ชี้อาคารทรุดย่านรามคำแหง พบความบกพร่องของเสาเข็ม

ชี้อาคารทรุดย่านรามคำแหง พบความบกพร่องของเสาเข็ม

วสท.เข้าตรวจอาคารทรุดย่านรามคำแหง กั้นเป็นพื้นที่อันตรายห้ามเข้า-พบความบกพร่องของเสาเข็ม

จากกรณีเหตุอาคารพาณิชย์ สูง 2 ชั้น ความกว้างประมาณ 6 เมตร เปิดเป็นที่พักอาศัย บริเวณด้านหน้าของอาคารเกิดทรุดตัวลงมา มีความลึกประมาณ 1 เมตร ภายในซอยรามคำแหง 39 แยก 23 ถนนรามคำแหง แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง กทม. ทำให้ผู้ที่พักอาศัยต่างพากันอพยพหนีตายกันอลหม่าน และมีผู้อยู่อาศัยได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 1 ราย เหตุเกิดเมื่อเวลา 22.12 น.ของวันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา

ล่าสุด เมื่อเวลา 09.40 น. วันที่15 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บริเวณที่เกิดเหตุมีเจ้าหน้าที่สํานักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เจ้าหน้าที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยของสำนักเขตวังทองหลาง เจ้าหน้าที่ตำรวจสน.วังทองหลาง มาตั้งกองอำนวยการช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัย พร้อมทั้งมีการมอบเครื่องอุปโภค บริโภคมีชาวบ้านที่ประสบภัย ขณะเดียวกันต่างมีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงมายืนดูและพูดคุยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

นายนนท์ประวิทย์ จันริสา อายุ 30ปี พนักงานบริษัท โอสถสภา จำกัด ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและอยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว เปิดเผยว่า ตนอาศัยอยู่ที่อาคารดังกล่าวมาประมาณ 2 ปี ทั้งนี้ก่อนเกิดเหตุเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. ตนกลับจากที่ทำงานเพื่อพักผ่อน ขณะที่นอนอยู่ได้ยินเสียปูนลั่นคล้ายกับรถสิบล้อวิ่งผ่าน จึงเรียกเพื่อนข้างห้องมาดูพร้อมกับพูดคุยกันว่า กลัวอาคารจะถล่ม จึงไปตามเจ้าของอาคารมาดู เมื่อมาดูเจ้าของอาคารบอกว่ายังอยู่ได้ พวกตนจึงเข้าไปพักผ่อนต่อ ต่อมาเวลาประมาณ 21.50 น. ก็ได้ยินเสียงปูนลั่นอีกครั้ง ซึ่งเสียดังมาก พร้อมกับท่อประปาแตก จากนั้นอาคารก็ทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว ตนจึงรีบวิ่งหนีตายออกมาจากตัวอาคาร ทำให้ได้รับบาดเจ็บข้อเท้าขวาเคล็ด หัวเข่าซ้ายเป็นแผลถลอก โดยก่อนหน้านี้เคยมีเพื่อนบ้านเล่าให้ฟังว่า อาคารดังกล่าวมีอาการพื้นลั่นอยู่เรื่อยๆแต่ไม่มาก มีรอยร้าวตามกำแพง ซึ่งไม่คิดว่าจะเกิดเหตุถล่มลงมาอย่างรวดเร็วอย่างนี้

ด้าน นางปาลิดา ว่องวิชญกร กรรมการชุมชนทรัพย์สินใหม่ กล่าวว่า พื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ของสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ที่ชาวบ้านเข้ามาเช่าที่ปลูกบ้านเพื่ออยู่อาศัย ส่วนอาคารหลังเกิดเหตุนั้นถูกสร้างขึ้นมามากกว่า 20 ปี เพื่อเป็นห้องพักอาศัย ซึ่งก่อนหน้านี้ประมาณ 1 เดือน เกิดการทรุดตัวเพียงเล็กน้อยทำให้ท่อน้ำประปาแตก เจ้าของอาคารจึงให้ช่างมาซ่อมท่อ ต่อมาก็มีอาการพื้นลั่นมาเรื่อยๆแต่เกิดขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น จึงไม่ค่อยมีใครสนใจ ทั้งนี้อาคารหลังดังกล่าวสร้างบนที่ดินซึ่งเคยเป็นท้องนาและบึงเก่า ลักษณะเป็นการสร้างแบบยกเสาเข็มและทำคานด้านบน ก่อนจะสร้างอาคาร ไม่ได้มีการถมที่แล้วสร้างเหมือนอาคารในปัจจุบัน เนื่องจากที่ดินตรงนี้เป็นดินอ่อนจึงอาจจะทำให้เกิดอาคารทรุดได้ เพราะบ้านตนที่ปลูกไว้ก็มีลักษณะเอียงเช่นเดียวกับ

