‘ZeekDoc’ ค้นหาหมอที่ใช่ ใกล้บ้าน

‘ZeekDoc’  ค้นหาหมอที่ใช่ ใกล้บ้าน

“อโรคยา ปรมาลาภา” การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ อย่างไรก็ตาม ทุกคนต่างก็รู้ดีว่าการเจ็บป่วยนั้นเป็นเรื่องที่วางแผนหรือควบคุมไม่ได้

ว่ามันจะเกิดขึ้นที่ไหน เวลาใด และเมื่อโรคภัยมันเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมต้องหาทางรักษา และหนีไม่พ้นกับคำถามที่ว่า แล้วจะไปหาหมอที่ไหนดี?

ทั้งนี้ในการค้นหาแพทย์ที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่ก็มักใช้วิธีสอบถามกับคนรู้จัก หรือโทรศัพท์ไปสอบถามจากสถานพยาบาลต่างๆ เมื่ออินเตอร์เน็ตเฟื่องฟูขึ้นก็นำไปสู่การเสิร์ซหากันในกูเกิลด้วยคีย์เวิร์ด ถ้าจะหาหมอกระดูกที่ไหนดี? อยากจะหาหมอหัวใจหมอคนไหนที่เก่ง? ฯลฯ


ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นที่มาของ “ZeekDoc” (ซีคด็อก) เว็บไซต์ที่ช่วยทำให้ทุกคนสามารถค้นหาหมอเฉพาะทางที่อยู่ใกล้ๆบ้าน และทำการนัดหมายได้ทันที


โคฟาวเดอร์ของทีมซีคด็อกประกอบด้วย วลัยพรรณ ฉันท์มิตรกุล , ประพนธ์ ชัยมัธยมผล และ พงศกร เลี่ยวศรีสุข ซึ่งต้องบอกว่าพวกเขารับรู้และเข้าใจในปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี


เนื่องจากตัวของ วลัยพรรณ เมื่อเรียนจบทางด้านเภสัชศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นก็ทำงานในแวดวงธุรกิจสุขภาพมาตลอด และมักจะได้รับคำถามจากเพื่อนฝูงมาโดยตลอดว่า เจ็บป่วยโรคนั้นโรคนี้ แล้วจะไปหาหมอที่ไหนดี?


ขณะที่ประพนธ์ แม้ว่าเขาจะเรียนจบทางด้านวิศวะคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ แต่มีโอกาสทำงานในธุรกิจสุขภาพเช่นกัน จึงได้เจอกับคำถามที่ไม่ต่างไปจากวลัยพรรณ


"สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ก็คือ คนไข้โดยเฉพาะคนต่างจังหวัดเดินทางเข้ามาในกรุงเทพตลอดเวลา ทั้ง ๆที่มีหมอเก่งอยู่ในจังหวัดของเขา แต่เพราะไม่มีใครแนะนำ พวกเราเลยคิดว่าประเทศไทยน่าจะมีแพลตฟอร์มที่ช่วยคนไข้สามารถค้นหาแพทย์เฉพาะทางที่อยู่ใกล้ๆ"


แน่นอนว่าในต่างประเทศมีธุรกิจที่มีแนวคิดในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นแล้ว เช่นที่อเมริกานั้นมี Zocdoc ส่วนที่สิงคโปร์ก็มี DocDoc เป็นต้น


"เราไปดูโมเดลจากหลายประเทศ ดูว่าของเขาเป็นอย่างไร มีฟีเจอร์อะไรบ้าง เพื่อนำเอามาปรับให้เหมาะสมกับประเทศไทย แต่แกนหลักๆจะคล้ายกัน คือช่วยค้นหาแพทย์และนัดหมายออนไลน์ แต่ที่เราทำพิเศษกว่าที่อื่นก็คือ ให้คนไข้สามารถเจาะลึกถึงอนุสาขาของแพทย์ได้ด้วย ที่ต่างประเทศเขาไม่ได้เจาะลึกเหมือนเรา"


ซึ่งคำว่าอนุสาขาถือเป็นจุดสำคัญ เพราะจะทำให้คนไข้รู้ว่าแพทย์คนไหนเหมาะจะรักษาโรคที่ตัวเองกำลังเป็นอยู่ ยิ่งอนุสาขาลึกมาก แพทย์ก็จะมีความชำนาญมากเป็นพิเศษ


