แจงปฏิรูปตำรวจลดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง

แจงปฏิรูปตำรวจลดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง

ปธ.ทำแผนปฏิรูปตำรวจสปช.เตรียมสรุปรายงาน เสนอสปช.เห็นชอบ 5 ส.ค. เผย 4 แนวทางปฏิรูป ย้ำต้องลดการแทรกแซงงานตำรวจจากฝ่ายการเมือง

นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะประธานกรรมการจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจ สปช. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำแผนปฏิรูปกิจการตำรวจ ว่า ขณะนี้การจัดทำแผน ใกล้จะเสร็จสมบูรณ์แล้ว และภายในสัปดาห์นี้กรรมการจะนัดประชุมเพื่อดำเนินการพิจารณารายงานอีกครั้งก่อนส่งให้ที่ประชุมสปช. พิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 5 ส.ค. นี้ โดยในการศึกษา คณะกรรมการฯ ได้นำรายงานการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เรื่อง วาระที่6 กิจการตำรวจ รายงานฉบับสมบูรณ์ การพัฒนาระบบงานตำรวจและยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบงานตำรวจ ที่มี พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร เป็นประธานฯ ซึ่งได้ศึกษาแล้วเสร็จเมื่อปี 2551 และผลสำรวจความเห็นและผลการพิจารณาเพื่อปรับปรุงงานตำรวจมาประกอบการพิจารณา โดยมีประเด็นสำคัญดังนี้

1.ความเป็นอิสระของหน่วงานตำรวจ ปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง, 2.วางแนวทาง มาตรฐานการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ป้องกันปัญหาการทุจริต คอร์รัปชั่น การวิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่ง เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงของการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ, 3.การปฏิรูปงานสอบสวน และ 4,การถ่ายโอนภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของงานตำรวจไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบในการดำเนินงาน นอกจากนั้นยังมีเรื่องอื่นๆ ประกอบ เช่น การทำงานของหน่วยงานนิติวิทยาศาสตร์, การพัฒนาสมรรถภาพของข้าราชการตำรวจ, งบประมาณสนับสนุนกิจการตำรวจ เป็นต้น

"รายงานที่ศึกษาที่เสนอให้สปช. พิจารณาเห็นชอบ หากผ่านความเห็นชอบแล้วคงเสนอไปยังรัฐบาล ซึ่งต้องขอชี้แจงว่า ประเด็นปฏิรูปกิจการตำรวจนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งให้ศึกษาอย่างเร่งด่วน เข้าใจว่าต้องเป็นไปภายในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยส่วนข้อเสนอของกรรมการฯ ที่ผ่านความเห็นชอบของสปช. และเสนอไปยังรัฐบาล เชื่อว่ารัฐบาลจะนำไปประกอบการพิจารณา เพื่อปฏิรูปงานตำรวจตามที่เห็นสมควรต่อไป ส่วนรัฐบาลจะรับไปพิจารณามากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของทางรัฐบาลที่จะพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง" นายธีรยุทธ์ กล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามถึงความชัดเจนต่อประเด็นที่เสนอให้ปรับเปลี่ยนการเลือกตำรวจที่มาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จากเดิมที่ให้สิทธิ ก.ตร. ที่มีนายกฯ เป็นประธาน พิจาณาไปเป็นการลงคะแนนเลือกตั้ง นายธีรยุทธ์ กล่าวว่า ขอให้รอผลการพิจารณาซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาที่ยังไม่เรียบร้อย ทั้งนี้มีแนวทางที่กำหนดไว้เบื้องต้นคือ เป็นแนวทางให้ได้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่ได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ เป็นธรรม และอย่างมีศักดิ์ศรี รวมถึงได้รับการยอมรับจากข้าราชการตำรวจด้วย 

เมื่อถามถึงรายละเอียดของผลการศึกษาที่ได้แนวทางไม่ให้การเมืองแทรกแซงกิจการตำรวจ นายธีรยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ใช่หมายถึงไม่ให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงโดยเด็ดขาด แต่เป็นการลดการแทรกแซงจากทางการเมือง เช่น ที่ผ่านมาพบปัญหาทุกครั้งที่มีการแต่งตั้ง ผบ.ตร. เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลในแต่ละครั้ง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการบริหารบ้านเมือง จะมีผลกระทบต่อตำแหน่ ผบ.ตร. ด้วยทำให้ต้องพิจารณาว่าทำอย่างไรให้การแต่งตั้ง การอยู่ในตำแหน่งหรือการปฏิบัติหน้าที่ของผบ.ตร.นั้นมีความั่นคงและบริหารงานตำรวจได้เพื่อประโยชน์ของประชาชนได้อย่างแท้จริง ขณะที่ข้อเสนอของการให้แยกงานสืบสวน ออกจากงานสอบสวน นั้นยังอยู่ระหว่างการศึกษ

เพราะตามข้อเสนอของกมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. เสนอมี 2 แนวทาง คือ แยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ให้เป็นหน่วยงานใหม่ หรือให้งานสอบสวนอยู่กับสตช. แต่ให้มีความอิสระในการดำเนินงาน โดยกรรมการฯ ได้นำทั้ง 2 ข้อเสนอมาศึกษาเปรียบเทียบเพื่อหาข้อยุติที่เหมาะสม เบื้องต้นเห็นว่างานสืบสวน และงานสอบสวน เป็นงานที่แยกกันยาก เพราะต้องทำงานควบคู่ เมื่อมีคดีเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายสืบสวน หรือฝ่ายสอบสวน ต้องออกไปตรวจที่เกิดเหตุและต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้งานนั้นสมบูรณ์ แต่หากงานแยกกันเด็ดขาดและไม่ยุ่งเกี่ยวกันการทำงานจะลำบาก ผลเสียหายจะตกอยู่ที่ประชาชน  

ถามต่อถึงความจำเป็นต่อการปฏิรูปกิจการตำรวจ นายธีรยุทธ์ กล่าวว่า มีความจำเป็นต้องดำเนินการ เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนจำนวนมากคาดหวัง โดยเฉพาะระบบงานตำรวจ ซึ่งเกี่ยวข้องการยุติธรรม โดยเฉพาะคดีอาญา คดีมั่นคง และความสงบเรียบร้อยของสังคมและบ้านเมือง และประเด็นที่กระทบกับความเสียหายและเดือดร้อนของประชาชน ทำให้ประชาชนไม่มีความมั่นใจ ทำให้สปช.ตามที่ได้รับมอบหมายภารกิจตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ส่วนที่เกี่ยวกับการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรม งานตำรวจถือเป็นส่วนหนึ่งในงานยุติธรรมที่สำคัญที่มีผลกระทบต่อการอำนวยความยุติธรรมของประชาชน จึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูป