'ปราโมทย์'เรียกร้องรัฐตั้งกรรมการข้าว

'ปราโมทย์'เรียกร้องรัฐตั้งกรรมการข้าว

"การแสดงออกของแต่ละคนเหมือนเสียงนกเสียงกา ภาคประชาชนก็อยากมีเวทีที่เสียงของเขาจะได้รับการรับฟัง "

เมื่อเร็วๆนี้ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ และสถานีโทรทัศน์ Now 26 ได้จัดเวทีเสวนา “เวทีพลเมืองปฏิรูป “ ครั้งที่ 11 ขึ้นที่กรุงเทพฯ ในหัวข้อ บทสรุป เวทีพลเมืองปฏิรูป หรือเรียกว่าเป็นการสรุปข้อเสนอต่างๆจาก 10 เวที ระยะเวลา 8 เดือนในการจัดเวทีเสวนา และได้มอบข้อเสนอทั้งหมดนั้นผ่านตัวแทนสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ( สปช.) เพื่อเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกหรือข้อเสนอแนะความคิดเห็น ในการวางแปลนประเทศยุคปฏิรูป


นายปราโมทย์ วานิชชานนท์ ที่ปรึกษากรมการข้าว ผู้ร่วมเวที "ชาวนายั่งยืน ประเทศไทยยั่งยืน" กล่าวย้ำถึงการแก้ไขปัญหาข้าวของไทยด้วยข้อเสนอตั้ง "กรรมการข้าว" ว่า ตนพูดเรืองนี้ตั้งแต่เดือนมิ.ย.ปีก่อน ตอนนี้ยังมาไม่ถึงกรุงเทพฯ ควรตั้งสภาหรือองค์กรของผู้มีส่วนได้เสีย เพราะวันนี้การแสดงออกของแต่ละคนเหมือนเสียงนกเสียงกา ภาคประชาชนก็อยากมีเวทีที่เสียงของเขาจะได้รับการรับฟัง ทั้งนี้ "กรรมการข้าว" ไม่ได้จะก้าวล่วงรัฐบาล หรือต้องการอำนาจ แค่ต้องการบอก


สัญาณจากเวทีฯ ที่นครสวรรค์ วันนี้ยังไม่ถึงกรุงเทพฯ คือ คณะกรรมการที่เราพูดถึง เป็นรัฐาธิปัตย์เป็นรัฐบาล กับระบบราชการทั้งระบบ เช่นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง มาดูแลตรงนี้ แต่ที่ขาดไปมันกลายเป็นว่า อะไรที่ขาดไป ภาคราชการเป็นคนกำหนดอนาคตในการระบายข้าวและชาวนาของประเทศ คำถามว่าผิดไหม ไม่ดีใช่ไหม ผมไม่ได้บอกว่ามันไม่ดี แต่ผมถามว่ามันพอหรือไม่ มันดีที่ภาครัฐเป็นคนนำทาง แต่ทุกวันนี้พบว่าภาคเอกชน เมื่อมาดูกันแล้ว พบว่าการผลักดันการระบายข้าว มันเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำ คือชาวนา แล้วก็ส่งผ่านตัวสินค้าไปสู่พ่อค้า ไม่ว่าจะเป็นโรงสี เป็นต้น


ซึ่งอุตสาหกรรมตรงนี้ มันขับเคลื่อนตัวเองได้ แน่นอน ผลคือมันมีปัญหาตรงเรื่องราคา ที่ผมกล่าวถึงเรื่องแนวคิด เรื่อง กรรมการข้าว ความหมายที่ว่านั้น คือเพื่อย้ำว่ามันไม่ได้หมายความว่า ประชาชนอยากจะมีอำนาจ แต่ภาคประชาชนตระหนักแล้วว่า อนาคตเราสามารถกำหนดได้ แล้วอยู่ในฐานะพูดร่วมกำหนดอนาคตได้ไหม ในการร่วมตัดสินใจกับรัฐบาล