"ยกตัวอย่างโรคกระดูกและข้อ ที่จะมีการแยกส่วนว่าเป็นสะโพก เข่า ข้อเท้า หรือแผนกหูคอจมูก แพทย์หูก็ดูเรื่อง บ้านหมุน เวียนหัว หรือเรื่องคอก็เป็นกล่องเสียง มะเร็ง ไทรอยด์ ซึ่งบางโรงพยาบาลอาจไม่มีแพทย์ครบในทุกๆอนุสาขา แต่ซีคด็อกจะทำให้รู้ว่ามีอยู่ที่ไหนบ้าง"


เพราะในความเป็นจริงการเดินทางเข้ามาในกรุงเทพก็ใช่ว่าจะทำให้โรคภัยหายขาด เนื่องจากไปพบแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญไม่ตรงกับโรคที่เป็นอยู่ ทำนองว่าไปหาแพทย์อายุรกรรมขณะที่ตัวเองเป็นโรคที่ซับซ้อนมากไปกว่านั้น มิหนำซ้ำคนไข้ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางจำนวนไม่น้อย


"เรายังพบด้วยว่ามีแพทย์หลายคนไปเปิดคลีนิคที่ต่างจังหวัดแล้วไม่มีคนไข้ก็เลยต้องปิดกิจการกลับมาอยู่ที่กรุงเทพใหม่ ซึ่งเป็นที่น่าเสียดาย "


เมื่อถามถึงความแตกต่างของปัญหาระหว่างไทยกับประเทศอื่นๆ พวกเขาอธิบายว่า ที่ประเทศอเมริกาการนัดพบแพทย์ถือว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก ต้องมีการนัดหมายกันนานหลายเดือน แต่คนไข้ที่นั่นต่างมีประกันสุขภาพไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงต้องการแค่พบแพทย์ให้เร็วที่สุดเท่านั้น ขณะที่ประเทศในแถบเอเชียอย่างเช่นอินโดนีเซียจะมีปัญหาคล้ายๆกับไทยคือไม่รู้จะหาหมอที่ไหนดี


"ซีคด็อกเป็นเว็บไซต์และในไม่ช้าจะมีแอพด้วยที่ทำให้คนไข้ใช้ค้นหาแพทย์ตรงกับความต้องการ และทำการนัดหมายโดยไม่ต้องโทรไปที่คอลเซ็นเตอร์ที่บางครั้งต้องรอสายนาน หรือถ้าเป็นคนไข้ต่างชาติก็อาจคุยกันไม่รู้เรื่อง เว็บเราจะมีทั้งภาษาไทยภาษาอังกฤษ ใช้ง่ายแค่กดปุ่ม เมื่อคนไข้จองเสร็จแล้ว เราจะมีระบบเตือนอัตโนมัติล่วงหน้า 1 วัน เพื่อไม่ให้พลาดการนัดหมายด้วย"


พวกเขามั่นใจว่าในฝั่งของดีมานด์ปัจจุบันมีอยู่อย่างมากมาย เห็นชัดจากร่องรอยการค้นหาแพทย์ทั้งในกูเกิลและในโซเชียลมีเดียต่างๆจำนวนมาก ซึ่งลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของซีคด็อก ก็คือคนที่ห่วงใยใส่ใจเรื่องสุขภาพและต้องการแพทย์เชี่ยวชาญที่ตรงกับโรคที่เป็น และมีประกันสุขภาพสามารถเบิกใช้สิทธิเมื่อใช้บริการที่โรงพยาบาลเอกชน


ส่วนในฝั่งของซัพพลายหรือหมอที่จะเข้ามาอยู่ในระบบข้อมูลนั้น ทีมของซีคด็อกจะมีการเช็คประวัติการศึกษาและประสบการณ์การรักษาของแพทย์แต่ละคน รวมถึงเข้าไปพูดคุยหาความร่วมมือกับโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่ง (ไม่แค่เรื่องการรักษาแต่ซีคด็อกคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกให้กับคนไข้ในทุกๆเรื่อง เช่นเรื่องของค่าใช้จ่าย ด้วยการหาโรงพยาบาลที่ตรงกับประกันสุขภาพที่คนไข้ถืออยู่เพื่อให้การชำระ การเบิกจ่าย เป็นไปด้วยความราบรื่น)


"เราวางแผนจะมีแพทย์ครบทุกสาขา ทุกอนุสาขา แต่จะเริ่มต้นด้วยสาขาที่มีคนไข้จำนวนมาก เช่น กระดูกและข้อ หูคอจมูก สูตินารีแพทย์ กุมารเวช ซึ่ง ซีคด็อกจะต้องมีแพทย์เชี่ยวชาญที่มาจากโรงเรียนแพทย์ด้วย เนื่องจากคนไข้จำนวนมากต้องการรักษากับอาจารย์แพทย์ โดยที่ไม่ต้องรอคิวนาน"


