สปช.หนุนเวทีพลเมืองปฏิรูป แก้เหลื่อมล้ำถือครองที่ดิน

สปช.หนุนเวทีพลเมืองปฏิรูป แก้เหลื่อมล้ำถือครองที่ดิน

สปช.รับข้อเสนอเวที "พลเมืองปฏิรูป" ผลักดันปรับโครงสร้าง"ไรซ์บอร์ด" วางโรดแมพพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวนา

“เกริกไกร”ระบุต้องแก้ปัญหาให้ชาวนายากจน วางยุทธศาสตร์ระบายข้าว แนะแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำถือครองทรัพย์และที่ดิน หนุนรัฐเก็บภาษี"ที่ดิน-มรดก" กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นบริหารจัดการงบประมาณของตนเอง

วานนี้ (6 ก.พ.) หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับ ทีวีดิจิทัล NOW26 จัดงานเวทีพลเมืองปฏิรูป ซึ่งเป็นเวทีสรุปข้อเสนอแนะที่ได้จากการร่วมเสวนา 10 จังหวัดช่วงที่ผ่านมา ประกอบด้วยจังหวัดนครสวรรค์ นครราชสีมา นนทบุรี เชียงใหม่ ขอนแก่น น่าน นครนายก สมุทรสาคร กรุงเทพฯ และสงขลา

ทั้งนี้หัวข้อ“ปฏิรูปชาวนายั่งยืน ประเทศไทยยั่งยืน” นายปราโมทย์ วานิชชานนท์ ที่ปรึกษากรมการข้าว กล่าวว่าการแก้ปัญหาการเพาะปลูกข้าว และการแก้ปัญหาของชาวนาให้ยั่งยืน ต้องปฏิรูปโครงสร้างของคณะกรรมการบริหารนโยบายข้าว หรือไรซ์บอร์ด (RICE BOARD) ที่เป็นคณะกรรมการระดับชาติ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายการบริหารจัดการข้าวของประเทศ

ทั้งนี้มองว่าโครงสร้างของคณะกรรมการปัจจุบัน มีแต่องค์ประกอบที่เป็นราชการและผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคราชการ ไม่มีตัวแทนของชาวนา ซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าว ทำให้นโยบายที่ออกมาไม่ได้ช่วยกำหนดอนาคตที่ดีของชาวนา

ชี้8ปีรัฐใช้เงินแก้ราคาข้าวกว่า8แสนล้าน

นายปราโมทย์ กล่าวว่ารัฐบาลทุกชุดมีการแต่ตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายข้าว แต่การแก้ปัญหาข้าวและปัญหาชาวนา เป็นการให้เงินไปมหาศาล ตั้งแต่ปี2549-2558 เป็นเวลา 8 ปีรัฐบาลได้ใช้เงินจากภาษีประชาชนไปกว่า 8.48 แสนล้านบาท การใช้เงินจำนวนมาก เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะราคาข้าวเท่านั้น ไม่มีการใช้งบประมาณในวางแผนและการพัฒนาการปลูกข้าว หรือทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวของไทยให้ก้าวหน้าขึ้น ควรส่งเสริมการรวมตัวของชาวนาและเกษตรกรในเวทีภาคประชาชนในลักษณะเวทีคู่ขนาน สามารถนำเสนอความคิดเห็นต่างๆให้กับคณะกรรมการนำไปปรับปรุงนโยบาย ให้มีผลในทางปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของการพัฒนาชีวิตของชาวนาระยะยาว ควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและเกษตรกรในการกำหนดโรดแมพในการพัฒนาการปลูกข้าว

"การใช้เงินจำนวนมากอุดหนุน แต่ปัญหายังอยู่ที่เดิมสะท้อนว่า กลไกในการบริหารไม่ดี ทำให้การแก้ปัญหาไม่มองภาพรวม แต่ไปให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาราคาอย่างเดียว การพัฒนาชาวนาจึงไม่เข้มแข็ง"

