'บีโอไอ'เผยยอดขอส่งเสริมการลงทุนปี59 ทะลุเป้า

'บีโอไอ'เผยยอดขอส่งเสริมการลงทุนปี59 ทะลุเป้า

"บีโอไอ" เผยยอดขอลงทุนปี59 อยู่ที่ 1,546 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 584,350 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ สะท้อนถึงความมั่นใจของนักลงทุน

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงภาพรวมการลงทุนปี 2559 ว่า มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 1,546 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 584,350 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 550,000 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าการขอรับส่งเสริมการลงทุนเมื่อปี 2558 โดยจำนวนโครงการที่ขอรับส่งเสริมปี 2559 สูงกว่าถึงร้อยละ 56 (ปี 2558 มีจำนวน 988โครงการ) ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนปี 2559 สูงกว่าถึงร้อยละ 196 (ปี 2558 มีมูลค่า 197,740 ล้านบาท) สะท้อนถึงความมั่นใจของนักลงทุนและทิศทางการเข้ามาลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมขั้นสูงที่จะเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย เพราะร้อยละ 51 เป็นการขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย

สำหรับกลุ่มที่มีมูลค่าขอรับส่งเสริมมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน มูลค่าเงินลงทุน 88,511 ล้านบาท อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าเงินลงทุน 64,918 ล้านบาทอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ มูลค่าเงินลงทุน 46,986 ล้านบาท อุตสาหกรรมการเกษตร มูลค่าเงินลงทุน 45,892 ล้านบาท อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 21,398 ล้านบาท อุตสาหกรรมการแพทย์ 7,800 ล้านบาทอุตสาหกรรมดิจิทัล 5,173 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาบีโอไอพิจารณาอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนโครงการต่าง ๆ รวม 1,688 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 861,340 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมก่อนปี 2559 และโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมปี 2559 และคาดว่าโครงการกลุ่มนี้จะสามารถลงทุนและเปิดดำเนินการได้ภายใน 1-2 ปีนับจากนี้ ซึ่งหากเปิดดำเนินการครบจะก่อให้เกิดการสร้างงานคนไทยถึง 139,000 ตำแหน่ง เกิดการใช้วัตถุดิบที่ผลิตในประเทศไทย 697,000 ล้านบาทต่อปี และสร้างรายได้จากการส่งออกถึง 877,000 ล้านบาท โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และ จีน ตามลำดับ

ขณะที่ปี 2560 บีโอไอจะมุ่งพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้ความสามารถและสรรหาบุคลากรที่มีทักษะและความรู้ความสามารถ เพื่อมาพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งและพร้อมแข่งขัน ส่วนแนวโน้มการลงทุนปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องและกำหนดเป้าหมายการส่งเสริมการลงทุนปีนี้ไว้ที่มูลค่า 600,000 ล้านบาท โดยปัจจัยสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนการลงทุนของภาคเอกชนปีนี้ คือ การลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โอกาสการลงทุนในกิจการผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำแนวทางในการส่งเสริมการลงทุน และการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง เช่น อากาศยานและชิ้นส่วน เครื่องมือแพทย์ และยา รวมถึงการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมกลุ่มนี้ไปยังกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยที่จะก้าวเข้ามารับช่วงการผลิต หรือร่วมทำธุรกิจด้วย รวมถึงการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งอยู่ระหว่างการเตรียมมาตรการส่งเสริมการลงทุน ส่วนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน และร่าง พ.ร.บ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งอยู่ระหว่างการรอโปรดเกล้าฯ ก็เป็นปัจจัยที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนกลุ่มใหม่ ๆ โดยเฉพาะด้านการวิจัยพัฒนา นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีขั้นสูง ที่ไม่เคยมีการลงทุนในไทยมาก่อนให้เข้ามาลงทุน