เสวนาพรรคการเมืองย้ำรธน.ใหม่สร้างปัญหาในอนาคต

เสวนาพรรคการเมืองย้ำรธน.ใหม่สร้างปัญหาในอนาคต

พรรคการเมืองร่วมแสดงความเห็นร่างรธน.ใหม่ "เพื่อไทย-ชาติไทยพัฒนา-ชาติพัฒนา" ชี้ก่อปัญหาในอนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการสัมมนาเรื่องหลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตย นักการเมืองและสถาบันการเมือง ตัวแทนของพรรคการเมืองที่เข้าร่วมได้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง โดยมีตัวแทนแต่ละพรรคการเมืองจำนวน 30 รายที่แสดงเจตจำนงในการเสนอความเห็น ซึ่งได้รับจัดสรรเวลาคนละ 5 นาที 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้ให้ความเห็นถึงกมธ.ยกร่างฯ เพื่อพิจารณาทบทวน หลักการต่างๆ อาทิจะทำอย่างไรให้รัฐสภามีการตรวจสอบถ่วงดุลอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่มาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาจนถึง ปี 2550แล้วจะทำอย่างไรให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็งเป็นที่รวมของผู้ที่มีอุดมการณ์ให้การขับเคลื่อนประชาธิปไตยก้าวไปสู่เป้าหมาย


นายจุรินทร์ กล่าวว่า ตนมีข้อห่วงใยที่ว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้ไปเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายบริหาร โดยเฉพาะในประเด็นการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2และ3 ซึ่งตามหลักการของกมธ.ยกร่างฯนั้น เข้าใจว่าต้องการให้พรรคฝ่ายค้านมีคนไปทำหน้าที่ แต่เวลาเลือกสมมติมีพรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรคและส่งไปพรรคละคนก็จะเกิดการบล็อคโหวต จะได้คนจากพรรครัฐบาลทั้งหมดที่สุดพรรคฝ่ายค้านก็ไม่มีรองประธานแม้แต่คนเดียวกลายเป็นการรับรองผู้ชนะกินรวบเหมือนเดิมทุกประการ จึงอยากให้กมธ.ยกร่างฯระบุเจตนารมณ์ให้ชัดเจนว่า

พรรคการเมืองที่ได้เสียงมากที่สุดได้เป็นประธานรัฐสภาพรรคอันดับสองและอันดับสามก็ได้สิทธิรองประธานรัฐสภาตามลำดับหรือถ้ากังวลว่าประธานสภาฯ และรองประธานฯ จะไม่มีคนจากฝ่ายค้าน ก็อาจระบุว่าอย่างน้อยหนึ่งคนที่อยู่ในพรรคซึี่งไม่มีรัฐมนตรีในรัฐบาล หรือพรรคที่แปรไปร่วมรัฐบาลก็ต้องให้คนในพรรคนั้นหลุดจากตำแหน่งรองประธานไปด้วยแล้วให้ฝ่ายค้านเป็นแทน

นายจุรินทร์ กล่าวว่า กรณีการให้ส.ส.และส.ว.ลงมติถอดถอนด้วยนั้น เท่ากับให้แต้มต่อกับฝ่ายบริหาร เพราะฝ่ายรัฐบาลย่อมมีเสียงมากกว่าแทนที่คนถูกถอดถอนจะอยู่ในรัฐบาล คนที่จะถูกถอดถอนจะเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างฝ่ายค้านที่มีเสียงน้อยกว่า
จึงต้องนำกลับไปพิจารณา

"ที่สำคัญในอนาคตหากกำหนดให้สองสภาใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งเป็นมติถอดถอน อาจทำให้เกิดการจัดตั้งรัฐบาลแบบศรีธนญชัยที่เจอมาในอดีต คือทั้งสองสภามีส.ส. 450 คน กับส.ว. 200 คน ครึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาคือ 325 ก็อาจมีการตั้งรัฐบาล 326 เสียงเมื่อเป็นเช่นนี้รัฐบาลไม่มีโอกาสถูกถอดถอน"นายจุรินทร์ กล่าว

