Glazziq ประสบการณ์ใหม่ซื้อ-ขายแว่น

Glazziq  ประสบการณ์ใหม่ซื้อ-ขายแว่น

เป็น 1 ใน 6 ทีมสตาร์ทอัพที่ผ่านถึงรอบสุดท้ายบนเวทีใหญ่ “The Global Entrepreneurship Summit 2016” ประเทศสหรัฐอเมริกา

แม้จะไม่ชนะ ทว่าสปอร์ตไลท์ก็ส่องไปที่ “Glazziq” (กลาซซิค)   ดังนั้น "กรุงเทพธุรกิจ" จึงขออาสาพาไปทำความรู้จัก

“ปริณดา ประจักษ์ธรรม” ซึ่งเป็นซีอีโอ เล่าให้ฟังว่า กลาซซิค นั้นมีเป้าหมายจะมอบประสบการณ์ที่ดีและของที่มีคุณภาพแก่ผู้ที่ต้องการซื้อแว่นตา โดยการสร้างอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มที่มีเนื้อหารูปภาพที่สวยงามและมีคุณภาพ ทำให้ผู้ซื้อเพลิดเพลินไปกับการเลือกดูสินค้า

อาจเรียกได้ว่านี่คือการต่อยอดธุรกิจเดิมของครอบครัวที่เป็นเทรดดิชั่นนอลเทรด นั่นคือ ร้านขายหอแว่นและร้านเบทเทอร์วิชั่น ตลอดจนโรงงานผลิตเลนส์

เมื่อถามถึงโมเดลบิสิเนส เธออธิบายว่า กลาซซิค เกิดจากแนวคิดที่จะต้องการเปลี่ยนบรรยากาศของการซื้อการขายแว่นตาซึ่งในอดีตที่ผ่านมามักมีลักษณะของความจำเป็น จำยอม เพราะแว่นตาหัก เพราะสายตามีปัญหา และเมื่อเข้ามาเลือกแว่นตาในร้านก็มักจะพบเจอกับความอึดอัดนานับประการ แต่มันจะไม่เกิดขึ้นเพียงแค่ถ้าคลิกเข้าไปในเว็บไซต์กลาซซิค

และก็ไม่ใช่อีคอมเมิร์ซขายแว่นตาแบบทั่วๆไป เพราะกลาซซิค ยังมีแผนจับมือกับร้านกาแฟเก๋ๆ นำเอาสินค้าแว่นตาตัวอย่างไปวางโชว์ไว้ที่ตรงมุมใดมุมหนึ่งของร้านเพื่อให้ลูกค้าได้หยิบจับ ได้ทดลองใส่ ให้นั่งดูทั้งวันแบบไม่ต้องกลัวใครไล่ และถ้าหากสนใจก็สั่งซื้อได้ทางออนไลน์

ปัจจุบันกลาซซิคมีโชว์รูมต้นแบบชื่อว่า Printa Cafe ตั้งอยู่ในซอยวัดแขก ถนนสีลม นอกจากนั้นยังมีบริการ “Home Try-On”บริการส่งแว่นตาไปให้ลูกค้าได้ทดลองถึงที่บ้าน อีกทั้งยังมีบริการวัดสายตาฟรี และมีบริการหลังการขายด้วย

และด้วยธุรกิจครอบครัวมีโรงงานผลิตเลนส์เลยเป็นจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ กลาซซิคสามารถขายแว่นตาในแบบคุ้มค่าคุ้มราคา เริ่มต้นที่ราคา 1,990 บาทเท่านั้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าปริณดา จะคลุกคลีและคุ้นเคยกับธุรกิจแว่นตาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก แต่การลุกขึ้นมาทำธุรกิจเองแถมเป็นธุรกิจแห่งโลกยุคใหม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ต้องอาศัยการคิดให้เยอะ คิดให้ครบ

"ก็เริ่มจากต้องค่อยๆเอดดูเคดตลาด แรกๆลูกค้าจะเข้ามาดูเพราะเห็นว่าแว่นสวย เพราะเราใช้รูปที่สวยๆเป็นตัวดึงดูดก่อน แต่เมื่อเขามาได้สัมผัสถึงวิธีการทำงาน วิธีบริการ เขาก็จะประทับใจและจะไปบอกคนอื่นต่อไปเรื่อยๆ เรียกว่าไม่ต้องเสียเงินค่าโฆษณาเลย"

กลาซซิค มุ่งสร้างคอมมูนิตี้ของคนชอบแว่นตาขึ้นมา เรียกว่าทั้งในเว็บไซต์ ในโซเชี่ยลมีเดียจะมีการคัดสรรคอนเทนท์ที่น่าสนใจ รวมไปถึงภาพถ่ายของแว่นตาทุกรุ่น ซึ่งรับประกันว่ารูปแบบและหน้าตาจะไม่เหมือนกับร้านขายแว่นตาทั่วๆไป

