ศึกแพ็คเกจจิ้งระอุุ! เบอร์ลี่ฯรุกชิงเบอร์1เบียดบางกอกกล๊าซ

ศึกแพ็คเกจจิ้งระอุุ! เบอร์ลี่ฯรุกชิงเบอร์1เบียดบางกอกกล๊าซ

“เบอร์ลี่ฯ” รุกขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ครบวงจร คาดปิดดีลซื้อธุรกิจเพิ่ม1ดีลสิ้นปีนี้ เล็งขึ้นเบอร์1ผู้ผลิตขวดแก้วในไทย เบียดบางกอกกล๊าซ

นายปฐพงศ์ เอี่ยมสุโร ผู้จัดการใหญ่ กลุ่มสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีเจซี เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างจัดทำแผนขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ใน 3-5 ปีข้างหน้า โดยมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ครบวงจร (ซัพพลายเชน แพ็คเกจจิ้ง) รับเป้าหมายการเป็นผู้นำบรรจุภัณฑ์ในอาเซียน ซึ่งมีทั้งการผลิตแพ็คเกจจิ้งทั้งขวดแก้ว กระป๋องอะลูมิเนียม กระดาษ บรรจุภัณฑ์อ่อนตัว (เฟล็กซิเบล แพ็คเกจจิ้ง) ได้แก่ ฟิล์ม ฟอยล์ สำหรับผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยว (สแน็ค) อาหารทะเล เป็นต้น

ทั้งนี้ การรุกสู่แพ็คเกจจิ้งใหม่ๆ บริษัทจะลงทุนเอง และใช้วิธีการซื้อและควบรวมกิจการ (เอ็มแอนด์เอ) และร่วมทุนกับพันธมิตร โดยเกณฑ์ในการพิจารณาได้แก่ 1 .ระบบการผลิตมีมาตรฐาน 2.ขนาดธุรกิจเหมาะสมในการเข้าไปเริ่มดำเนินการ 3.มีฐานลูกค้า และผู้ประกอบการต้องประสบการณ์ ขณะนี้บริษัทได้เจรจาจะที่ซื้อกิจการ(ดีล)บรรจุภัณฑ์ทุกประเภท จำนวนหลายราย และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะสรุปได้ 1 ดีล

“ส่วนใหญ่ธุรกิจแพ็คเกจจิ้งเป็นของคนไทย และต้องการเติบโตโดยให้เราเข้าไปช่วยขยาย บริษัทก็ไม่ปิดโอกาสในการเข้าไปถือหุ้น ขณะเดียวกันก็เริ่มทำเองได้ ไม่ใช่รอแค่ซื้อกิจการอย่างเดียว ส่วนการซื้อกิจการไม่ได้ตั้งงบประมาณลงทุนเพื่อจำกัดโอกาสด้วย แต่ขึ้นอยู่กับประเภทของบรรจุภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นกระดาษ พีอีที เฟล็กซิเบิล หากดีลถ้าขนาดใหญ่มูลค่าก็ถึงหลักพันล้านบาท โดยการเจรจาใกล้สิ้นสุดแล้ว ปีนี้ต้องการจะสรุปให้ได้ 1 ดีล”

ทั้งนี้ การมีโรงงานแพ็คเกจจิ้งครบวงจร ส่วนหนึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าให้กับเครือมากขึ้น ปัจุบันบีเจซี มีสินค้ามากมาย ทั้งสแน็ค สบู่ โดยสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์จากภายนอกกว่า 300 ล้านบาทต่อปี ไม่นับกับในเครือทีซีซี เช่น น้ำดื่มช้าง คริสตัล ที่ใช้ขวดพีอีทีจากบริษัทภายนอก

+เล็งขยายลงทุนต่างประเทศ

ส่วนในต่างประเทศ ได้ศึกษาการซื้อกิจการแพ็คเกจจิ้งในเวียดนาม และมองโอกาสขยายการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตขวดแก้วในเวียดนาม และมาเลเซียเพิ่ม หากตลาดมีความต้องการ จากปัจจุบันโรงงานใน 2ประเทศมีกำลังการผลิต 700 ตันต่อปี

“ตลาดบรรจุภัณฑ์มีขนาดใหญ่ และความต้องการของตลาดมีสูงมาก บริษัทควรพัฒนาธุรกิจขยายไปส่วนอื่น เพื่อให้เป็นซัพพลายเชน แพ็คเกจจิ้งครบวงจร ซี่งภายใน 3-5 ปี บริษัทต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง เข้าไปในตลาดใหญ่ขึ้น ทั้งอาเซียนด้วย ลาว กัมพูชา หากต้องการสินค้า ก็ต้องหาไปป้อนตลาด เมื่อพร้อมค่อยตั้งโรงงาน เพราะหากยังอยู่กับธุรกิจหลักแค่ขวดแก้วและกระป๋องอะลูมิเนียม เราก็จะโตช้า”

+ผุดวิชั่น2020อิงไทยเบฟ

นอกจากนี้ บริษัทยังทำแผนธุรกิจ 2020 เพื่อสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ไทยเบฟ 2020 ในการผลิตบรรจุภัณฑ์รองรับการเติบโตของ ธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และนอนแอลกอฮอล์ และป้องกันการขาดแคลนบรรจุภัณฑ์เมื่่อไทยเบฟต้องการ