ขณะที่นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงรายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อเสนอว่าหลักการทั้ง 13 ข้อของกมธ.ยกร่างฯ นั้น ก็มีความเป็นห่วงว่าจะเป็นเรื่องของการปฏิรูปหรือจะสร้างปัญหาใหญ่ เพราะในทางปฏิบัติมันไม่เหมือนตอนเขียนรัฐธรรมนูญ เช่นมีการพยายามตั้งกรรมการขึ้นมาหลายชุดเพื่อตรวจสอบผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยเฉพาะ การตรวจสอบทรัพย์สินบุคคลก่อนลงรับสมัครเลือกตั้งหากไม่ชัดเจนจะไม่มีสิทธิลงรับสมัครซึ่งตรงนี้จะเกิดปัญหาความไม่เป็นธรรมหากได้ผู้ที่เข้ามาตรวจสอบไม่เป็นกลางหรือสุจริตเที่ยงธรรมซึ่งปัญหานี้จะลงไปถึงท้องถิ่นที่จะมีการตั้งสมัชชาพลเมืองต่อไปองค์กรท้องถิ่นจะทำงานยาก

นายสามารถ กล่าวต่อว่า อีกเรื่องที่มีความสำคัญคือ ในส่วนของพรรคการเมืองตนเห็นว่าหลักการของกมธ.ยกร่างฯ ไม่เป็นการส่งเสริมพรรคการเมืองและยังทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ เพราะ ส.ส.จะสังกัดพรรคหรือไม่ก็ได้หรือจะเป็นคณะบุุคคล ซึ่งมีกฏเกณฑ์การควบคุมที่แตกต่างกัน ที่ชัดเจนคือประเด็นที่ระบุว่าในการหาเสียงของพรรคการเมืองต้องบอกถึงเงินภาษีของประชาชนที่จะนำไปทำโครงการต่างๆว่ามีที่มาจากไหน ใช้เท่าไหร่ มันก็จะกลายเป็นว่าต่อไปนี้ไม่ต้องทำพรรคแล้ว ตั้งเป็นคณะบุคคลดีกว่าเพราะไม่ถูกเงือนไขนี้บังคับ

นายสามารถ กล่าวว่าในการสมัครส.ส.ที่กมธ.ยกร่างฯต้องการให้มีการป้องกันการซื้อสิทธิขายเสียงถามว่าผู้สมัครที่ไม่มีนโยบายไปหาราษฎรจะเอาอะไรไปบอกว่าจะเข้าไปทำอะไรใครเป็นนายกรัฐมนตรี ในที่สุดสิ่งที่เรากลัวคือวิธีการหาเสียงที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย มันจะยิ่งกลับมา

"ขอกรุณาการทำกติกาต้องเป็นกติกาที่ยอมรับได้ทุกฝ่าย ที่นานาชาติรับได้และที่สำคัญบ้านเมืองเราที่แบ่งเป็นฝักเป็นฝ่ายจึงอย่าเขียนกติกาแบบมีอคติอย่าให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดรู้สึกว่าจะถูกกีดกันหรือไม่อยากให้อธิบายได้ทุกมาตราว่าเขียนเพราะอะไร" นายสามารถ กล่าว

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา กล่าวถึงข้อเสนอว่าเห็นด้วยที่จะให้กกต.จัดการเลือกตั้งส่วนประเด็นที่จะให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทนรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีระหว่างช่วงเลือกตั้งนั้น ตนไม่เห็นด้วย เพราะช่วงนั้นอาจมีการประชุมหารือกันระหว่างประเทศการจะให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่ผู้แทนของประเทศอาจทำให้ศักดิ์ศรีของประเทศต่ำลง จึงเห็นว่าควรให้นายกรัฐมนตรีรักษาการต่อไปแต่ให้มีการจำกัดอำนาจเพื่อไม่ให้ใช้อำนาจนั้นเอาเปรียบผู้อื่นในการเลือกตั้ง

นพ.วรรณรัตน์ กล่าวว่า ประเด็นที่จะให้หัวหน้าพรรคการเมืองลำดับ 1-4 ในสภาครั้งที่แล้วต้องดีเบตผ่านโทรทัศน์นั้น เห็นว่าไม่เป็นธรรมเป็นการเลือกปฏิบัติจึงควรให้หัวหน้าทุกพรรคการเมืองมีดอกาสดีเบตเพื่อให้ประชาชนตัดสินอีกทั้ง ที่กมธ.ยกร่างฯ ระบุ ว่าส.ส.จะสังกัดพรรคหรือไม่ก็ได้ เห็นว่าไม่เป็นธรรม เพราะมีกฏเกณฑ์ควบคุมกันคนละรูปแบบ จึงเห็นว่าส.ส.ควรสังกัดพรรคการเมือง และเคารพมติพรรคแต่ในบางกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญ ส.ส.สามารถมีอิสระในการลงมติออกเสียงได้

นายนิกร จำนง ให้ข้อเสนอว่า เท่าที่ดูร่างรัฐธรรมนูญแล้วเห็นว่าต้องการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีต แต่จะสร้างปัญหาในอนาคต เช่นในเรื่องระบบการเมืองซึ่งที่ผ่านมาการเลือกตั้งที่มาจากประชาชนขาดความน่าเชื่อถือจึงมีการให้อำนาจรัฐสภาโดยเฉพาะการให้อำนาจส.ว.ซึ่งส่วนหนึ่งมีที่มาจากการสรรหาสามารถดำเนินการลงมติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการหรือมีอำนาจลงมติแต่งตั้งรัฐมนตรีที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุผลที่ว่าเราไม่เชื่อในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง

นายนิกร กล่าวว่า นอกจากนี้ความไม่เชื่อมั่นในการเลือกตั้งที่ผ่านมา กมธ.ยกร่างฯ จึงมีความพยายามลดสัดส่วนของผู้ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนให้มีน้อยลงแต่จะให้มีัดส่วนของการสรรหามากขึ้นเช่นเดียวกับปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองในอดีตกมธ.ยกร่างฯจึงพยายามลดจำนวนพรรคการเมืองลงจึงเชื่อได้เมื่อมีการเลือกตั้งจะไม่มีพรรคเสียงข้างมาก

นอกจากนี้ นายนิกร กล่าวว่า วิธีการเลือกตั้งที่กมธ.ยกร่างฯมีการเสนอไว้หลากหลายรูปแบบนั้น ตนมองว่าเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนไม่เฉพาะประชาชนเท่านั้นที่เกิดความสับสนพรรคการเมืองเองก็ยังมีความสับสน
นางลีนา จังจรรจา ในฐานะหัวหน้าพรรคมหาประชาชนกล่าวถึงข้อเสนอด้วยน้ำเสียงดุดันในข้อไม่เห็นด้วยกับกมธ. ยกร่างรธน.1.ที่มาของส.ว.ที่มามาจากการแต่งตั้งจำนวน 100 คน เนื่องจากเห็นว่าการใช้วิธีนี้มักเลือกแต่งบุคคลที่เป็นพวกพ้องบุคคลที่มีความสามารถมักไม่ถูกเลือก

2.ส.ส.ตอนรับสมัครต้องไม่แสดงบัญชีทรัพย์สิน เพราะต้องใช้เวลาเตรียมเอกสารเป็นเดือน 3.ส .ส.ต้องไม่สังกัดพรรคเพราะส.ส. ในพรรคใหญ่ได้รับเงินอุดหนุนจากพรรคเหมือนเป็นลูกจ้างหัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งเป็นบริษัทแต่การไม่สังกัดพรรคเพื่อเปิดโอกาสให้คนตั้งใจที่ต้องการเข้ามารับใช้ประชาชน

นางลีนา กล่าวอีกว่า การปฏิรูปการเมือง เมื่อร่างรัฐธรรมนูญก็มาฉีกแล้วฉีกอีก ต้องบรรจุในรัฐธรรมนูญว่า"ห้ามทหารปฏิวัติรัฐประหารจะได้ไม่ฉีกรัฐธรรมนูญนายกฯต้องมาจากการเลือกตั้ง และเมื่อนายกฯทุจริตต้องไม่ออกกฏหมายนิรโทษกรรมเพราะนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำประเทศต้องจัดการอย่างเด็ดขาดต้องออกกฏหมายประหารชีวิต" นางลีนา กล่าว

ด้านนายสมศักดิ์ โกศัยสุข หัวหน้าพรรคสังคมประชาธิปไตยไทย เสนอว่าควรให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เป็นผู้กำหนดวิธีการหาเสียงทุกอย่างให้ทุกพรรคการเมืองใช้งบให้การหาเสียงเท่ากัน ไม่ว่าพรรคใหญ่หรือพรรคเล็ก และเสนอให้ยกเลิกวิธีการเดินหาเสียงแบบเคาะประตูบ้านเพื่อป้องกันการทุจริต ทั้งยังเห็นว่าควรใช้วิธีการลงคะแนนแบบ one man one vote เช่นเดียวกับการเลือกตั้งส.ว.ปี 40 เพื่อจะได้บุคคลที่หลากหลายรวมถึงการสรรหาส.ว.ต้องสะท้อนภาคส่วนของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