"ในเว็บกลาซซิคมีดารา ไอดอล คนมีชื่อเสียงหลายคนมาโพสต์ภาพของเขาตอนที่ใส่แว่นตาของเรา ซึ่งเราไม่ได้เสียเงินเลยก็พูดตรงๆ กับเขาว่าไม่มีเงินแต่สามารถให้แว่นเขาได้ ซึ่งเราก็ดูว่าเขาเป็นคนสไตล์แบบไหน เพราะการที่เขาใส่แว่นเราและถ่ายรูปลงครั้งเดียวไม่ได้ช่วยอะไร แต่เขาต้องชอบต้องเป็นไลฟ์สไตล์ที่เขาจะใส่แว่นอยู่เสมอ ทำให้คนได้เห็นเรื่อยๆ จึงจะเห็นผล ซึ่งเราก็โชคดี พวกเขาชอบใส่แว่นเราอยู่เรื่อยๆ และเวลามีคนมาถามเขาก็จะบอกต่อให้เรา "

แน่นอนว่าสร้างผลลัพธ์ตัวเลขยอดขายที่น่าพึงพอใจ ซึ่งในเรื่องนี้จะมีการเทียบกับช่องทางเทรดดิชั่นนอลสโตร์ ซึ่งโดยปกติร้านแว่นตาทั่วไปที่เปิดใหม่มักต้องใช้เวลาประมาณ 3 ปี จึงจะคุ้มทุน

"เราจะมีรายได้สองถึงสามเท่า ต้องเทียบกับร้านในทำเลธรรมดาๆ จะไม่เทียบกับร้านที่เปิดในห้างฯเพราะมันเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และยิ่งเราสเกลได้เยอะก็ยิ่งถูกลงเท่านั้น ร้านทั่วไปเวลาเขาเปิดร้านเพิ่มก็จะมี Fixed cost ตามไปด้วย แต่ของเราไม่ใช่่ ยิ่งเราขยายได้เพิ่มต้นทุนเรายิ่งถูกลง ขึ้นกับอีโคโนมีออฟสเกลด้วย"

แต่เธอยอมรับว่าได้พบเจอกับปัญหาอุปสรรคอยู่ไม่น้อย ซึ่งในความเป็นสตาร์ทอัพก็คงต้องพบเจออยู่ตลอดเวลาทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า แต่ตัวเธอและทีมก็ได้เตรียมความพร้อมจะปรับเปลี่ยนอยู่เสมอ แม้ว่าตอนแรกคิดว่าแบบนี้ที่ใช่แต่เมื่อได้เห็นว่าไม่ใช่ คือเปลี่ยนได้ทันทีเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดอย่างทันท่วงที

"อีกไม่นานเราจะมีซีเล็คชั่นมากขึ้น เพราะแบรนด์เรามีความเป็นไลฟ์สไตล์ ทำให้เรามีลูกค้าที่เป็นกลุ่มคนที่ไม่ได้แว่นไม่ได้มีปัญหาทางสายตา แต่อยากใส่แว่น ตรงนี้เราจะมีเซ็คชั่นต่างหากให้ ซึ่งเขาอาจมีความต้องการที่แตกต่างไป ลูกค้าแต่ละกลุ่มไม่จำเป็นต้องไปในโฟร์เดียวกัน ต้องแยกเพราะโดยเนเจอร์ของการซื้อไม่เหมือนกัน"

เมื่อถามถึงแผนธุรกิจ ปริณดา มองถึงเรื่องการสร้างธุรกิจให้เดินไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งเส้นทางของความยั่งยืนของกลาซซิคนั้น แนวทางหนึ่งก็คือ การก้าวออกนอกประเทศ ที่จะโฟกัสเป็นพิเศษก็คือ ประเทศในกลุ่มเซาท์อีสต์เอเชีย

“เรารู้ว่าธุรกิจเราต้องเป็นโกลบอล เมืองไทยเมื่อก่อนถูกมองว่าเป็นฮับของการผลิตอย่างเดียว แต่เดี๋ยวนี้คงไม่ใช่ เพราะเราสามารถสร้างแวลลูให้กับสินค้าและส่งไปขายที่ต่างประเทศได้”

ขณะที่ในประเทศไทย กลาซซิคจะพยายามขยายโชว์รูมไปยังหัวเมืองใหญ่ต่างๆเท่าที่จะทำได้ ปริณดาบอกว่ามีร้านค้าอื่นๆติดต่อสอบถามเข้ามามามากมายแต่ยังไม่ได้ตกลงกับใครเพราะเธอสนใจร้านกาแฟเป็นพิเศษ