“แผนขยายธุรกิจ มุมหนึ่งบริษัททำตามวิสัยทัศน์ 2020 ของไทยเบฟ เพื่อสนับสนุนการขาย หากไทยเบฟต้องการบรรจุภัณฑ์จำนวนหนึ่งใน 3 ปี บริษัทก็จะวางแผนขึ้นเตาให้ได้ และต้องวางแผนระยาวกับลูกค้านอกเครือระยะ 3-6 ปีด้วย เพราะสิ่งที่กังวลคือลูกค้าต้องการขวด กระป๋องแบบทันทีแต่เราไม่สามารถป้อนได้ทัน”

ล่าสุด บริษัททุ่มงบราว 2,000 ล้านบาท ครั้งใหญ่ในรอบ 10 ปีเพื่อขยายกำลังการผลิตขวดแก้วเพิ่ม 300 ตันต่อปี จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตราว 3,500 ตันต่อปี ส่วนการลงทุนที่ผ่านมาเป็นการสร้างเตาหลอมแก้วเพื่อทดแทนโรงงานเดิมที่ราษฎร์บูรณะที่ปิดไปเท่านั้น

+ยอดขายโต2.2-2.5 หมื่นล้าน

ทั้งนี้ จากแผน 5 ปีข้างหน้า บริษัทตั้งเป้าเติบโตต่อเนื่อง 5-8% และคาดว่าจะมียอดขายราว 2.2-2.5 หมื่นล้านบาท จากปีนี้คาดว่าจะปิดยอดขาย 1.1 หมื่นล้านบาท เติบโต 16% จากปีก่อนมียอดขายกว่า 9,800 ล้านบาท เมื่อรวมส่งออกมียอดขายราว 1.5 หมื่นล้านบาท

สำหรับความท้าทายใน 5 ปีข้างหน้า ได้แก่ 1.สภาพเศรษฐกิจและตลาดที่มองไปข้างหน้าในระยะยาวแล้วอาจมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของตลาด และกระทบการสั่งซื้อบรรจุภัณฑ์ และมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัท 

2.ต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบทราย แก้วใช้แล้วหมดไป ปริมาณอาจลดน้อยลงและหายากขึ้น 3.ภายในองค์กร เมื่อบีเจซีมีขนาดธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นมาก การบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่ค่อนข้างยาก หากจัดการไม่ดีอาจกระทบโรงงานและสูญเสียโอกาสด้านยอดขาย กำไรและการเติบโต 4.การเติบโตในภูมิภาค โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม (CLMV) มีโอกาสมาก แต่เห็นภาพไม่ชัดและมีคำถามใหญ่โตตรงไหน เพราะยอมรับว่าตอนนี้เช่นเวียดนามโตในภาคส่งออก

อย่างไรก็ตาม จากแผนดังกล่าว บริษัทยังตั้งเป้าการเป็นเบอร์ 1 ผู้ผลิตขวดแก้วในไทย จากปัจจุบันมีส่วนแบ่งการตลาด 38% ใกล้เคียงเบอร์ 1 อย่างบางกอกล๊าส ของเครือบุญรอด ที่มีส่วนแบ่งตลาด 39% และเบอร์ 3 คือสยามกลาส เครือโอสถสภา

สำหรับภาพรวมยอดขายครึ่งปีแรก พบว่าเติบโต 16% ส่วนหนึ่งเติบโตมาจากความต้องการของลูกค้าในเครืออย่างเบียร์ช้าง ที่ยอดขายและส่วนแบ่งทางการตลาดเติบโต เบียดคู่แข่งได้มากขึ้น ส่วนลูกค้านอกเครือก็เติบโตสูงเช่นกัน ทั้งเครื่องดื่มนอนแอลกอฮอล์ทั้งตลาดในประเทศ และส่งออก

“เวลาคุยออเดอร์ใหม่กับลูกค้าใหญ่จะทำสัญญายาว ในกลุ่มไทยเบฟ (กลุ่มทีซีซี) ก็คุยเป็น3-6ปี วันนี้ในแง่ของยอดขายเราเป็นเบอร์1 คนอื่นอาจจะมีกำลังการผลิตแต่ไม่มียอดขาย เราของเรามียอดขาย แต่ไม่มีกำลังการผลิต หากความต้องการกลับมา และการเติบโตเราเป็นแบบนี้ คาดว่าไม่เกิน2-3ปี เราจะแซงคู่แข่ง”

++ซื้อบิ๊กซีดันสัดส่วนรายได้เปลี่ยน

นายปฐพงศ์ กล่าวอีกว่า หลังจากบีเจซีซื้อบิ๊กซีในไทย เข้ามาอยู่ในกลุ่ม ทำให้โครงสร้างรายได้ปรับเปลี่ยนไป โดยที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ เคยมีสัดส่วนรายได้ 1 ใน 3 หรือราว 30% จาก 5 กลุ่มธุรกิจ เช่น กลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค กลุ่มธุรกิจค้าปลีก แต่ปัจจุบันสัดส่วนกลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์มีสัดส่วนรายได้ 10-15%