สุทธิพร ร่อนจม.เปิดผนึกค้านใช้ม.86ควบคุมม.เอแบค

สุทธิพร ร่อนจม.เปิดผนึกค้านใช้ม.86ควบคุมม.เอแบค

“สุทธิพร” ร่อนจม.เปิดผนึกถึง รมว.ศึกษาธิการ คัดค้านใช้มาตรา 86 ควบคุมม.เอแบค เดินหน้าอุทธรณ์ ชี้มีผลเสียต่อมหาวิทยาลัยมากกว่าผลดี

จากกรณีความขัดแย้งภายในของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) ของกรรมการสภาฯ ซึ่งมีการแบ่งเป็น สองฝ่าย ระหว่าง ดร.สุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล และกรรมการสภาฯ กลุ่มหนึ่ง กับ ภราดาบัญชา แสงหิรัญ และกรรมการสภาฯ อีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่สามารถหาทางออกของปัญหาได้ พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)จำเป็นต้องใช้มาตรา 86(4)และวรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติมมาบังคับใช้คือ แต่งตั้งคณะกรรมการเข้าไปดูแล ทำหน้าที่คล้ายสภามหาวิทยาลัย เป็นคนกลางเข้าไปช่วยดูแลช่วยแก้ไขปัญหา

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ดร.สุทธิพร ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรมว.ศึกษาธิการ เรื่องมาตรา 86 กับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่า ผมมีสองความรู้สึกกับมาตรา86ความรู้สึกแรก ความรู้สึกโล่งอกเพราะจะมี๕ระบุคคลที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีฯ เข้ามาเพื่อขจัดปัญหาการประพฤติมิชอบในการทำงานจนทำให้เกิดความเสียหลายร้อยล้านบาท รวมถึงการทุจริตในการบริหารงานเอแบคโพลล์ และการกู้ยืมเงิน 250 ล้านบาท ท่านรัฐมนตรีฯ ยังสัญญากับผมว่า “เรื่องต่างๆ ที่อาจารย์ (ตอนหลังทั้งทางรัฐมนตรีฯ และปลัดกระทรวงศึกษาธิการยอมรับ และเรียกผมว่ารักษาการอธิการบดีทั้งๆ ที่แรกๆ ไม่ยอมรับ) อยากให้เกิดขึ้น เช่น ระบบธรรมาภิบาลที่เป็นธรรมและโปร่งใส ตรวจสอบได้ รวมถึงระบบการสรรหาอธิการบดีจะเกิดถึงก่อนมีการส่งมอบคืนมหาวิทยาลัย” ความรู้สึกดังกล่าวนี้เกิดขึ้นเพื่อผมจะได้พักผ่อนและทำตัวใหม่ในฐานะผู้ตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการฯ

แต่เมื่อเวลาผ่านไปและทบทวนด้านลบของมาตรา 86 แล้ว ผมก็รู้สึกกังวลว่ามาตรา 86 น่าจะทำให้เกิดวามเสียหายต่อมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ผู้ปกครองคนไหนจะเอาลูกมาเข้าเรียนในสถาบันที่มีปัญหาถึงขนาดต้องมีการยึดมหาวิทยาลัย นักเรียนคนไหนจะมาเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีประวัติการถูกยึดโดยรัฐ ระยะสั้น คือ จำนวนนักเรียนที่ลดลง และในระยะยาวคือการนำไปสู่การปิดมหาวิทยาลัยจากการขาดทุนอันเนื่องมาจากค่าใช้จ่ายที่สูงกว่ารายได้ ซึ่งในขณะนี้จำนวนนักศึกษาก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังจะสร้างบรรทัดฐานทางด้านกฎหมายที่ลดทอนความสำคัญของสภามหาวิทยาลัย ที่มีข้อบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติฯ อย่างชัดเจนว่า “ให้เป็นองค์คณะที่จะต้องกำกับดูแลตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด”