"ที่เราอยากให้มีเพราะต้องการสร้างประสบการณ์ดีๆ สร้างคอนเน็คชั่นระหว่างเรากับลูกค้า เหมือนกับเขาได้จับต้องถึงตัวตนของเราได้ ให้มันได้บอกเล่าเรื่องราวของเรา ที่่ผ่านมาก็ได้ไปคุยกับร้านกาแฟบางร้านที่อยู่ต่างจังหวัด ว่าใครสนใจเอาสินค้าเราไปวางโชว์ แต่เราก็ไม่ได้กำหนดว่าเขาต้องเปลี่ยนมาใช้ชื่อร้านว่ากลาซซิค และเขาก็ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มแค่มีชั้นมีพื้นที่ให้เท่านั้น "

เมื่อถามว่ากังวลกับท้าทายเรื่องอะไร คำตอบก็คือ การใช้จ่ายเงินว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะเธอมีเป้าหมายที่แตกต่างไปจากเป้าหมายของสตาร์ทอัพส่วนใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของการเรสฟันด์ ในวงเล็บที่ว่าจะไม่ปฏิเสธหากได้พบกับนักลงทุนที่มีลักษณะเป็นเพื่อนคู่คิดช่วยธุรกิจได้มากกว่าเรื่องของเงินทอง

“เราไม่อยากเรสฟันด์ อยากให้โตเอง มันถึงจะยั่งยืนจริงๆ เราจึงต้องนั่งดูเรื่องการใช้เงินอย่างละเอียดแทบจะทุกเม็ดเลย กลาซซิคเลยอาจต้องใช้เวลามากกว่าสตาร์ทอัพทั่วๆไป”

ปริณดา ยังไม่ได้มีจุดหมายปลายทางที่การเอ็กซิทด้วย เพราะอย่างที่บอกว่าเธอต้องการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน และในวันกลาซซิคแข็งแกร่งและอยู่ตัวแล้ว เธอก็อาจปรับบทเป็นนักลงทุนนำเอาเงินจากธุรกิจที่แข็งแรงไปลงทุนต่อในธุรกิจที่มีอนาคต และทำแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ

"เป็นไปได้ถ้าเราได้รับโอกาสดีมีคนมาขอเทคโอเวอร์ มาขอควบรวม หรือแม้กระทั่งการเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ต้องบอกว่าเราไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อรอให้คนมาซื้อ ถ้าธุรกิจมันดีจริงจะทำเพื่อขายคงไม่ใช่ และส่วนใหญ่ที่ทำเพื่อขายสุดท้ายแล้วคนที่ซื้อต่อไปก็มักไม่ค่อยรอด "

ลูกค้าคือพระเจ้า

เป็นลูกคนเดียวของ “สว่าง ประจักษ์ธรรม” แถมเรียนจบเอ็มบีเอจากท๊อบบิสิเนสสคูลอย่าง “เคลล็อก” เคยทำงานอยู่ที่ “Boston Consulting Group” บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก นี่คือโปรไฟล์ฉบับย่อของ ปริณดา จนอดถามไม่ได้ว่าทำไมจึงอยากมาเป็นสตาร์ทอัพ

"จริงๆ ทางบ้านก็อยากให้มาช่วยธุรกิจตั้งแต่เรียนจบ แต่ตัวดาเองต้องการออกไปเรียนรู้จากข้างนอก ซึ่งทำให้ได้เห็นอะไรมากมาย การที่เราไปอยู่ท่ามกลางคนเก่งเยอะๆ มันช่วยได้จริงๆ ทำให้ความคิดเราไม่เหมือนเดิม และยังสามารถเอาแนวคิดมาช่วยธุรกิจที่บ้านว่าควรต้องปรับปรุงอย่างไร"

เธอบอกว่า โชคดีที่คุณพ่อของเธอสนับสนุน จนในที่สุดก็เลยกล้าเสี่ยงที่จะออกมาทำสตาร์ทอัพซึ่งขึ้นชื่อว่ามีความเสี่ยงสูง เพราะรู้สึกว่าสามารถเฟลได้ ทางตรงข้ามถ้ารู้สึกว่าเฟลไม่ได้ก็จะรู้สึกกลัวไปหมด และไม่กล้าทำ

“ประการสำคัญมันต้องเฟลไม่เช่นนั้นก็จะไม่รู้ว่าซัคเซสมันคืออะไร เราต้องลงไปคลุกด้วยตัวเอง”

และสิ่งหนึ่งที่เธอได้เรียนรู้ก็คือ การหาลูกค้าเป็นเรื่องที่ไม่ยาก แต่การรักษาทำได้ยากกว่า ดังนั้นการทุ่มเงินเพื่อหาลูกค้ามาแต่กลับรักษาไว้ไม่ได้เปรียบก็เหมือนเป็นการเอาเงินไปทิ้งลงแม่น้ำ

“ คัสโตเมอร์เซอร์วิสจึงเป็นเรื่องที่เราโฟกัสมากๆ คุณพ่อเคยสอนว่าไม่ว่าลูกค้า หรือพนักงานของเรา การจะให้อะไรกับเขาต้องเป็นสิ่งที่ดีจริงๆ และเขาต้องสัมผัสมันได้จริงๆ”