สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ แง้มไฮไลท์ดาราศาสตร์ ปี59

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ แง้มไฮไลท์ดาราศาสตร์ ปี59

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ รอจับตาการค้นพบดาวเคราะห์ นอกระบบสุริยะ หลังยานนิวฮอไรซันส์ที่เคลื่อนจากดาวพลูโต และการลงจอดของยานสำรวจดาวพฤหัสบดี

รศ.ดร.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เปิดเผยถึง “10 เรื่องดาราศาสตร์ที่ไม่ควรพลาดในปี 2559” ว่า มีประเด็นให้จับตามองหลายเรื่อง หนึ่งในนั้นคือการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ ที่คาดว่าองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐอเมริกาหรือนาซาเตรียมประกาศในเร็วๆ นี้ จากปัจจุบันมีการค้นพบแล้วกว่า 2 พันดวง ถัดมาคือภารกิจของยานสำรวจอวกาศที่ชื่อนิวฮอไรซันส์ หลังจากบันทึกและส่งภาพดาวพลูโตมายังโลกเมื่อปีที่แล้ว ขณะนี้กำลังเคลื่อนตัวผ่านผ่านวัตถุแถบไคเปอร์ (Kuiper Belt Object) สู่ระบบสุริยะด้านนอก คาดว่า ในระหว่างการเดินทางที่ยาวนานนี้จะพบดาวเคราะห์น้อยหรือดาวเคราะห์แคระดวงใหม่ และอาจประกาศภายในปีนี้เช่นกัน

ด้านปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์บนท้องฟ้าบ้านเรามี 5 เรื่องหลังที่จะทยอยปรากฏ ได้แก่ สุริยุปราคาเต็มดวง 9 มี.ค. เป็นสุริยุปราคาลำดับที่ 52/73 ชุดซารอสที่ 130 แนวคราสเต็มดวงเคลื่อนที่จากมหาสมุทรอินเดียสู่มหาสมุทรแปซิฟิก สำหรับประเทศไทยจะเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วนเวลา 6.30-8.40 น. มองเห็นได้ทุกภูมิภาคของประเทศ

ดาวอังคารใกล้โลก 31 พ.ค. เป็นการโคจรใกล้โลกมากที่สุดในช่วง 11 ปีที่ระยะห่างประมาณ 75.29 ล้านกิโลเมตร ช่วงเวลาที่เหมาะแก่การสังเกตคือ ระหว่างวันที่ 22-31 พ.ค. จะเห็นดาวอังคารสว่างกว่าปกติ ปรากฏบนท้องฟ้าทั้งคืนและมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และหาหใช้กล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กจะมองเห็นขั้วน้ำแข็งและลักษณะพื้นผิวดาวอังคารได้

นอกจากนี้ 4 ก.ค.ยานอวกาศจูโนของนาซาเดินทางถึงดาวพฤหัสบดี และจะเริ่มปฏิบัติการสำรวจอย่างเต็มกำลัง หลังจากถูกส่งขึ้นไปปฏิบัติการในอวกาศจากสถานีกองทัพอวกาศเคปคานาเวอเรล มลรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2554 เพื่อเดินทางไปศึกษาดาวพฤหัสบดี ใช้ระยะเวลา 5 ปี ระยะเดินทาง 19 หน่วยดาราศาสตร์หรือ 2,766.33 ล้านกิโลเมตร

ซูเปอร์มูนวันลอยกระทง 14 พ.ย. เวลา 20.52 น. ดวงจันทร์จะโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดที่ระยะห่าง 356,536 กิโลเมตร ทำให้มองเห็นดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าปกติ 2-3% ส่วนปรากฏการณ์อื่นๆ ที่น่าติดตาม ได้แก่ ดาวเคราะห์ชุมนุม (ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี ดาวพุธ) ช่วง 26-29 ส.ค., ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ 9 พ.ค.ช่วงก่อนดวงอาทิตย์ตก บริเวณใกล้ขอบฟ้า จึงสังเกตเห็นได้ยาก, ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ 12-13 ส.ค.จำนวนราว 150 ดวงต่อชั่วโมง แสงจันทร์รบกวน, ฝนดาวตกลีโอนิดส์ 17-18 พ.ย.จำนวนราว 15 ดวงต่อชั่วโมง แสงจันทร์รบกวน, ฝนดาวตกเจมินิดส์ 14-15 ธ.ค.จำนวนราว 120 ดวงต่อชั่วโมง แสงจันทร์รบกวน (จันทร์เพ็ญ)

รศ.ดร.บุญรักษา กล่าวอีกว่า สำหรับภารกิจของ สดร.ในปีนี้จะเน้นสนับสนุนงานวิจัยด้านดาราศาสตร์ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถและศักยภาพด้านดาราศาสตร์ของประเทศ ประกอบด้วยการสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ได้แก่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา และ หอดูดาวภูมิภาค 5 แห่งในนครราชสีมา ฉะเชิงเทรา พิษณุโลก ขอนแก่นและสงขลา เอื้อให้นักวิจัยไทยดำเนินการวิจัยร่วมกับเครือข่ายดาราศาสตร์ทั้งในและต่างประเทศ, โครงสร้างพื้นฐานทางดาราศาสตร์ในต่างประเทศ ได้แก่ เครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ทางไกลอัตโนมัติ ที่ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จใน 3 แห่งคือ หอดูดาวซีกฟ้าใต้ ณ หอดูดาวเซอร์โทโลโล อินเตอร์อเมริกัน สาธารณรัฐชิลี, หอดูดาวเกาเหมยกู่ มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน และหอดูดาวเซียร่ารีโมท มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา,

ศูนย์ฝึกอบรมดาราศาสตร์นานาชาติภายใต้ยูเนสโก เพื่อรองรับการเข้าสู่ความร่วมมือทางวิชาการดาราศาสตร์ในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และยกระดับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศสู่สากล รวมถึงผลักดันไทยสู่ผู้นำทางดาราศาสตร์ในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติต่อไป

การพัฒนากำลังคน ได้แก่ ความร่วมมือด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์อนุภาคกับสถาบันเดซี สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี, โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก, โครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์และ Astro Corner in Schools เป็นการมอบกล้องโทรทรรศน์และสื่อการเรียนรู้ให้กับโรงเรียนที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศ กระตุ้นความสนใจและพัฒนาทักษะ ที่สำคัญคือ หวังให้เกิดเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านดาราศาสตร์ที่เข้มแข็งของเยาวชนและประชาชนในทุกภูมิภาค