เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง-อีสาน ค้านระเบิดหินแม่น้ำโขง

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง-อีสาน ค้านระเบิดหินแม่น้ำโขง

เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง-อีสาน จี้รัฐบาลทบทวนโครงการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง หลังมีมติเห็นชอบแผนพัฒนา

 การเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำโขง ด้วยการระเบิดเกาะแก่งเปิดร่องน้ำลึก ให้เรือบรรทุกสินค้าขนาด 500 ตันแล่นผ่านตลอดปี หวั่นกระทบระบบนิเวศน์-ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง และประชาชนริมแม่น้ำกว่า 8 ล้านคน

วันที่ 9 มกราคม 2559 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง-อีสาน ออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง หลังคณะรัฐตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาการเดินเรือระหว่างประเทศในแม่น้ำโขง ปี 2015 - 2025 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางพัฒนาการขนส่งทางน้ำระหว่างประเทศ ด้วยการสำรวจออกแบบ เพื่อระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขง เปิดร่องน้ำลึกให้เรือบรรทุกสินค้าขนาด 500 ตันแล่นผ่านได้ตลอดปี ซึ่งจะส่งผลต่อระบบนิเวศและความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง ที่ประชาชนในลุ่มน้ำโขงอาศัยสัตว์น้ำเป็นแหล่งอาหาร รวมทั้งจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและอธิปไตยของประเทศในเรื่องเขตแดน โดยทางเครือข่ายเห็นว่า มติ ครม.ดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิชุมชนโดยไม่มีการให้ข้อมูลข่าวสาร และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน นอกจากนี้ยังเห็นว่าการระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงจะมีผลกระทบข้ามพรมแดน เนื่องจากแม่น้ำโขงมี 6 ประเทศ ที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน

นายสุวิทย์ กุหลาบวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนพัฒนาชนบท (กป.อพช.อีสาน) กล่าวว่า หากมีการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงสิ่งที่จะได้รับผลกระทบอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้คือผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาวซึ่งมีความสำคัญมาก เพราะถ้าหากประเมินดูแล้วถามว่าประโยชน์ที่จะได้รับเกิดขึ้นกับใคร นอกจากการยกเรื่องของเศรษฐกิจมาอ้าง ล้วนแต่เป็นประโยชน์ต่อประเทศจีนเป็นหลักในการเข้ามาขนส่งสินค้า ไม่เพียงเท่านี้การระเบิดเกาะแก่งในแม่น้ำโขงยังจะส่งผลต่อความมั่นคงทางพรมแดน ซึ่งมีการถกเถียงกันมาก ที่ผ่านมาภาคประชาชนเคยคัดค้านเรื่องนี้มากว่า 10 ปี และในวันนี้ยังยืนยันจุดเดิมว่าหากรัฐบาลยังมีมติให้ดำเนินการในโครงการดังกล่าว รัฐบาลจะต้องเปิดให้มีการพูดคุยกันในวงกว้างมากขึ้น ต้องเข้าใจว่าต้นทุนที่ภาคประชาชนที่ไม่เห็นด้วยที่ได้ร่วมกันคัดค้านมีความสำคัญ ซึ่งรัฐบาลไม่ควรมองข้าม

“การตัดสินใจของรัฐบาลไทย ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน นอกจากนั้นยังมีผลกระทบด้านความมั่นคง หากมีการระเบิดเกาะแก่ง เพราะจะทำให้ร่องน้ำลึกเปลี่ยนไปและแม่น้ำโขงเป็นแหล่งจับปลาที่สำคัญระดับโลก โดยประชาชนริมแม่น้ำกว่า 8 ล้านคนต่างพึ่งพาอาศัยซึ่งในแต่ละปีสามารถจับปลาได้กว่า 2 ล้านตัน ดังนั้นการทำลายเกาะแก่งในแม่น้ำโขงจึงเท่ากับทำลายความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งขยายพันธุ์ปลาตามธรรมชาติที่ผ่านมาการเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยถกเถียงกันในเรื่องนี้มีน้อยมาก ล่าสุดมีเพียงตัวแทนทางจีนมาให้คำปรึกษากับกลุ่มชาวบ้านที่เชียงของว่าจะทำการระเบิดในรูปแบบไหน แต่รัฐบาลของบ้านเรากลับไม่มีการศึกษาในเรื่องนี้ อย่าลืมว่าแก่งเป็นตัวชะลอน้ำเหมือนกัน เมื่อน้ำถูกปล่อยมาจากจีนหรือจากเขื่อน หากมีการระเบิดแก่งผลกระทบที่ตามมาคือการพังทลายของตลิ่งโดยเฉพาะตามโค้งที่จะเกิดการกัดเซาะ ที่นำมาสู่การสูญเสียพรมแดนด้วย”

นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า แม้ตอนนี้โครงการจะอยู่ในขั้นตอนของการสำรวจเพื่อดูว่าจะระเบิดอย่างไร แต่เชื่อว่าตอนนี้ผู้รับชอบมีโมเดลหรือรูปแบบที่จะใช้ในการระเบิดเรียบร้อยแล้ว ซึ่งขั้นตอนการสำรวจนี้เองควรที่จะให้ภาคประชาชนได้รับทราบด้วยว่ากระบวนการเป็นอย่างไร ปัญหาเดิมที่ส่งผลกระทบเราก็เห็นอยู่แล้ว เช่น จากการสร้างเขื่อนไซยะบุรี ที่ส่งผลให้เกิดการสูญพันธุ์ของพันธุ์ปลา และหากในอนาคตจะมีเรือวิ่งผ่านถึง 500 – 600 เที่ยวจะต้องส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ

“รัฐบาลต้องสร้างทางเลือกของการพัฒนาแม่น้ำโขง โดยการรับฟังประชาชนที่อยู่ริมแม่น้ำโขงว่าเขามีแนวทางในการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างไร ที่ไม่ใช่การพูดถึงเพียงมิติของเศรษฐกิจ ถ้ารัฐจะอ้างเพียงว่าการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงเพื่อให้เรือพาณิชย์วิ่งผ่านได้ ผมถามว่าจีนเองก็มีข้อตกลงความร่วมมือกับลาวที่จะนำรถไฟมาใช้ในการขนส่งแล้ว ทำไมวันนี้นี้เราถึงยอมรับให้มีการทำลายแก่งเพียงเพื่อเศรษฐกิจที่ไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ รัฐบาลลองลงมาคุยกับภาคประชาชนบ้างว่าเขามีข้อเสนออะไร ข้อดีและข้อเสียหากมีการระเบิดแก่งอันไหนคุ้มกว่ากัน ดีกว่าการที่รัฐบาลไปกำหนดเอาเองฝ่ายเดียวโดยไม่มีทางเลือกให้ประชาชน”

ทั้งนี้ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขง-อีสาน ได้เรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโครงการดังกล่าว เพื่อยุติผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนคต โดยให้รัฐบาลทบทวนมติ ครม.ครั้งนี้และให้ยกเลิกแผนระเบิดแก่งเพื่อพัฒนาเส้นทางการเดินเรือของจีนทั้งหมด เพราะจะส่งผลเสียหายต่อระบบนิเวศและชาวบ้านในลุ่มน้ำโขงอย่างรุนแรง ให้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนข้อมูลในวงกว้าง เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนและคนในสังคม และการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ จะทำให้ปริมาณปลาในแม่น้ำโขงลดลง ดังนั้น รัฐบาลควรหาทางเลือกในการพัฒนาแม่น้ำโขงที่ไม่ทำลายธรรมชาติในแม่น้ำโขง