สปช.หนุนปฏิรูปโครงสร้างบอร์ดข้าว

นายเกริกไกร จีระแพทย์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปภาคเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและการบริการ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอการปฏิรูปโครงสร้างคณะกรรมการข้าวแห่งชาติ ให้มีองค์ประกอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งอุตสาหกรรมข้าวตั้งแต่ผู้ปลูก คือชาวนาถึงผู้ส่งออกข้าวมาอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ จะมีผลดีมากกว่าการผลักดันข้อเสนอแนะและแนวทางปฏิบัติผ่านเวทีคู่ขนาน เรื่องนี้เป็นเรื่องที่สปช.จะเสนอต่อรัฐบาลต่อไปพร้อมข้อเสนออื่นๆในการแก้ปัญหาสินค้าเกษตรที่คณะอนุกรรมาธิการเรื่องสินค้าเกษตรของ สปช.กำลังดำเนินการอยู่

เตือนรัฐอย่ามุ่งแต่แชมป์ส่งออก

ทั้งนี้ต้องกำหนดบทบาทที่ชัดเจนของคณะกรรมการชุดนี้ ต้องมีหน้าที่หลักแก้ปัญหา 2 เรื่อง 1.การแก้ปัญหาชาวนาที่ยากจน และ 2.แก้ปัญหาการระบายข้าวและกำหนดทิศทางตลาดข้าว การกำหนดทิศทางการระบายตลาดข้าวของไทยไม่จำเป็นต้องกำหนดว่า ไทยต้องเป็นแชมป์ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลกในด้านปริมาณ แต่ต้องเอาเรื่องของคุณภาพและราคาข้าวเป็นตัวตั้ง ปัจจุบันไทยส่งออกข้าวปริมาณ 10 ล้านตัน ถ้าส่งออกได้ 7 ล้านตัน แต่ได้มูลค่าส่งออกมากขึ้น หรือเท่าเดิมหากทำได้ เท่ากับยกระดับการผลิตข้าวไปสู่ตลาดคุณภาพได้

“พูดถึงเรื่องระบายข้าว ทุกวันนี้ตั้งเป้าว่าจะต้องส่งออกให้มากจะได้เป็นแชมป์ ถามว่าเป็นแชมป์ส่งออกข้าวแล้วชาวนาเรารวยขึ้นหรือเปล่า ชาวนาเราก็ยากจนเหมือนเดิม สู้ขายในราคาที่สูงขึ้นแต่ปริมาณน้อยลง”นายเกริกไกร กล่าว

จี้ดันก.ม.แก้เหลื่อมล้ำถือครองที่ดิน

นายเพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ สมาชิก สปช.กล่าวว่าการแก้ปัญหาของเกษตรกร ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีฐานะยากจนมากที่สุด ต้องเร่งรัดการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดิน เนื่องจากเกษตรกรกว่า 60-70% ต้องเช่าที่ดินเพื่อทำเกษตรขณะที่ปริมาณคนที่ถือที่ดินเพื่อการเก็งกำไรมีมากขึ้นเรื่อยๆ การไม่มีที่ดินทำกินเท่ากับว่าเกษตรกรไม่มีปัจจัยการผลิตนำมาสู่ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ สร้างปัญหาทางสังคมตามมา

ส่วนปัญหาความเหลื่อมล้ำการถือครองที่ดิน เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างการแก้ไขต้องผลักดันกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องสองกลุ่มคือ กฎหมายที่สนับสนุนการกระจายที่ดิน และกฎหมายในการปกป้องสิทธิ์ การถือครองที่ดินของคนยากจน เพราะปัจจุบันมีกลไกของทุนที่ทำให้คนยากจน หรือเกษตรกรสูญเสียที่ดินทำกินโดยไม่ได้ตั้งใจ การแก้ปัญหานี้ให้ได้ผลต้องอาศัยความร่วมมือจากคนชั้นสูง และคนชั้นกลาง การแก้ปัญหาต้องขับเคลื่อนทั้งสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลง

