เสนอ3แนวทาง'บัตรทอง' ยันปี59ยังใช้ระบบเดิม

เสนอ3แนวทาง'บัตรทอง' ยันปี59ยังใช้ระบบเดิม

คณะทำงานฯเสนอ 3 แนวทางร่วมจ่ายสมทบค่ารักษา"ก่อนป่วย-ภาษี-จ่าย ณ จุดบริการ" ยัน บัตรทองปี 59 ยังใช้ระบบเดิม

มีการประชุมสรุปข้อเสนอคณะกรรมการจัดทำแนวทางเพื่อระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบลักประกันสุขภาพมีนพ.สุวิทย์ วิบูลย์ผลประเสริฐ เป็นประธาน และนายอัมมาร สยามวาลา เป็นที่ปรึกษา เสนอต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.)  เพื่อพิจารณาหาแนวทางที่เหมาะสมในการทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐยั่งยืนต่อไป โดยใช้เวลาในการนำเสนอและพิจารณาประมาณ 1 ชั่วโมง

  นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ทุกคนในประเทศไทยไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจนต่างก็เสียภาษีด้วยกันทั้งนั้น แต่ในส่วนของผู้ประกันตนกลับต้องมีการจ่ายสมทบเพิ่มเติมเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาล ในขณะที่สิทธิข้าราชการ และระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ไม่ต้องมีการจ่ายสบทบแต่อย่างใด ดังนั้นคณะกรรมการจึงได้มีการศึกษาข้อมูลเพื่อหาแนวทางการสร้างระบบการรักษาพยาบาลภาครัฐให้เกิดความเท่าเทียมกัน และมีข้อสรุป 4 ประเด็นย่อยเพื่อความยั่งยืน (Sustainability goal) พอเพียง (Adequacy goal) เป็นธรรม (Fairness goal) และมีประสิทธิภาพ (Efficiency goal) หรือSAFE โดยเฉพาะรื่องความเป็นธรรม นั้นมีข้อสรุป3

ประเด็น 1. เก็บสมทบก่อนเจ็บป่วย โดยสิทธิประกันสังคมต้องมีการปรับเพิ่มเพดานเงินเดือนขึ้นต่ำขึ้น 7 เท่า เช่นเพิ่มจาก 15,000 เป็น 50,000 บาท สิทธิข้าราชการถ้าเป็นข้าราชการเดิมก็ให้ได้รับสิทธิตามที่เคยได้ หรือเลือกใช้ระบบใหม่ก็ได้ ถ้าเป็นข้าราชการใหม่หรือลูกจ้างของรัฐให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม แล้วปรับเพิ่มฐานเงินเดือนขึ้น 1.3-1.5 เท่า ส่วนบัตรทองให้มีการจ่ายเงินสมทบโดยแบ่งตามรายได้หรือเศรษฐสถานะ 3-5 ช่วงชั้น ซึ่งตรงนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป และยกเว้นผู้มีรายได้น้อยและผู้ที่สังคมควรให้การช่วยเหลือ

2. เก็บสมทบจากระบบภาษี อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ยกเว้นผู้มีรายได้น้อย และพิจารณาเก็บภาษีอื่น เช่นการทำธุรกรรมทางการเงิน และสร้างระบบให้มั่นใจได้ว่าภาษีที่เก็บนี้จะนำมาอุดหนุนระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ และ 3. การให้ผู้ป่วยจ่ายสมทบ ณ จุดบริการ ซึ่งมาตรการนี้มีข้อควรระวังอยู่ เช่น 1. ต้องไม่ให้มีการร่วมจ่ายในคนที่เป็นโรติดต่อ อาทิ วัณโรค ไอกรน แต่ไม่ใช่ทั้งหมด อาจจะต้องมีพิจารณาโรคสำคัญๆ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคก็ต้องละเว้นการร่วมจ่าย 2. ต้องมีระบบป้องกันผู้ทั่มีรายได้ต่ำ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูง และผู้ที่สังคมควรให้ความช่วยเหลือ 3.ต้องมีการจ่ายเพิ่มในกรณีรับบริการพิเศษนอก เช่น ห้องพิเศษ อาหารพิเศษ 4. มีกลไกป้องกันคนมีรายได้สูงดูดทรัพยากร ไปใช้แล้วทำให้ผู้มีรายได้น้อยต้องรอคิวนาน และ 5. ต้องมีระบบกระจายเงินที่เก็บได้ให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ อย่างเหมาะสม แต่ไม่ใช้เก็บเงินคืนมาที่ส่วนกลางแล้วค่อยไปกระจายใหม่

"หลักการเก็บเงินสมทบไม่ได้ต้องการหาเงินเข้าในระบบ แต่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกคนให้ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม แต่ไม่ได้คิดเรื่องการรวมกองทุน ส่วนที่มีการเอาไปโยงเป็นเรื่องการเมืองนั้น แน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องเป็นการเมืองอยู่แล้วจึงจะเดินหน้าได้ แต่ต้องพูดด้วยข้อมูล ข้อเท็จจริง การที่ยังไม่มีข้อมูลก็ไปมโนว่าจะล้มเลิกบัตรทอง ดังนั้นเรื่องนี้ประชาชนต้องฟังข้อมูลและตัดสิน" นพ.สุวิทย์ กล่าว

นพ.สุวิทย์ กล่าวอีกว่า ส่วนแง่ความยั่งยืนด้านการเงินการคลังต้องอยู่ในระดับที่ประเทศ รัฐบาล และครัวเรือน สามารถลงทุนด้านสุขภาพได้ในระยะยาว คือมีรายจ่ายสุขภาพทั้งหมดต้องไม่เกินร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) รายจ่ายรัฐบาลด้านสุขภาพไม่เกินร้อยละ 20 ของรายจ่ายรัฐบาลทั้งหมด ด้านความพอเพียง นั้นรายจ่ายต้องเพียงพอคือไม่น้อยกว่า 4.6 ของจีดีพี จัดบริการ และทุกคนเข้าถึงบริการการแพทย์ที่จำเป็น ทั้งเรื่องยา และเทคโนโลยีการรักษา ป้องกันไม่ให้ล้มละลาย รายจ่ายของรัฐบาลด้านสุขภาพต่อรายจ่ายของรัฐบาลต้องไม่น้อยกว่าที่เป็นอยู่คือร้อยละ 17 การจนลงจากการจ่ายค่ารักษาของครัวเรือนต้องไม่เกินร้อยละ 0.47 ด้านความเป็นธรรม เพื่อให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงบริการทั้งยาและเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่จำเป็น และป้องกันไม่ให้ครัวเรือนประสบภาวะล้มละลายหรือกลายเป็นครัวเรือนยากจนจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล

ด้าน นพ.ปิยะสกล กล่าว่วา ตนขอรับข้อเสนอเหล่านี้ไปพิจารณาต่อ โดยจะตั้งคณะทำงานขึ้นมา 1 ชุด ที่มีองค์ประกอบของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน นักเศรษฐศาสตร์ และนายอัมมาร เพื่อพิจารณารายละเอียดตามข้อเสนอและให้ได้ข้อสรุปว่าจะเดินหน้าอย่างไร คาดว่าหลังปีใหม่น่าจะสามารถตั้งคณะทำงานได้อย่างเป็นทางการและกำหนดแนวทางการทำงานต่อ ส่วนเรื่องบัตรทองในปี 2559 นั้นยังใช้แบบเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ในปี 25560 น่าจะได้ข้อสรุปและมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นไปตามกรอบระยะเวลา และอายุการทำงานของรัฐบาลชุดนี้