“ตระกูลดัง”มั่งคั่ง มูลค่าถือครองหุ้นพุ่ง1.6แสนล้าน

“ตระกูลดัง”มั่งคั่ง มูลค่าถือครองหุ้นพุ่ง1.6แสนล้าน

ตระกูลเจียรวนนท์ ครองแชมป์มูลค่าการถือครองเพิ่มขึ้นมากสุดถึง 1.03 แสนล้านบาท

ดัชนีหุ้นไทยปี 2559 วิ่งขึ้นต่อเนื่องจาก1,220 จุด จนล่าสุดขึ้นไปแตะ 1,500 จุด เพิ่มขึ้นกว่า 22% จากต้นปี โดยการปรับตัวขึ้นรอบนี้ปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากเม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลเข้าหุ้นขนาดกลางและขนาดใหญ่ ส่งผลให้มูลค่าการถือครองของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้น ซึ่งรวมไป 5 ตระกูลดัง ประกอบด้วย ตระกูลเจียรวนนท์ ตระกูลจิราธิวัฒน์ ตระกูลสิริวัฒนภักดี ตระกูลปราสาททองโอสถ และตระกูลตรีวิศวเวทย์ ซึ่งมีมูลค่าการถือครองหุ้นเพิ่มขึ้นรวมกันถึง 1.65 แสนล้านบาท

ตระกูลเจียรวนนท์ ครองแชมป์มูลค่าการถือครองเพิ่มขึ้นมากสุดถึง 1.03 แสนล้านบาท รวมเป็น 3.8 แสนล้านบาท ผ่านการถือหุ้น 3 บริษัท ได้แก่ เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) 40% ซีพี ออลล์ (CPALL) 38% และทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) 52% โดยซีพี ออล์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 4.08 หมื่นล้านบาท ซีพีเอฟ มูลค่าเพิ่มขึ้น 3.29 หมื่นล้านบาท และทรู มูลค่าเพิ่มขึ้น 2.96 ล้านบาท

ถัดมาคือตระกูลจิราธิวัฒน์ มีมูลค่าการถือครองเพิ่มขึ้น 2.38 หมื่นล้านบาท ผ่านการถือหุ้นใหญ่ 5 บริษัท ได้แก่ เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) 38% โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) 47% ซีโอแอล (COL) 39% โรบินสัน (ROBINS) 30% และโพสต์ พับลิชชิง (POST) 31% คิดเป็นมูลค่าการถือครอง ราว 1.52 แสนล้านบาท

มูลค่าการถือครองที่เพิ่มขึ้นมาจากหุ้นซีพีเอ็น ราว 2 หมื่นล้านบาท และหุ้นโรบินสัน 7.3 พันล้านบาท ขณะที่หุ้นโรงแรมเซ็นทรัลพลาซ่า มูลค่าลดลง 3.1 พันล้านบาท ส่วนอีกหุ้นอีก 2 ตัวที่เหลือ มูลค่าปรับลดลง

ตระกูลสิริวัฒนภักดี มีหุ้นในกลุ่มที่ถือครองหุ้นอยู่ถึง 7 บริษัท ได้แก่ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) 73% เสริมสุข (SSC) 85% โออิชิ กรุ๊ป (OISHI) 79% ยูนิเวนเจอร์ (UV) 66% แผ่นดินทอง (GOLD) 74% บิ๊กซี (BIGC) 97% และอินทรประกันภัย (INSURE) 67% คิดเป็นมูลค่าการถือครองรวม 2.18 แสนล้านบาท

มูลค่าการถือครองล่าสุดเพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนราว 1.91 หมื่นล้านบาท โดยเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากสุด 8.5 พันล้านบาท ถัดมาคือบิ๊กซี มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 4.1 พันล้านบาท โออิชิ มูลค่าเพิ่มขึ้น 3.8 พันล้านบาท และเสริมสุข มูลค่าเพิ่มขึ้น 2.5 พันล้านบาท ขณะที่อีก 3 บริษัท มูลค่าไม่ได้เปลี่ยนแปลง

ตระกูลปราสาททองโอสถ ถือครองหุ้นในกลุ่มโรงพยาบาลเป็นหลักถึง 5 บริษัท ได้แก่ กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) 29% รพ.บำรุงราษฎร์ (BH) 24% รพ.รามคำแหง (RAM) 38% รพ.สมิติเวช (SVH) 95% และธนบุรี เมดิเคิล เซ็นเตอร์ (KDH) 29% และหุ้นสายการบินอีก 1 แห่ง ได้แก่ การบินกรุงเทพ (BA) 67%

มูลค่าการถือครองหุ้นทั้งหมดนี้อยู่ที่ราว 2.21 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน1.1 หมื่นล้านบาท หุ้นรพ.สมิติเวช มูลค่าเพิ่มขึ้นมากสุด 6.3 พันล้านบาท รองลงมาคือ รพ.รามคำแหง เพิ่มขึ้น 5.4 พันล้านบาท กรุงเทพดุสิตเวชการ เพิ่มขึ้น 3.2 พันล้านบาท และธนบุรี เมดิเคิล เซนเตอร์ เพิ่มขึ้น 205 ล้านบาท ขณะที่ รพ.บำรุงราษฎร์ มูลค่าลดลง 3.4 พันล้านบาท และการบินกรุงเทพ ลดลง 707 ล้านบาท

ท้ายสุด ตระกูลตรีวิศวเวทย์ มีมูลค่าการถือครองรวม 9.23 หมื่นล้านบาท ผ่านการถือหุ้น 4 บริษัท ได้แก่ ช.การช่าง (CK) สัดส่วน 37% ทีทีดับบลิว (TTW) 38% ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 37% และซีเค พาวเวอร์ (CKP) 74%

มูลค่าการถือครองรวมเพิ่มขึ้น 7.9 พันล้านบาท โดยซีเค พาวเวอร์ เพิ่มขึ้น 5.6 พันล้านบาท รองลงมาคือ ทีทีดับบลิว เพิ่มขึ้น 1.5 พันล้านบาท และช.การช่าง เพิ่มขึ้น 796 ล้านบาท ขณะที่ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ เพิ่งจะมีการควบรวมบริษัทระหว่าง ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) และรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BMCL) เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ล่าสุดมูลค่าการถือครองอยู่ที่ 3.84 หมื่นล้านบาท

มูลค่าการถือครองหุ้นที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นจากอานิสงส์ดัชนีหุ้นไทยแตะนิวไฮรอบใหม่อีกครั้ง