หนุนรัฐเดินหน้าเก็บภาษีมรดก

นายเอกชัย ศรีวิลาศ รองประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองและรองประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปค่านิยม กล่าวว่าการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจควรให้ความสำคัญกับการสร้างอาชีพของประชาชนมากขึ้น ขณะที่การปฏิรูปความเท่าเทียมมีหลายเรื่องที่ต้องพูดถึง โดยเฉพาะโครงสร้างการถือครองทรัพย์สินปัจจุบันทรัพย์สินส่วนใหญ่ของประเทศ 69% อยู่ในมือคนไม่เกิน 10 ล้านคน การเก็บภาษีจากทรัพย์สินทั้งจากที่ดินและมรดก จึงมีแรงต้านจากคนในสังคมพอสมควร แต่รัฐบาลจำเป็นที่ต้องเดินหน้าเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม แม้จะมีการยกเหตุผลว่าบางประเทศเลิกเก็บภาษีมรดกไปแล้ว แต่การยกเลิกการเก็บภาษีมรดกในต่างประเทศเทียบกับไทยไม่ได้ เพราะสังคมไทยยังเป็นสังคมอุปถัมภ์ที่จะมีการยกทรัพย์สินให้กับผู้น้อยและคนในครอบครัว เป็นการส่งต่อความมั่งคั่งให้กับคนในอีกรุ่นหนึ่ง โดยไม่มีต้นทุนทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น

“ผมเคยเป็นประธานงานแต่งงานครอบครัวของเจ้าบ่าวเจ้าสาว ให้เงินกับลูก 50 ล้านบาท เป็นของขวัญแต่งงาน เป็นการให้เปล่าๆโดยไม่มีต้นทุนอะไร ถามว่าความมั่งคั่งที่พ่อแม่สะสมมา มาจากการใช้ทรัพยากรของประเทศด้วยหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าใช่ ดังนั้นการจัดเก็บภาษีมรดกจึงเป็นเรื่องที่ต้องเดินหน้าด้วยหลักคิดนี้”นายเอกชัย กล่าว

ส่วนความเหลื่อมล้ำในมิติอื่นๆก็ต้องแก้ไข เช่น ด้านการศึกษา ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยบางแห่งในกรุงเทพฯ ที่ได้เงินสนับสนุนปีละ 1.2 หมื่นล้านบาท เท่ากับมหาวิทยาลัย 30 แห่งในต่างจังหวัดรวมกัน ชี้ให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมในการจัดสรรงบประมาณ นำมาซึ่งความแตกต่างด้านคุณภาพทางการศึกษา ทำให้โอกาสในการได้งานทำของนักศึกษาที่จบสถานศึกษาในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด แตกต่างกัน

ย้ำจัดสรรงบตามความเหมาะสม

นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปราชการท้องถิ่น สปช.การปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณของประเทศในระยะต่อไป ต้องทำในลักษณะคู่ขนานกันคือการทำงบประมาณทั้งในเชิงพื้นที่และเชิงภารกิจ การจัดสรรงบ ในเชิงพื้นที่จะช่วยตอบสนองความต้องการและโครงการที่มาจากท้องถิ่น

ทั้งนี้การจัดสรรงบประมาณในท้องถิ่น ต้องปรับเปลี่ยนไม่ใช่ใช้หลักการว่า พื้นที่ไหนจัดเก็บงบประมาณได้น้อยก็จัดสรรงบประมาณได้น้อย แต่ต้องใช้หลักการจัดสรรงบประมาณตามความเหมาะสม เช่น จังหวัดที่มีประชากรมากจะได้รับจัดสรรงบมากแต่ไม่เกิน 25% จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวน้อย ต้องได้รับงบประมาณมาก จังหวัดที่มีคนจนมากต้องได้รับงบมาก ต้องให้อำนาจกับท้องถิ่นในการบริหารจัดการงบ ที่ได้รับตามหลักการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนในแต่ละพื้นที่