'นพ.ประทีป'กั๊กท่าทีหนุนสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ

'นพ.ประทีป'กั๊กท่าทีหนุนสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ

“นพ.ประทีป” รก.เลขาฯสปสช. กั๊กท่าทีหนุนสภาประกันสุขภาพแห่งชาติ แนะ 3 แนวทางสร้างความเท่าเทียมระบบบริการสุขภาพ

นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รักษาการเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)กล่าวถึงกรณีที่มีการยกร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่เพื่อตั้งสภาประกันสุขภาพแห่งชาติว่าส่วนตัวเห็นว่าคนที่ทำเรื่องนี้ทั้ง ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา ในฐานะประธานยกร่างพรบ.ก็ไม่มีผลประโยชน์อะไร และนพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่ทำงานร่วมกับองค์การอนามัยโลกมาตลอด ซึ่งทุกวันนี้กองทุนรักษาพยาบาลของภาครัฐมีความแตกต่างกัน ให้สิทธิไม่เท่ากัน ใช้งบประมาณแตกต่างกัน ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ถ้าแยกการคิด แยกกันทำ แยกการบริหารจัดการก็ไม่จบ ดังนั้น ถ้าจะมีกลไก หรือมีเครื่องมือให้ทั้ง3กองทุนมีการออกแบบสิทธิประโยชน์ และบริหารจัดการไปในทางเดียวกัน ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์ ก็เป็นเรื่องที่ดี

“ต้องดูสถานการณ์ด้วย ถ้าใช้การบังคับ โดยไม่ทำให้สังคมเข้าใจก็คงยากที่จะสำเร็จ ส่วนพรบ.ที่ยกร่างใหม่ก็ถือว่าดี แต่กรณีที่ระบุว่าบูรณาการให้ทั้ง3กองทุนเกิดประสิทธิภาพเพื่อความเป็นธรรม โดยได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อยไปกว่าเดิม ถ้าตั้งต้นอย่างนี้ก็ยาก เพราะวันนี้ข้าราชการได้รับงบประมาณรายหัวอยู่1.2หมื่นบาท บัตรทองได้รับประมาณ3พันบาท หากจะให้ลดสิทธิข้าราชการมาเท่าบัตรทองก็คงไม่มีใครยอม และถ้าให้สิทธิบัตรทองไปเท่ากับข้าราชการก็ต้องใช้งบประมาณมหาศาล แต่ก็ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบทที่จะทำให้ระบบมีประสิทธิภาพเสมอภาคอย่างไร ส่วนตัวยังไม่เห็นด้วยที่จะรวมกองทุนกันในช่วงนี้ เพราะขณะนี้ รัฐบาลต้องแบกรับเรื่องการปฏิรูปอีกมาก แต่ถ้าให้มีการประสานข้อมูลกัน ช่วยกัน น่าจะเหมาะกว่า ส่วนอนาคตจะรวมกองทุนได้หรือไม่ก็ต้องดูที่สถานการณ์” นพ.ประทีปกล่าว

นพ.ประทีป กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางที่จะทำให้เกิดความเท่าเทียมในสถานการณ์ตอนนี้ คือ1.ทำให้ทั้ง3ระบบมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเรื่อยๆ เช่น กระจายการใช้บริการให้ออกไปตามความจำเป็น ไม่กระจุกตัวที่รพ.ใหญ่ จะทำให้การลงทุนภาครัฐไม่มีประสิทธิภาพ2.ต้องมีการควบคุมดูแลเรื่องของสิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะค่ายา เทคโนโลยีการแพทย์ราคาแพงต้องมีการประเมินความคุ้มค่าให้ชัดเจนและ3.ในส่วนที่เคยได้รับงบประมาณน้อยอย่างบัตรทอง รัฐต้องค่อยๆ เพิ่มการสนับสนุนตามฐานะของประเทศ ส่วนระบบที่เคยได้รับมากก็ทำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น