'รมว.สธ.'ประกาศปี59 ปฏิรูปบัตรทอง'ประชารัฐ'ร่วมจ่าย

'รมว.สธ.'ประกาศปี59 ปฏิรูปบัตรทอง'ประชารัฐ'ร่วมจ่าย

"นพ.ปิยะสกล" รมว.สธ. ประกาศปี59 ปฏิรูปบัตรทอง "ประชารัฐ" ร่วมจ่าย สร้างระบบหลักประกันฯมั่นคง-ยั่งยืน

ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) กล่าวระหว่างMEET THE PRESSเกี่ยวกับผลงานสธ.จามนโยบายในรอบ 1 ปีว่า หลายประเทศชื่นชมประเทศไทยเกี่ยวกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทองว่าใช้งบประมาณน้อยแต่สามารถดูแลระบบได้ทั้งประเทศ แต่งบฯมาจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ซึ่งแนวโน้มการใช้งบประมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันสัดส่วนอยู่ที่ 16-17%คิดเป็น 4.6%ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ซึ่งบางประเทศที่มีระบบเช่นเดียวกับประเทศไทยสามารถอยู่ได้ แต่มีการร่วมกันรับผิดชอบ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องคิดว่าจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปหรือไม่อย่างไร

รมว.สธ. กล่าวอีกว่า ในปี 2559 ประชารัฐจะต้องร่วมสร้างความมั่นคงและยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าจะดำเนินการแบบไหน อย่างไร จะให้รัฐบาลรับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียวไม่ไหว ใครจะช่วยจ่ายระบบอย่างไรต้องมาหารือร่วมกัน ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการจัดทำแนวทางเพื่อระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพที่มีนพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ เป็นประธานและ ดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นที่ปรึกษา ได้เสนอภาพรวมว่าจะต้องดำเนินการแบบSAFEคือ ยั่งยืน เข้าถึงได้ มีความเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ ถือเป็นแนวทางที่ดี แต่ต้องมีกระบวนการมีเงินมาช่วยระบบนอกเหนือจากงบประมาณจากรัฐบาลอย่างเดียว และไม่มีประเทศไหนที่รวมกว่าประเทศไทยกล้าที่จะใช้งบประมาณจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ประเทศไทยต้องยอมรับความจริง

“ทุกคนบอกว่าถ้าพูดเรื่องให้ประชาชนร่วมจ่ายจะถูกตี แต่ผมก็ต้องยอมให้ถูกตี ถ้าไม่มีใครกล้าที่จะปรับปรุงระบบ ก็จะต้องปล่อยให้ระบบหลักประกันแห่งชาติเจ๊ง และเรื่องนี้ถ้าใครไม่เห็นด้วยก็ต้องเสนอแนวทางมาให้ว่าจะให้ทำอย่างไร ถ้าบอกว่าประชารัฐร่วมกันแล้วไม่ดี ก็ต้องบอกมาว่าที่ดีต้องทำอย่างไร จะพัฒนาประเทศอย่างไร แต่ประชารัฐต้องมีส่วนร่วมเรื่องหลักประกันสุขภาพฯ ทำให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ต้องเดินหน้าและยืนอยู่บนความจริง ซึ่งการที่จะประชารัฐจะร่วมกันก็มีหลายรูปแบบมากมาย ต้องมาคุยกันด้วยเหตุและผล ไม่ใช่ตีก่อนเลย และในวันที่ 29 ธันวาคม 2558 จะเชิญคณะกรรมการฯที่มีนพ.สุวิทย์ เป็นประธานมาประชุมร่วมกัน จากนั้นจะตั้งคณะทำงานเพื่อเดินหน้าต่อทันที และยินดีมากหากภาคประชาชนจะเข้ามาร่วมเสนอแนวทาง เพราะทุกึคคนเป็นเจ้าของประเทศเหมือนกัน ปัญหาต้องได้รับการแก้ไข” ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกลกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมามีการติงว่าสวัสดิการข้าราชการใช้งบประมาณในการรักษาพยาบาลมากกว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ข้าราชการเงินเดือนน้อยกว่าเอกชน การให้สิทธิการรักษาพยาบาลก็เป็นการให้สวัสดิการ หากจะปรับปรุงก็ต้องเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการแล้วมาจ่ายรักษาพยาบาลเท่ากัน