เมื่อเปรียบเทียบกับความรู้สึกดังกล่าวแล้ว นำสู่การตัดสินที่จะคัดค้านมาตรา86และถ้าเป็นไปได้ก็ยอมเหนื่อยต่อไป เพื่อการดำรงอยู่ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่มีมาตรฐานการเรียนการสอนเทียบเท่ามหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย และนานาชาติ ผมขอให้ท่านรัฐมนตรีฯ ทบทวนการประกาศมาตรา86และถ้าท่านรัฐมนตรีฯ อยากให้มหาวิทยาลัยมีพัฒนาการดังกล่าวข้างต้น ผมขอให้ท่านรัฐมนตรีฯ และหน่อยงานที่เกี่ยวข้องแต่สนับสนุนและรับรองสถานภาพของผมว่าถูกต้องตามกฎหมาย ผมคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน ในการนำมหาวิทยาลัยกลับมาสู่ปกติ และดำเนินการสร้างระบบธรรมาภิบาล ระเบียบการสรรหาอธิการบดีใหม่อย่างยุติธรรม และการมีส่วนร่วมของคณาจารย์ทั้งในการสรรหาอธิการบดีและบริหารมหาวิทยาลัยภายในไม่เกิน9เดือน

ท่านรัฐมนตรีฯ ครับ การใช้มาตรา 86 โดยอ้าง (4) หรือ (2) คงจะไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสมกับปัญหาที่เกิดขึ้น ผมมองดูแล้วเหมือนกับคำพังเพยโบราณที่ว่า “ขี้ช้างจับตั๊กแตน” เพราะสถานการณ์ในมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ยังไม่รุนแรงขนาดเป็นภัยต่อความมั่นคง รวมทั้งจัดศีลธรรมอันดีงาม นับตั้งแต่วันจันทร์ที่ 4 มกราคม 2559 รวมไปถึงการเปิดภาคเรียนสองเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2559 นั้น การเรียนการสอนก็ดำเนินไปอย่างปกติ และผมก็ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ลงวันที่ 4 มกราคม 2559 รวมทั้งประกาศลงในเฟสบุ๊กของผมว่า “แนวทางในการเข้าไปบริหารงาน หลังวันที่ 30 ธันวาคม 2558 ของผมจะเลือกใช้กฎหมายเพื่อลดการต่อต้านในรูปแบบเดิมที่ผมไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น”

ผมเข้าใจว่าท่านรัฐมนตรีฯ ต้องการแก้ไขปัญหาให้จบอย่างเร็ววัน ผมเห็นด้วย แต่ว่าการแก้ปัญหาที่สร้างปัญหาใหม่ที่รุนแรงกว่า ผมไม่เห็นด้วย และด้วยความเชื่อว่าการใช้มาตร 86 จะนำไปสู่ปัญหาใหญ่ดังกล่าวผมขออนุญาตท่านรัฐมนตรีฯ ที่จะต้องดำเนินการทางกฎหมายในทุกวิถีทางเพื่อต่อต้านมาตรา 86 ตามความเชื่อของผม

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าขณะนี้ ทางศธ.ได้เตรียมร่างคำสั่งและเตรียมทาบทามผู้ทรงคุณวุฒิไว้แล้ว3-4คน ซึ่งจะต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจปัญหาของเอแบค ซึ่ง คาดว่าจะออกคำสั่งควบคุมได้ภายในวันที่ 19 ม.ค.นี้ ทั้งนี้ สำหรับสำหรับขั้นตอนการควบคุมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น รมว.ศึกษาธิการ มีคำสั่งควบคุมและแต่งตั้งกรรมการควบคุม ไม่น้อยกว่า 5 คนแต่ไม่เกิน 15 คน จากนั้นประกาศคำสั่งควบคุมในหนังสือพิมพ์รายวันภาษาไทย ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 วัน

 นอกจากนั้น ห้ามอธิการบดี คณาจารย์ประจำ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ เว้นแต่จะได้รับมอบหมายจากกรรมการควบคุม และส่งมอบทรัพย์สิน สมุดบัญชี เอกสาร และสิ่งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้แก่คณะกรรมการควบคุมโดยไม่ชักช้า

อย่างไรก็ตาม สถาบันอุดมศึกษาอาจอุทธรณ์คำสั่งควบคุมได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งและรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการอุทธรณ์คำสั่งควบคุม เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณา ซึ่งกรณีอุทธรณ์ฟังไม่ขึ้น คณะกรรมการควบคุมก็จะพิจารณาควบคุมต่อไป แต่หากอุทธรณ์ฟังขึ้น คณะกรรมการควบคุมก็จะพิจารณายกเลิกคำสั่งควบคุม

ดร.สุทธิพร กล่าวภายหลังส่งจดหมายเปิดผนึกว่า จดหมายดังกล่าวเป็นของตนจริง และจะเดินหน้าอุทธรณ์ไม่ให้ใช้มาตรา86 ตามที่ได้ชี้แจงในจดหมาย