ส่วนในเรื่องปฏิรูปนั้น มีความหวังเพราะตนหวังมา 20 ปี เราหวังว่ารัฐบาลปกติจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ แต่สิ่งที่พบคือการไม่สามารถแก้ไข ออกกฏเกณฑ์อะไรที่เป็นรูปธรรมได้เลย อาจจะเป็นเพราะว่าระยะเวลารัฐบาลสั้นไป แก้ไขก็แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ไม่เคยมีการวางแผนระยะยาว


"เราจึงพบว่า 10 ปีที่ผ่านมา เราใช้เงินภาษีไป 848,000 ล้านบาท แต่เรายังกลับเผชิญความยากจน ความเลื่อมล้ำทางสังคม ในเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน รวมทั้งความไม่เป็นธรรมในสังคม อย่างนี้แล้วถ้าเราย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เราจะผิดอย่างนี้หรือไม่ เพราะเราพบว่ามีแต่การส่งเสริมเรื่องราคา แต่ไม่มีการพัฒนา ถ้าจะบอกว่าส่งเสริมเรื่องราคา แต่ถ้าเสริมด้วยการพัฒนา มันเป็นเรื่องความเข้มแข็งยั่งยืน"


นายปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า ความเข้มแข็งยั่งยืน อยู่ที่การลงทุนด้านการพัฒนา สรุปก็คือในโครงสร้างส่วนนี้ ส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่า ประชาชนมีศักยภาพ แต่ไม่ใช่อยากจะมีอำนาจ มีศักยภาพที่จะเขียนโรดแมฟของข้าว ของประเทศได้ ขณะเดียวกันถ้าส่วนกลาง กรุงเทพฯ ยังคิดว่า อำนาจตรงนี้ปล่อยให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมนนโยบายไม่ได้ ก็ไม่ต้องเสนอ ทำเป็นทางเลือกที่ 2 จัดตั้งกลุ่มหรือว่าสภาของผู้มีส่วน เช่นคนทำนา พ่อค้า หรือภาคประชาชน จะได้เป็นการแสดงออก


"เพราะการแสดงออกของแต่ละกลุ่มๆ มันเหมือนเสียงนกเสียงกา วันนี้จะบอกว่าจะคงกลุ่มก้อนทางการเมืองสีต่างๆไว้ ไม่ว่ากัน ระบบราชการกับรัฐบาลไม่ว่ากัน แต่ว่าประชาชนอยากจะมีเวทีที่เป็นทางการ เพื่อให้ประชาชนได้มีพื้นที่พูดคุย สามารถออกความคิดเห็นได้ ทุกประเด็นทุกมิติ ทุกการปฏิรูป"


เพราะฉะนั้น วันนี้เราเห็นว่าทุกประตู ให้มีเวทีที่เป็นทางการ ตนคิดว่า Rice Board ที่เสนอ ไม่ได้ต้องการที่จะก้าวล่วง แต่เราต้องการสะท้อนความจริงแล้วหาคำตอบ เพราะว่าโจทย์ของประเทศมันมีปัญหาที่วิกฤตที่สุด การใช้เงินภาษีจำนวนมาก เราไม่ได้อะไรนอกจากความร่ำรวยชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็หมดไป


นายเกริกไกร จีระแพทย์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ระบุว่า การปฏิรูปจะไม่มีวันสิ้นสุดต้องดำเนินการไปเรื่อยๆ เรื่องข้าวก็ต้องให้ประชาชนพูดความคิดเห็นของตัวเอง ซึ่งกรรมการเรื่องข้าวที่จะตั้งขึ้นมาต้องมีทุกภาคส่วน ต้องดำเนินการ คือ
1.เรื่องแก้ปัญหาชาวนาที่ยากจน 2.แก้ปัญหาโครงสร้างข้าวของประเทศ จึงต้องให้มีทิศทาง 2 อย่างให้ยั่งยืนแล้วนำวิทยาการเข้าไปช่วย ซึ่งพลเมืองต้องคิดว่าการปฏิรูปไม่ได้เกิดที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) สปช. แต่ต้องเกิดขึ้นที่ตัวเราทุกคน ถ้าทำได้ทันทีพรุ่งนี้ประเทศชาติก็จะดีขึ้น