ต่อมาเวลา 10.30 น. วันเดียวกัน นายยุทธพันธุ์ มีชัย เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ได้เดินทางเข้าตรวจสอบอาคารหลังเกิดเหตุ

นายยุทธพันธุ์ เปิดเผยกว่า ทางผู้ว่าฯกทม. มีความเป็นห่วงอย่างมาก จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายลงมาดูแลอย่างเต็มที่ ซึ่งการตรวจสอบหลักๆในวันนี้จะดูประมาณ 3 เรื่อง คือ 1.การทรุดดังกล่าวของอาคารจะส่งผลกระทบกับพื้นที่ใกล้เคียงหรือไม่ อาทิ อาคารใกล้เคียงและถนนที่ใช้สัญจร ถ้าประเมินออกมาว่าไม่มีผลกระทบก็จะให้เป็นหน้าที่ของเจ้าของอาคารในการตัดสินใจว่าจะเำเนินการอย่างไร แต่ถ้าเจ้าของไม่สามารถดำเนินการได้ก็จะเป็นหน้าที่ของ กทม. 2.เวลาที่ใช้ในการดำเนินการซึ่งต้องรอผลการประเมินและความพร้อมของทั้ง กทม.และเจ้าของอาคาร และ 3.การดูแลเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นนั้นคาดว่าในพื้นที่ใกล้เคียงไม่ได้รับผลกระทบ ส่วนเรื่องคดีความนั่นต้องมีการรวบรวมพยานหลักฐานก่อนจึงมาหารือกันว่า จะดำเนินการอย่างไร นอกจากนี้การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทาง นางจิตรลดา ถนอมศักดิ์ ผู้อำนวยการเขตวังทองหลาง ได้เดินทางมาตั้งแต่ช่วงเช้าเพื่อมอบเครื่องอุปโภค บริโภค เป็นการช่วยเหลือในเบื้องต้น

ชี้อาคารทรุดย่านรามคำแหง พบความบกพร่องของเสาเข็ม

ด้าน ดร.ธเนศ เปิดเผยหลังจากการตรวจสอบอาคารดังกล่าวในเบื้องต้น ว่า อาคารดังกล่าวถูกสร้างแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ชั้น และได้ทรุดตัวลงไปด้านขวาของอาคารลึกลงไปกว่า 1 เมตร และลาดเอียงไปทางซ้ายลึกเกือบ 2 เมตร ซึ่งการทรุดตัวในลักษณะที่อาจจะมีความพกพร่องของเสาเข็มและเสาตอม่อที่เป็นฐานราก การทรุดตัวของอาคารในลักษณะนี้อาคารจะยังทรุดตัวลงไปเรื่อยจนกว่าจะถึงจุดหนึ่งจะชลอตัวลง ซึ่งขึ้นอยู่กับแรงดันของพื้นดินด้านล้าง ทั้งนี้อาคารหลังดังกล่าวมีรอยแตกร้าวจากด้านขวา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าก่อนหน้านี้อาคารมีการทรุดตัวจากทางด้านซ้ายลงไปก่อนสักระยะหนึ่งแล้ว แต่หลายคนอาจจะไม่ทราบ

อย่างไรก็ตามจะขอเวลาในการตรวจสอบเบื้องต้นอย่างน้อย 3 ชั่วโมง เพื่อดูว่าอาคารมีการทรุดตัวอย่างต่อเนื่องหรือไม่ ทั้งนี้ต้องขอปิดพื้นที่ดังกล่าวไว้เป็นพื้นที่อันตราย ห้ามใครเข้า จนกว่าจะตรวจสอบได้ว่า อาคารชะลอการทรุดตัวแล้ว จึงจะให้ผู้อยู่อาศัยเข้าไปทรัพย์สินได้

ชี้อาคารทรุดย่านรามคำแหง พบความบกพร่องของเสาเข็ม