดงามและทรงคุณค่าดังที่ปรากฏสู่สายตาสาธารณชน

รองอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวต่อไปว่า ส่วนขั้นตอนในการนำน้ำศักดิ์สิทธิ์จะมีการทำพิธีพลีกรรมตักน้ำ ที่บริเวณสระน้ำทั้ง 4 สระ ได้แก่ สระแก้ว สระคา สระยมนา และสระเกษ ในวันที่ 6 เม.ย. นี้ตามกำหนดการณ์จากสำนักพระราชวัง และประกอบพิธีเสกน้ำด้วยพระพุทธมนต์หรือเทพมนต์ ที่วิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร จ.สุพรรณบุรี เพื่อความเป็นสวัสดิมงคล ในลำดับต่อไป ก่อนที่จะนำไปรวมกับน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์แหล่งอื่นๆ เพื่อนำใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดย อบต.ท่าเสด็จ ได้ดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบเรียบร้อยแล้ว