"บลูสโคป" ทุ่ม 4,500ล้าน ขยายกำลังผลิตเหล็กเคลือบ1.4แสนตัน

"บลูสโคป" ทุ่ม 4,500ล้าน ขยายกำลังผลิตเหล็กเคลือบ1.4แสนตัน

"เอ็นเอส บลูสโคป" ทุ่ม 4,500ล้าน ขยายกำลังผลิตเหล็กเคลือบ1.4แสนตัน ลงทุนครั้งใหญ่รอบ 11 ปี

นายสมเกียรติ ปินตาธรรม ประธานบริษัท เอ็นเอส บลูสโคป (ประเทศไทย) จำกัด สัญชาติออสเตรเลีย เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหาร(บอร์ด) เห็นชอบอนุมัติการลงทุน 4,500 ล้านบาท หรือประมาณ 125 ล้านดอลลาร์ เพื่อขยายโรงงานผลิตเหล็กเคลือบโลหะแห่งใหม่ ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก (มาบตาพุด) โดยจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงงานเดือนต.ค.นี้ ให้แล้วเสร็จและเดินหน้าการผลิตในเดือนก.ค.2561

ทั้งนี้ โรงงานดังกล่าวจะเพิ่มกำลังการผลิตเหล็กเพิ่มอีก 1.4 แสนตันต่อปี จากปัจจุบันโรงงาน 2 แห่ง มีกำลังการผลิตเหล็กประมาณ  4 แสนตันต่อปี

นอกจากนี้ บริษัทยังใช้งบประมาณอีก 500 ล้านบาท เพื่อลงทุนบำรุงรักษาเครื่องจักรและการลงทุนด้านการตลาด ขยายตัวแทนจำหน่ายให้ครบ 50 รายในปีนี้ จาก 35 ราย

ทั้งนี้ การลงทุนในครั้งนี้ถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่ในรอบ 11 ปี และเป็นการลงทุนที่ใหญ่สุดนอกประเทศออสเตรเลียด้วย เนื่องจากบริษัทแม่ในประเทศออสเตรเลีย ยังมองเห็นโอกาสของตลาดเหล็กเคลือบโลหะในประเทศไทยที่ยังมีความต้องการสูง สะท้อนถึงศักยภาพที่สดใสในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยระยะยาว ซึ่งการขยายกำลังการผลิตครั้งนี้ ยังจะช่วยสร้างฐานการเติบโตให้บริษัทในระยะยาวด้วย

ส่วนภาพรวมตลาดเหล็กเคลือบโลหะในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 1 ล้านตันต่อปี มีแนวโน้มการเติบโต 8-10% ต่อเนื่องภายใน 5-10 ปีข้างหน้า โดยตลาดดังกล่าวแบ่งเป็น 3 เซ็กเมนท์ได้แก่ 1.ตลาดเหล็กเคลือบโลหะในอุตสาหกรรมก่อสร้างอาคารขนาดเล็กขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)ตลาดที่พักอาศัยระดับกลางถึงล่างสัดส่วน 60-70% 2.เหล็กเคลือบโลหะที่ใช้ในอุตสหกรรมการผลิตและก่อสร้าง และ3.เหล็กเคลือบโลหะสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า มีสัดส่วนราว 30-40%

“บลูสโคป มีฐานการผลิตเหล็กในประเทศอาเซียน ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม โดยด้านยอดขายและรายได้เวียดนามถือว่ามีการเติบโตสูงสุด ขณะที่ไทยติดท็อป 3 และเป็นที่บริษัทแม่ในออสเตรเลียให้ความสำคัญ เพราะตลาดและความต้องการในประเทศมีการเติบโตที่ดี ดังนั้นการลงทุนครั้งนี้จึงเป็นการลงทุนนอกประเทศออสเตรเลียที่ใหญ่ที่สุดของบลูสโคฟ ยังเป็นการตอกย้ำการเป็นผู้นำตลาดของบลูสโคปในไทยด้วย”

นอกจากนี้ แนวทางการขยายตลาดเหล้กเคลือบโลกะในไทย บริษัทมุ่งเจาะตลาดอุตสาหกรรมก่อสร้างอาคารขนาดเล็กเอสเอ็มอีและตลาดที่พักอาศัยระดับกลางถึงล่างมากขึ้น เนื่องจากมีการเติบโตที่ดีราว 8-10% รวมทั้งตลาดเหล็กเคลือบโลหะสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่บริษัทสร้างการเติบโตได้ 8-10% สูงกว่าตลาดรวมที่เติบโต 3-5% เท่านั้น โดยล่าสุด บริษัทเตรียมซัพพลายสินค้าให้กับกลุ่มผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ญี่ปุ่นมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ชาร์ป พานาโซนิค ฟูจิสึ เป็นต้น จากเดิมป้อนให้กับแอร์แคร์เรียเท่านั้น

“เราใช้กลยุทธ์ในการบุกตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยอาศัยคอนเน็คชั่นที่มี คือการร่วมทุนกับบริษัท นิปปอน สตีล แอนด์ ซูมิโตโม เมทัล คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ในการนำเทคโนโลยีการผลิตเหล็กมาใช้ เป็นผู้หาลูกค้าตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าให้ โดยที่ผ่านมาผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่มีการใช้เหล็กเคลือบนำเข้าจากต่างประเทศประมาณ 4 แสนตันต่อปี และการรุกตลาดครั้งนี้บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนยอดขายเป็น 40% หรือทดแทนตลาดนำเข้าราว 1.6 ตัน ภายใน 3 ปี จากปัจจุบันสัดส่วนยอดขายของตลาดนี้มีไม่ถึง 5%”

เขากล่าวอีกว่า แนวโน้มตลาดเหล็กเคลือบโลหะปีนี้คาดว่าจะเติบโต 5% ขณะที่ปีก่อนมีการเติบโตในสอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) ส่วนภาพรวมรายได้บริษัทปีนี้(ปีงบประมาณ 59/60 ระหว่างเดือนก.ค.-มิ.ย.) คาดว่าจะเติบโต 10% จากปีก่อนมีรายได้กว่า 1 หมื่นล้านบาท เติบโต 10% โดยความท้าทายของการขับเคลื่อนธุรกิจปีหน้า ยังเป็นเรื่องของเหล็กนำเข้าราคาถูกเข้ามาทำตลาด กระทบต่อการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม โดยบริษัทได้ยื่นเรื่องต่อกระทรวงพาณิชย์ให้ดำเนินการมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด(เอดี)กับเหล็กที่นำเข้าจากจีน ไต้หวัน และเวียดนาม

“ความท้าทายปีหน้าไม่ใช่เรื่องของาภาวะเศรษฐกิจ แต่เป็นเรื่องของเหล็กนำเข้ามากกว่า เพราะจากสถานการณ์เหล็กที่ล้นตลาด ทำให้เหล็กนำเข้ามาไทยราคาต่ำกว่าผู้ผลิตในประเทศไทย ซึ่งต้องการให้รัฐบาลมีมาตรการดูแล เพื่อให้การแข่งขันเป็นธรรมมากขึ้น”