และอนาคตที่ยาวไกลกว่านั้นก็คือ การขยายไปยังกลุ่มของการแพทย์ทางเลือกด้วย อย่างเช่น การนวด สปา ไคโรแพรคติกหรือการจัดกระดูก การกดจุด ฝังเข็มฯลฯ


ส่วนในเรื่องของค่ารักษานั้น คนไข้ก็ไม่ต้องเป็นกังวล เพราะไม่ว่าจะจองตรงกับโรงพยาบาลหรือจองผ่านซีคด็อก ค่ารักษาก็จะเป็นเรทราคาเดียวกัน


"เราไม่ได้ชาร์ตเพิ่มกับคนไข้ เราแพลนว่ารายได้จะมาจากค่าเทคโนโลยีฟี หรือ ซอฟท์แวร์ฟีรวมทั้งค่าบริหารจัดการ ที่เก็บกับทางทางฝั่งของโรงพยาบาลหรือคลีนิค หรือกับแพทย์บางคนที่ประจำอยู่ในหลายโรงพยาบาลที่ใช้ระบบของเราเพื่อนัดหมายกับคนไข้"


เมื่อถามถึงสเต็ปการเติบโต คำตอบก็คือ ภายในสิ้นปีนี้จะต้องดีลกับโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพทั้งหมด แล้วปีหน้าจะขยายไปต่างจังหวัด ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนในประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 200-300 แห่ง


“เราจะโฟกัสที่โรงพยาบาลก่อน แล้วค่อยขยายไปยังกลุ่มคลีนิค โดยพัฒนาระบบจัดการคลีนิคเพื่อช่วยให้แพทย์หรือเจ้าของคลีนิคสามารถเช็คได้ว่ามีคนไข้บุ๊คมากี่คนต่อวัน สามารถจัดการตารางนัดได้ ”


แม้ว่าสุขภาพจะถือเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก อย่างไรก็ดี พวกเขามองว่าซีคด็อกคงไม่สามารถเติบโตในเร็ววัน เนื่องจากความท้าทายสำคัญเป็นเรื่องของการปรับทัศนคติและพฤติกรรมของคน ซึ่งต้องยอมรับว่า การทำให้คนไทยหันมานัดพบหมอทางออนไลน์คงไม่ใช่เรื่องง่าย ทางตรงข้ามเมื่อโลกก้าวถึงยุคดิจิทัลก็คงไม่ใช่เรื่องยาก


ซีคด็อกในเวลานี้ยังอยู่ในขั้นตอนโปรโตไทป์ ซึ่งทางทีมงานบอกว่าต้องการให้คนเข้าไปในเว็บไซต์เพื่อแนะนำให้ข้อเสนอแนะในกล่องแชทหน้าเว็บมุมขวาล่าง ว่าควรจะต้องเพิ่มหรือลดฟีเจอร์อะไรบ้างที่จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริง

ความหลากหลายคือโอกาส


ผู้ก่อตั้งทั้งสามคนของซีคด็อกนั้น มีที่มาที่แตกต่างกันและ่ได้มาเจอกันในงาน Hackathon ซึ่งถือว่าเป็นจุดนัดพบของบรรดาโปรแกรมเมอร์ ดีไซน์เนอร์ คนที่มีหัวคิดธุรกิจ


ประพนธ์ และ พงศกร เรียนจบและมีประสบการณ์ทางด้านเทคนิคอล (พงศกรนั้นเรียนที่อเมริกาและเคยทำงานพัฒนาแอพให้กับสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งที่เมืองซีแอตเทิล) ขณะที่วลัยพรรณ เรียนและทำงานอยู่ในสายงานด้านสุขภาพ


พวกเขาบอกว่า ความแตกต่าง หลากหลาย ทักษะที่ไม่เหมือนกัน มันจะช่วยขยายโอกาสได้มากยิ่งขึ้น


ว่ากันว่า หัวใจสำคัญของสตาร์ทอัพก็คือ การหาโคฟาวเดอร์ที่ใช่ ซึ่งในกรณีของซีคด็อกเรื่องนี้เหมือนการงมเข็มในมหาสมุทร เพราะคนที่สนใจในเฮลธ์เทคสตาร์ทอัพยังมีน้อยมาก


"สำหรับเราไม่ได้เลือกมาก เมื่อคุยกันแล้วพบว่าต่างก็เคยทำเฮลธ์แคร์มาก่อน มีแบ็คกราวน์อยู่แล้วก็คุยกันง่าย ก็ไม่ต้องอธิบายกันเยอะ เพราะต่างคนก็จะรู้ว่าศักยภาพความเป็นไปได้ของตลาดมีมากแค่ไหน "