'ยิ่งลักษณ์'ขึ้นศาลฎีกาฯพรุ่งนี้ รับฟังไต่สวนพยานโจทก์

'ยิ่งลักษณ์'ขึ้นศาลฎีกาฯพรุ่งนี้ รับฟังไต่สวนพยานโจทก์

"ยิ่งลักษณ์"ขึ้นศาลฎีกานักการเมืองพรุ่งนี้ ไต่สวนพยานอัยการนัดสองอีก4ปาก "นรวิชญ์"ระบุประชุมทีมหลายวัน เตรียมพร้อมซักค้านพยานโจทก์

นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (17ก.พ.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางไปรับฟังการไต่สวนโจทก์ พยานครั้งที่ 2 ในเวลา 09.00 น.ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ คดีที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้องในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ โครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทีมทนายความ เตรียมความพร้อมเป็นเวลาหลายวัน ที่จะซักค้านพยานโจทก์ 

เมื่อถามว่า จะมีการนำประเด็นที่นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดโครงการจำนำข้าว ระบุว่า ตัวเลขที่ประชาชนได้รับในส่วนต่างราคาจำนำข้าวไม่คิดเป็นความเสียหาย รวมถึง น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงกระพาณิชย์ ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า การปิดบัญชีรับจำนำข้าวรอบปี 2558 ที่กระทรวงการคลังระบุมีข้าวหายจากสต๊อก 390,000 ตันนั้นเป็นการลงบัญชีผิดพลาด และยังไม่ได้ข้อสรุปทางบัญชีเข้าไปต่อสู้ในชั้นศาลหรือไม่ 

ทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขณะนี้คดียังอยู่ขั้นตอนไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์ ทีมทนายความ จึงยังไม่ได้พิจารณา โดยยังคงให้ความสำคัญการซักค้านพยานโจทก์ก่อน 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับพยาน ที่อัยการ โจทก์ จะให้ศาลไต่สวนในวันพรุ่งนี้ รวม 4 ปาก ประกอบด้วย น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. อดีตประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว,น.ส.แน่งน้อย เจริญทวีทรัพย์ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ซึ่งเป็นนักวิชาชีพการตรวจสอบบัญชี ที่จะเบิกความประเด็นหลักการทางบัญชี,น.ส.ศิรสา กันต์พิทยา รองผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ( สบน.) สังกัดกระทรวงการคลัง เบิกความเรื่องหนี้สาธารณะ และนายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เบิกความการเบิกจ่ายเงินให้กับชาวนามีจำนวนมาก-น้อยเพียงใด 

ขณะที่นายสวัสดิ์ เจริญผล ทนายความของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯ กล่าวถึงคดีที่อัยการ ยื่นฟ้องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ และนายสุเทพ ฐานฆ่าผู้อื่นฯ กรณีออกคำสั่งสลายการชุมนุม นปช. ปี 2553 ซึ่งศาลอาญา นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในวันพรุ่งนี้ ( 17 ก.พ.) เวลา 09.00 น. ที่ห้องพิจารณา 906 ว่า นายสุเทพ จะเดินทางมาฟังคำสั่งอย่างแน่นอน ซึ่งหากศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ศาลอาญารับคดีไว้พิจารณาคดีก็จะเข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาลอาญาต่อไป แต่หากศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้องตามศาลชั้นต้นก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของอัยการโจทก์ว่าจะยื่นฎีกาต่อไปหรือไม่ 

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวแจ้งด้วยว่า นายอภิสิทธิ์ ก็จะเดินทางมาเพื่อฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ในวันพรุ่งนี้เช่นเดียวกัน 

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับ คดีดังกล่าว อัยการฝ่ายคดีพิเศษ1เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ และอดีต ผอ.ศอฉ. เป็นจำเลยที่ 1-2 ในคดีหมายเลขดำ อ.4552/2556ต่อศาลอาญา เมื่อวันที่12ธ.ค.56 ฐานร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ซึ่งจำเลยได้ยื่นขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมาย เรื่องอำนาจสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) 

ทั้งนี้ก่อนที่จะจะเริ่มกระบวนการสืบพยาน ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 28 ส.ค.57 ศาลอาญา ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายดังกล่าวก่อน โดยศาลอาญา พิจารณาพฤติการณ์จำเลยทั้งสอง ตามคำฟ้องอัยการโจทก์แล้ว เห็นว่า แม้อัยการโจทก์ จะกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองได้ออกคำสั่ง ศอฉ.ที่ให้ใช้กำลังเจ้าหน้าที่ อาวุธและกระสุนจริง รวมทั้งพลแม่นปืนในการผลักดันผู้ชุมนุม หรือกระชับพื้นที่ หรือสลายการชุมนุม นปช. ในปี2553ต่อเนื่องจนถึงวันที่19พ.ค.53โดยมีเจตนาประสงค์ต่อผลที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวนั้นก็เกี่ยวพันกับการที่จำเลยทั้งสองใช้อำนาจตำแหน่งหน้าที่ราชการในฐานะนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี รวมทั้ง ผอ.ศอฉ.ตาม พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548ด้วย ไม่ใช่การกระทำทางอาญาที่กระทำโดยส่วนตัวหรือนอกเหนือหน้าที่ราชการ 

ดังนั้นจึงเป็นการกระทำที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งราชการด้วย เป็นการกระทำกรรมเดียวที่ควรพิจารณาไปในวาระเดียว ซึ่ง ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดก็ต้องยื่นฟ้องคดีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตาม พ.ร.บ.ว่าการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ.2542มาตรา66และ พ.ร.บ.ว่าด้วยวิธีการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542มาตรา9 (1)และประกาศ คสช. ฉบับที่11/2557และ24/2557ที่ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนชี้มูลความผิดเกี่ยวกับการกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ โดยคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลอาญา ดังนั้นจึงพิพากษายกฟ้อง