กนช.กางแผนรับมือ 'แล้ง' เฝ้าระวัง 3 เขื่อนปริมาณน้ำน้อยเสี่ยงวิกฤติ

กนช.กางแผนรับมือ 'แล้ง' เฝ้าระวัง 3 เขื่อนปริมาณน้ำน้อยเสี่ยงวิกฤติ

กนช.กางแผนรับมือภัยแล้งหลังข้อมูลชี้ปริมาณน้ำพื้นที่ภาคอีสาน–กลาง น้อยกว่าช่วงภัยแล้งปี 57 เฝ้าระวัง 3 เขื่อนปริมาณน้ำน้อยเสี่ยงวิกฤติ ขณะที่ปภ.ประสาน 7,000 ศูนย์ย่อยเตรียมรับมือภัยแล้วทั่วประเทศพร้อมให้ความช่วยเหลือพื้นที่ขาดแคลนน้ำ

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผย ภายหลังการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า สทนช.ได้รายงานสถานการณ์น้ำปัจจุบัน การวางแผนการบริหารจัดการน้ำ พร้อมทั้งมาตรการการแก้ไขปัญหาความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2561/2562 ต่อที่ประชุม กนช. รับทราบโดยคาดการณ์ว่าในปี 2562 สถานการณ์ภัยแล้งมีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากกว่าในปี 2557 ที่เคยมีปัญหาภัยแล้งเนื่องจากประเทศไทยได้รับอิทธิพลจาก ปรากฎการณ์เอลนีโญจะยังคงมีผลต่อเนื่องถึงเดือนม.ย. 2562 โดยปัญหาภัยแล้งจะส่งผลกระทบมากโดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง โดยปริมาณน้ำใช้การได้ซึ่งคาดการณ์ ณ วันที่ 1 พ.ค.2562 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 จะพบว่าในปี 2562มีปริมาณน้ำใช้งานน้อยกว่าในปี 2557

โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 1,187 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มีปริมาณน้ำใช้การได้ 1,400 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนภาคกลางมีปริมาณน้ำใช้การได้ในปีนี้เท่ากับ 226 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนปี 2557 มีปริมาณน้ำใช้การได้ 302 ล้านลูกบาศก์เมตร อย่างไรก็ตามในพื้นที่ภาคกลางสามารถนำปริมาณน้ำใช้การจากภาคเหนือที่มีกว่า 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตรมาใช้การได้ทำให้ไม่ต้องกังวลกับปัญหาภัยแล้งมากนักเนื่องจากฝนจะกลับมาเริ่มตกในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค.

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่ากรมชลประทานได้มีการติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิดพบว่า ณ วันที่ 10 มี.ค.2562 มีปริมาตรน้ำที่ใช้ได้ทั้งประเทศรวม 26,617 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งเป็นจากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง 23,202 ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 412 แห่ง 2,277 ล้านลูกบาศก์เมตร และแหล่งเก็บน้ำอื่นๆ 1,138 ล้านลูกบาศก์เมตร

นายชัยณรงค์ วาสนะสมสิทธิ์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่าเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้ ปภ.ได้มีการเตรียมความพร้อมโดยประสานไปยังศูนย์ปภ.ย่อยทั้งระดับอำเภอ 878 อำเภอทั่วประเทศ และระดับตำบล 7,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ ให้เฝ้าระวังสถานการณ์ภัยแล้ง และแจ้งมายังสำนักงานเขตที่มี 18 แห่งซึ่งมีความพร้อมในส่วนของอุปกรณ์ รถส่งน้ำ ท่อส่งน้ำ โดยพร้อมจะให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน