สลด! พบ 'โลมาอิรวดี' เกยตื้นที่เกาะทะลุ
สลด! พบซาก "โลมาอิรวดี" เพศผู้ยาว 1.5 เมตร เกยตื้นที่เกาะทะลุ
วันนี้ (9 มกราคม 2561) นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ได้รับแจ้งจากนายเผ่าพิพัธ เจริญพักตร์ เลขามูลนิธิฟื้นฟูทรัพยากรทะเลสยาม ว่าพบสัตว์ทะเลหายากลอยตายที่หน้าชายหาดเกาะทะลุ ไฮแลนด์ รีสอร์ท อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ และได้ลากขึ้นมาไว้ที่บริเวณชายหาดเกาะทะลุ โดยเบื้องต้นผู้แจ้งสงสัยว่าเป็น “ซากพะยูน” แต่เมื่อส่งภาพซากสัตว์ทะเลให้ทางเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายากศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง ชุมพร( ศวทก.) ตรวจสอบพบว่าเป็นซาก “โลมาอิรวดี” เพศผู้ ยาวประมาณ 1.5 เมตร ซึ่งอายุอยู่ในช่วงวัยเด็กถึงวัยรุ่น สภาพเน่ามาก โดยเจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจสอบ และชันสูตรซากอีกครั้ง ในวันที่ 10 มกราคม 2561 ต่อไป
นายโสภณ ทองดี รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) กล่าวว่า “โลมาอิรวดี” เป็นโลมาที่พบได้ทั้งในทะเล น้ำกร่อย และขึ้นไปถึงน้ำจืด แพร่กระจายในเขตอินโดแปซิฟิก แม่น้ำอิรวดี แม่น้ำโขง อ่าวเบงกอล ประเทศไทยพบได้ทั่วไปตามชายฝั่งทะเลทั้งสองฝั่งพบมากที่ จ.ตราด จ.ฉะเชิงเทรา จ.นครศรีธรรมราช จ. ชลบุรี จ.สุราษฎร์ธานี และพบได้ตามแนวชายฝั่ง จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยอาจพบรวมฝูงกับโลมาชนิดอื่นๆเช่น โลมาหลังโหนก โลมาหัวบาตรหลังเรียบ เป็นต้น กลุ่มประชากรที่อาศัยในน้ำจืดที่พบในประเทศไทยได้แก่ โลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา ซึ่งอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ภัยคุกคามของโลมาอิรวดีนอกจากการเจ็บป่วยในธรรมชาติแล้ว เครื่องมือประมงยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โลมาชนิดนี้เกยตื้น
ในประเทศไทยโลมาอิรวดี เป็นสัตว์คุ้มครองที่ได้รับการคุ้มครองทางกฎหมาย นอกจากนี้ในปัจจุบัน IUCN ได้ยกระดับสถานภาพของโลมาอิรวดีจากเป็นกลุ่มประชากรที่มีเสี่ยงหรือง่ายต่อการสูญพันธุ์เป็นใกล้สูญพันธุ์ อนึ่งเพื่อลดการเกยตื้นทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ได้สรุปสาเหตุปัญหา และมาตรการลดผลกระทบจากการเกยตื้นของสัตว์ทะเลหายากขึ้น โดยจะมีการชันสูตรเพื่อระบุสาเหตุการตายของสัตว์ทะเลหายาก และมีการศึกษาการแพร่กระจายและถิ่นที่อยู่อาศัยเพื่อใช้ในการวางแผนการอนุรักษ์ และนำไปใช้ในการเตรียมการในการกำหนดมาตรการและพื้นที่คุ้มครอง
นอกจากนี้ทาง ทช. ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงาน/คณะกรรมการสัตว์ทะเลหายากเพื่อช่วยในการวางแผนการดำเนินงานในการอนุรักษ์ และมีการสร้างเครือข่ายและกระบวนการมีส่วนร่วมจากชุมชนเพื่อให้งานการช่วยเหลือสัตว์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการจัดตั้งศูนย์ช่วยชีวิต (Rescue Center) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการช่วยเหลือสัตว์ทะเล